เพลงลูกทุ่ง(เก่า)
คำว่า "ลูกทุ่ง" ปรากฏครั้งแรกเป็นชื่อของภาพยนตร์เพลง สร้างโดยบริษัทภาพยนตร์ไทย หรือไทยฟิล์ม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผู้กำกับ ผู้แต่งทำนองเพลงคือ หม่อมหลวง พวงร้อย อภัยวงศ์ ผู้แต่งเนื้อร้องคือ พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น) เพลงในภาพยนตร์ ได้แก่ เงาไม้ ต้อนกระบือ เกี้ยวสาว สายัณห์ และไม้งาม เนื้อร้องส่วนใหญ่เน้นการชมธรรมชาติอันสวยงามของท้องไร่ปลายนา
เพลงที่มีแนวเป็นเพลงลูกทุ่ง และบันทึกไว้เป็นหลักฐานคือ เพลง สาวชาวไร่ ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของ ครูเหม เวชกร ใช้ร้องประกอบการแสดงละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จากหลักฐานที่ค้นพบมีเค้าที่น่าเชื่อว่า เพลงสาวชาวไร่ เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของเมืองไทย
การตีความเรื่องกำเนิดของเพลงลูกทุ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง กาญจนาคพันธ์ เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องของละครและเพลง ว่า "หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว มหรสพต่างๆ ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น…เกิดเพลงแบบใหม่เรียกกันว่า เพลงลูกทุ่ง ตั้งเป็นวงดนตรีแบบสากล" ส่วน พยงค์ มุกดา เห็นว่า เรื่อง แผลเก่า ของไม้เมืองเดิม มีเพลงขวัญของเรียม ซึ่งพรานบูรพ์แต่งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๒ น่าจะถือเป็นแม่บทของเพลงลูกทุ่งได้ เพราะมีลูกเอื้อน ลูกขัด และสาระเนื้อหาแบบเพลงลูกทุ่ง
ราว พ.ศ. ๒๔๙๘ ป.วรานนท์ นักจัดรายการวิทยุ ได้เรียกนักร้องประเภทเพลงชีวิต เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ สมยศ ทัศนพันธ์ พยงค์ มุกดา สุรพล สมบัติเจริญ ว่าเป็น "นักร้องตลาด" เป็นเพลงตลาด เนื่องจากเข้าถึงผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านทั่วไปได้ง่าย เนื้อหาเพลงมีความชัดเจน ส่วนอีกแนวหนึ่ง เรียกว่า "เพลงผู้ดี" ซึ่งหมายถึง เพลงที่มีการแต่งอย่างไพเราะเพราะพริ้ง นักร้องแนวนี้ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธุ์ เพลงไทยสากลจึงถูกแบ่งประเภทออกเป็น เพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง แต่จะใช้หลักเกณฑ์ใดในการตัดสินนั้น มีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเมือง และชนบท เพลงลูกกรุงจึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีการศึกษาของสังคมเมือง ส่วนเพลงลูกทุ่งมุ่งรับใช้ชาวชนบทเป็นส่วนมาก
เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีการใช้ภาษาง่าย ๆตรงไปตรงมา บรรยายเรื่องราวของชีวิต สะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นชีวิตของชาวชนบทเป็นส่วนใหญ่
เพลงลูกทุ่งในอดีตดูเหมือนกับมีมนต์เสน่ห์ ฟังซ้ำ ๆก็ไม่รู้สึกเบื่อ แม้กาลเวลาล่วงมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตามคำร้องยังคงร่วมสมัยและใช้ได้กับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน