เมื่อ ๕๘ ปีที่ก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินให้ “ปราสาทพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕
เมื่อ ๕๘ ปีที่ก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินให้ “ปราสาทพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (องค์ต้นราชสกุล “ชุมพล”) ทรงค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี ๒๔๔๒ แล้วทรงจารึกพระนาม และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า “๑๑๘ สรรพสิทธิ” และ “ปราสาทพระวิหาร” เป็นปราสาทที่ได้ชื่อประทานจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว พระองค์มีรับสั่งว่าปราสาทองค์นี้เหมือนปราสาทที่เทพสร้าง จึงเรียกว่า “ปราสาทเทพพระวิหาร” ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า “ปราสาทพระวิหาร” คนกัมพูชาออกเสียงเป็น “เปรี๊ยะวิเฮียร์” เรียกตามคนไทยมาตลอด
เนื่องจากปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร สมเด็จพระนโรดมสีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๒
การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๓ ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด ๗๓ ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน ๙ ต่อ ๓ เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง ๒ ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ ๑๕๐ ไร่
ค่ำคืนวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังศาลโลกตัดสินให้ ปราสาทพระวิหาร ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา ได้ประมาณ ๒๐ วัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียปราสาทพระวิหาร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ พลโทประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) บอกว่า “...ถ้าเราไปชักธงชาติลง และพับธงเดินกลับมา จะเป็นการเสียเกียรติยศประเทศไทยซึ่งเคยปกครองเขาพระวิหารมาเป็นเวลานาน...”
จึงได้ให้ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน เชิญเสาธงชาติไทยจากเขาพระวิหาร บนยอดผาเป้ยตาดี ยกเสาธงทั้งต้นลงมา โดยไม่มีการลดธงแม้แต่นิดเดียว ซึ่งทำให้กัมพูชาไม่พอใจอย่างมาก เหมือนกับว่าไทยประชดคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งทางเราก็ตอบโต้ว่า “...เป็นสิทธิของเรา...”
และวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ขึ้นทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกในประเทศกัมพูชา