วันนี้เมื่อ ๒๕๓ ปีก่อน “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น และรวบรวมกำลังมาตีพม่า
วันนี้เมื่อ ๒๕๓ ปีก่อน “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น และรวบรวมกำลังมาตีพม่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ขณะนั้นตำแหน่งคือ “พระยาวชิรปราการ” เดินทัพจากเมืองระยองผ่านเมืองแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ เจ้าตากต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า พระเจ้าตากจึงทรงแสดงความสามารถใช้กลวิธีปลุกใจทหารและสร้างแรงบันดาลใจ โดยได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่ ซึ่งได้ผลเพราะทหารเกิดกำลังใจที่จะต้องตีเมืองจันทบุรีให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอาหารกิน พระเจ้าตาก จึงสั่งทหารทุกคนว่า “...เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว...” ในวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๓๑๐ ครั้นถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนเจ้าตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒ เดือน หลังจากนั้น เจ้าตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ เจ้าตากได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ เจ้าตากจึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันเจ้าตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก การตีจันทบุรีจึงสำเร็จ และพระเจ้าตากจึงใช้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการกู้เอกราช การยกทัพของพระเจ้าตากที่ตีฝ่าพม่าออกไปมีเส้นทางเดินทัพผ่านไปตามเมืองต่าง ๆ ถ้าพิจารณาตามสถานที่ของจังหวัดในปัจจุบันก็จะผ่าน อยุธยา > นครนายก > ปราจีนบุรี > ฉะเชิงเทรา > ชลบุรี > ระยอง > จันทบุรี เจ้าตากได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา ๓ เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม ๒๓๑๐ เจ้าตากได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อเจ้าตากยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ใช้เวลา ๗ เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” แต่เอกสารราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า “กรุงพระมหานครศรีอยุธยา” เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๑๑