ควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวหรือทำงาน?
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยที่มีมาตั้งแต่เนื่นนานต้องหยุดชะงักไป แล้วเราชาวไทยจะทำยังไงกันดี รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป?
ได้ข่าวว่ารัฐบาลกำหนดให้หยุดยาว 4-12 กรกฎาคม 2563 รวม 9 วันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดร.โสภณถามตรงๆ เศรษฐกิจจะกระตุ้นได้ด้วยการท่องเที่ยวหรือการทำงานกันแน่
รัฐกำหนดวันหยุดชดเชยสงกรานต์ปี 2563
วันที่ 8-10 ก.ค.63 ทำให้มีการหยุดยาว 9 วันคือ
4 ก.ค.วันเสาร์
5 ก.ค.วันอาทิตย์ (วันอาสาฬหบูชา)
6 ก.ค.วันจันทร์ (ชดเชยวันอาสาฬหบูชา)
7 ก.ค.วันอังคาร (ชดเชยวันเข้าพรรษา)
8-10 ก.ค.วันพุธ-ศุกร์ (ชดเชยวันสงกรานต์)
11 ก.ค. วันเสาร์
12 ก.ค. วันอาทิตย์
รัฐบาลก็เตรียมอัดแพคเกจเที่ยวฟรี 4 ล้านคน แจกเงินให้คนไปเที่ยวในวันหยุดโดยจ่ายชดเชยให้โรงแรมรีสอร์ตแทนผู้ไปเที่ยว ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ความเห็นต่อมาตรการนี้ของรัฐบาลว่า
1. การทำงานต่างหากจึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การท่องเที่ยว
2. การท่องเที่ยวเหมาะสำหรับคนที่พอมีฐานะระดับหนึ่งที่แม้จะไม่ต้องจ่ายค่าที่พักแต่ก็ยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ
3. ประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คงต้องอาศัยการทำงานเลี้ยงชีพมากกว่าการไปเที่ยว
4. มาตรการนี้เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของโรงแรมและผู้มีฐานะพอไปเที่ยว 4 ล้านคนมากกว่าช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
5. คน 4 ล้านคนนี้คงได้แก่พวกข้าราชการที่ไม่เดือดร้อนอะไรจากโควิด-19 แถมมีเวลาและได้เงินฟรีไปเที่ยว หรือภาคเอกชนที่มีฐานะพอสมควรอยู่แล้ว นี่จึงเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่
6. ปกติระบบสถาบันการเงินในประเทศต่างๆ ไม่เหมาะกับการหยุดยาวเกิน 3 วันทำงาน การหยุดถึง 9 วัน จึงเกินความจำเป็น และเป็นอันตรายต่อระบบการเงินของประเทศ
7. เหล่าข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ได้หยุดแบบ work from home ไปมากแล้ว เลิกหยุดสงกรานต์สักปีน่าจะดีกว่า
ดร.โสภณเสนอว่า:
1. ประเทศชาติผ่านความลำบากมามาก สงกรานต์ก็ผ่านไปแล้ว ปีพิเศษนี้จึงควรทำงาน ซ่อมแซมชาติดีกว่าหยุดชดเชย
2. ในยามลำบากเช่นนี้ ควรเลิกหยุดราชการในวันทำงานได้แล้ว ผู้ใดมีจิตศรัทธาจะทำบุญในวันสำคัญใดๆ ก็ควรอนุญาตให้ไปทำแต่เช้าตรู่ แล้วค่อยกลับมาทำงานในวันดังกล่าว
3. สำหรับราชการที่ทำงานบริการประชาชน ควรให้มาทำงานในวันหยุดราชการ (เสาร์อาทิตย์) โดยเกลี่ยคนมาทำงาน และไม่ใช่ให้เบิกค่าล่วงเวลา
4. ควรอัดฉีดเงินสู่ภาคเกษตรกรรมหรือเมืองในภูมิภาคเพื่อช่วยประชาชนทั่วไปมากกว่าการช่วยโดยผ่านมือนายทุน
5. ยิ่งกว่านั้นควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างทำงานสัปดาห์ละ 6 วันเพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง
นี่จึงจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง ประเทศชาติจะเจริญได้ ควรเลิกคิดแบบราชการที่มุ่งจะใช้สิทธิหยุดโน่นนี่เสียที