อภัยเถิดตนเอง
🌸 อภัยเถิด ... ตนเอง 🌸
🌸 ภาพดอกไม้แสนสวยสีม่วง มองคล้ายดอกกล้วยไม้ในภาพ กับข้อความ "การให้อภัย เป็นกลิ่นหอมของดอกไวโอเลต อุทิศแด่ส้นเท้าที่บดขยี้" ของ มาร์ค ทเวน
ดอกไวโอเลต คือดอกไม้ที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน ข้อความในภาพสะกิดใจอยู่หลายวัน เมื่อไม่รู้จักก็ไม่รู้ถึงความหอมของดอกไวโอเลต ไม่รู้ว่าความหอมนั้นหอมแบบไหน เลอค่าแค่ไหน ถึงได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการให้อภัย แต่คงจะหอมมากๆ แน่ๆ เพราะดอกไวโอเลตถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของทั้งไวน์แดง น้ำหอม และเครื่องสำอาง
งุนงงและสับสนมากๆ กับประโยคถัดมา "อุทิศแด่ส้นเท้าที่บดขยี้" ในเมื่อให้อภัยไปแล้ว และการให้อภัยนั้นก็หอมสดชื่นดีถึงกับเปรียบกับความหอมของดอกไวโอเลต แต่ทำไมถึงมีส้นเท้าที่บดขยี้ ผู้เขียนเขาอยากจะสื่ออะไรนะ ฉันพยายามคิดไตร่ตรอง
หรือว่าเพราะให้อภัยไปแล้ว แต่การทำผิดนั้นยังคงมีเกิดขึ้นอีก เสมือนผู้ได้รับการอภัยนั้นได้บดขยี้ส้นเท้าลงมาในการให้อภัยนั้นอย่างไม่สนใจใยดี จนผู้ให้อภัยชอกช้ำไม่ต่างจากดอกไวโอเลตที่แสนหอมถูกบดขยี้อย่างไม่มีชิ้นดี จนหมดค่า หมดความหมาย
การเคียดแค้นชิงชัง ไม่ต่างอะไรกับหนามแหลมที่ฝังอยู่ใต้ฝ่าเท้า ก้าวเดินเมื่อไหร่ก็โดนหนามทิ่มแทงให้เจ็บเมื่อนั้น ฉันคิดแบบนั้น
ผู้ให้อภัยนั้น ... ได้รับความปิติจากการให้อภัยจากใจของตน มีความสุขเปรียบเทียบกับความหอมของดอกไม้อย่างดอกไวโอเลต หากแต่ผู้ได้รับการอภัยนั้นเล่า หาได้สนใจใยดีกับการให้อภัยนั้น ไม่ต่างอะไรกับการขยี้ส้นเท้าลงบนดอกไม้ผู้บอบบาง
🌸 ดอกไวโอเลตและข้อความนี้ ทำให้ฉันได้ทบทวนเรื่องของการให้อภัย เคยคิดกันไหมว่าในช่วงชีวิตนี้เราได้เคยอภัยให้ใครไปแล้วบ้าง แล้วผลของการอภัยนั้นเป็นยังไง
คำว่า "อภัย" สั้นก็จริง แต่บางคนใช้ทั้งชีวิตก็หาไม่เจอ
ส่วนฉันนั้นค้นพบว่าการให้อภัยคนอื่นนั้นง่ายกว่าการให้อภัยตนเอง ... อภัยใครต่อใครได้ ทำไมไม่ให้อภัยตนเอง
การไม่ให้อภัยตนเองทำให้เก็บเอาเรื่องราวที่เจ็บปวดมาย้อนคิดอยู่เสมอ และกล่าวโทษตัวเองอยู่ร่ำไป ใจที่กล่าวโทษตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทำให้กายพลอยทุกข์และเจ็บป่วยไปด้วย กว่าจะรู้ว่า "ไม่ว่าทุกข์หรือสุข พ้นจากวันนี้ไป ก็คืออดีตทั้งสิ้น" ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้นานทีเดียว
ฉันได้ค้นพบและเริ่มอภัยตัวเองมานานแล้ว กับเรื่องใหญ่ในชีวิต คือเรื่องครอบครัว เรื่องการแสดงกิริยาและคำพูดไม่ดีกับพ่อผู้ให้กำเนิด เหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ผลของการไม่ให้อภัยตัวเอง ทำให้ต้องร้องไห้ คิดมาก ทุกครั้งที่นึกถึงมาอีกนานนับสิบๆ ปี
... การให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการให้อภัยตนเอง ...
การออกมาจากบ้านที่เติบโตมาเผชิญโลกเอง และไม่อยากย้อนกลับไปอีก ทำตัวแบบคนไร้ญาติขาดมิตร แต่เมื่ออภัยให้ตัวเองได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรวยแล้วค่อยกลับไปแบบที่คิดตอนอายุน้อยกว่านี้
ทำให้มีภาพญาติพี่น้องอย่างที่เห็นในวันนี้ มีความสุขยิ้มได้ มีน้องแกะกุ้งแกะปูให้กิน คอยห่วงใยถามไถ่ มีพี่ซื้อของมาฝาก และพยายามจำว่าน้องชอบกินอะไร มีน้าสาวที่คอยจัดงานวันเกิดเพื่อรวมญาติๆ ให้มาหากันให้มากขึ้นกว่าที่ไปทำบุญปีละครั้ง
ผลของการให้อภัยตนเองของฉันหวานชื่นนัก ทุกวันนี้ฉันจึงมีชีวิตแบบไร้ทุกข์ เมื่อมีทุกข์ใหม่มากระทบก็แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง มองให้เห็นว่าสิ่งที่แย่สุดของปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร รับได้ไหม แล้วเราจะผ่านไปได้เอง พร้อมกับอภัยให้กับคนที่มาสร้างปัญหานั้นให้เราได้ด้วย ... ใจที่เบาสบาย คือใจที่ปล่อยวาง
ในศาสนาคริสต์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ยากที่สุด คือ การให้อภัย การยกโทษให้คนที่ทำผิด ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษากรีกที่แปลว่า “การให้อภัย” มีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยไป” เหมือนกับที่เจ้าหนี้ยอมยกหนี้ให้คนที่เป็นหนี้เขา
พระเยซูใช้การเปรียบเทียบแบบนี้ตอนที่ท่านสอนสาวกให้อธิษฐานว่า “ขอทรงอภัยบาปของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพราะข้าพเจ้าก็ให้อภัยทุกคนที่เป็นหนี้ความผิดต่อข้าพเจ้าเช่นกัน” (ลูกา 11:4) ตอนที่พระเยซูเล่าตัวอย่างเรื่องทาสที่ไม่ยอมยกหนี้ ท่านเปรียบการให้อภัยว่าเป็นเหมือนกับการยกหนี้—มัดธาย 18:23-35
เราให้อภัยคนอื่นเมื่อเราไม่ถือโทษและไม่เรียกร้องให้เขามาขอโทษหรือชดใช้ คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวเป็นหัวใจสำคัญของการให้อภัยอย่างแท้จริง เพราะความรัก “ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ”—1 โครินท์ 13:4, 5
การให้อภัยนั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่อาจทำได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินคำว่า "ปล่อยไป"
ส่วนการให้อภัยในศาสนาพุทธ เรียกว่า "อภัยทาน"
เป็น 1 ใน 3 ของทานบารมีที่ควรสร้าง ควบคู่กับการให้อามิสทาน (สิ่งของ) และธรรมทาน (ความรู้หรือธรรมะ) หรือแปลว่า “การให้ความไม่มีภัย” การให้ความไม่เบียดเบียนอันได้แก่ ศีลกับพรหมวิหาร 4 นั่นเอง
การยกโทษทำให้ความโกรธหายไป ความโกรธนั้นความจริงสามารถหายได้เอง ตามกระบวนการของการเกิด-ดับ แต่ความโกรธที่หายด้วยอภัยทาน คือการยกโทษให้ การให้อภัยกัน เป็นการบริหารจิตโดยตรง เป็นการยกระดับของจิตใจให้สูงขึ้นด้วย
การให้อภัยต่อกัน มีผลทำให้คนโกรธเข้าใจโลกมากขึ้น เช่น เข้าใจว่าพฤติกรรมของเขามาจากปมในอดีต ปมที่มาจากครอบครัว เพราะเมื่อมีผลก็ต้องมีต้นเหตุ เมื่อเราเข้าใจการให้อภัยจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แสดงให้เห็นว่าจิตเดิมแท้ของเรามีจิตเมตตาแฝงอยู่ เมื่อหัดทำให้จิตเกิดการให้อภัยมากเข้า เราจะเป็นคนที่ไม่โกรธง่าย และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า หากยังผูกพยาบาท โกรธเคืองกันต่อไป ในภพหน้าก็จะต้องมาเจอกันแล้วเจอเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป
🌸 ดอกไวโอเลตกับการให้อภัย คือสิ่งที่มาตอกย้ำความจริงที่ควรปฏิบัติทั้งในฐานะพุทธศาสนิกชน และในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนนึง
การให้อภัยนั้นไม่ง่าย แต่ผลลัพธ์ของมันหวานชื่นเสมอ
เมื่อให้อภัยไปแล้วได้รับความหอมของดอกไวโอเลตแล้ว ใครจะเอาส้นเท้ามาขยี้ยังไง นั่นคงไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว ให้เป็นปัญหาของคนทำที่ต้องไปล้างส้นเท้าเอาเองก็แล้วกัน
🌸 ฉันเองก็เคยทุกข์ทรมานและติดกับ กับคำถามว่า "ทำไม" อยากได้ตำตอบเหมือนคนอื่นทั่วๆ ไป ทำไมพ่อไม่เลี้ยงลูกเอง ทำไมไม่เห็นมีใครรักเราเลย
เมื่อวันนึงหยุดตั้งคำถาม หยุดถามว่าทำไม และเลือกปล่อยไป เลือกหยุดหาคำตอบ ใจก็เบาสบายขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
จะตั้งคำถามว่าทำไมเพื่ออะไร คำตอบที่ได้รับอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ไม่อยากรู้คำตอบก็ไม่ต้องถามคำถาม คำว่าทำไมก็จะไม่มี ... เมื่อไม่รู้ก็ไม่ทุกข์ จึงไม่ควรถามว่า "ทำไม"
🌸 สมองมีพื้นที่มากก็จริง แต่ควรเลือกจำหรือคิดแต่เรื่องที่ทำให้เรามีความสุขดีกว่า ปล่อยความทุกข์ไป ก็มีพื้นที่ให้เก็บความสุขเพิ่มมากขึ้น ฉันคิดแบบนั้น
หัดให้อภัยกับเรื่องๆ เล็กๆ น้อยๆ ก่อน แล้วเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างการให้อภัยตัวเองจะเกิดขึ้นได้เอง
"อักษราลัย"
15 February 2020