โศกนาฏกรรม ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 9.00 น. ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียขององค์การนาซา ต้องพบกับอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างไม่คาดคิด ด้วยการระเบิดเป็นลูกไฟพวยพุ่งเหนือท้องฟ้าของสหรัฐฯ ขณะกำลังเดินทางกลับสู่พื้นโลก อุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตนักบิน 7 คน ซึ่งมีนักบินชาวอิสราเอลหนึ่งคนรวมอยู่ด้วย
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียระเบิดเมื่อเวลา 16 นาทีก่อนที่จะได้ร่อนลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคเนดีในฟลอริดาตามกำหนดการ โคลัมเบียเพิ่งจะกลับจากการปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 16 วัน ซึ่งมีเป้าหมายในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายสิบรายการ
นักบินอวกาศบนยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียประกอบด้วย ผู้บังคับการริค ฮัสแบนด์ นักบินนำร่องวิลเลียม แม็คคูล ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ เดฟ บราวน์ คาลพานา ชอว์ลา ลอเรล คลาร์ค ผู้บังคับการสัมภาระ ไมค์ แอนเดอร์สัน และผู้เชี่ยวชาญสัมภาระ อิลาน รามอน ชาวอิสราเอล อุบัติเหตุในครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียนักบินอวกาศระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกนับจากการระเบิดของยานขนส่งอวกาศชาลเลนเจอร์ในปี 2529
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียทะยานขึ้นจากฐานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546
ก่อนที่สัญญาณสื่อสารระหว่างยานขนส่งอวกาศกับสถานีควบคุมภาคพื้นดินจะตัดขาดจากกันนั้น นักบินในยานและศูนย์ควบคุมได้รับสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติในปีกซ้ายของยาน
ขณะนั้นยานขนส่งอวกาศอยู่สูง 207,135 ฟิตจากพื้นดิน และกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 12,500 ไมล์ต่อชั่วโมง หน่วยสื่อสารของศูนย์ควบคุมพยายามติดต่อกับนักบินเกี่ยวกับสัญญาณเตือนดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่าสัญญาณจากนักบินเริ่มขาดหายไปในเวลานี้ เจ้าหน้าที่ของนาซาระบุว่า อุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิในระบบไฮดรอลิกหยุดทำงานเมื่อเวลา 8.53 น. โดยที่อุณหภูมิในเกียร์ลงจอดเริ่มสูงขึ้น เวลา 8.58 น.
อุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิในปีกซ้ายซึ่งฝังอยู่ในโครงสร้างของยานหยุดทำงานอย่างฉับพลัน จากนั้นเวลา 8.59 น. อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและแรงดันในยางทั้งสองของเกียร์ลงจอดหลักก็หยุดทำงานเช่นกัน ตลอดช่วงเวลานี้ยานขนส่งอวกาศเคลื่อนผ่านบรรยากาศชั้นบนด้วยความเร็ว 18 เท่าของความเร็วเสียง ขณะที่มีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความผิดปกติเหล่านี้ในห้องนักบินด้วย
นักบินอวกาศทั้งเจ็ดของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
สาเหตุของการระเบิด
ไม่ว่าสาเหตุในการระเบิดของยานโคลัมเบียจะเป็นอะไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นคือ อุณภูมิด้านซ้ายของยานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยานสูญเสียสมดุลในระบบแอโรไดนามิก จนระบบการบินอัตโนมัติสั่งให้มีการจุดจรวดเพื่อปรับวิถีของยาน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมได้จนนำไปสู่การระเบิดในที่สุด นับถึงบัดนี้ สาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับยานโคลัมเบียยังคงเป็นปริศนา และอยู่ในระหว่างการสืบสวนและวิเคราะห์ของนาซา ภาพวิดีโอในการส่งยานเมื่อวันที่ 16 มกราคม เมื่อเวลา 81 วินาที
หลังจากขึ้นจากฐานส่ง มีชิ้นส่วนของโฟมที่เป็นฉนวนหุ้มถังเชื้อเพลิงภายนอกได้หลุดออกมาปะทะกับกระเบื้องกันความร้อนที่อยู่ทางด้านล่างของปีกซ้ายของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย แต่เหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับโคลัมเบียก็ได้ เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้กับยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ซึ่งไม่ได้เกิดความผิดปกติใดๆ ซึ่งต่อมาวิศวกรของนาซาออกมาให้ความเห็นสนับสนุนว่า
จากการวิเคราะห์น้ำหนักของโฟม ความเร็ว และมุมชนที่ดูจากภาพเคลื่อนไหวแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่าภาพถ่ายความละเอียดสูงจากฐานทัพอากาศที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ที่ถ่ายภาพยานขณะผ่านเหนือน่านฟ้า ซึ่งเป็นเวลา 60 วินาทีก่อนหน้าที่ยานโคลัมเบียจะระเบิดแสดงว่าปีกซ้ายได้รับความเสียหายอย่างมาก
นอกเหนือจากสาเหตุหลักที่ได้รับความสนใจมากที่สุดดังกล่าวแล้ว สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ ยานโคลัมเบียเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศในมุมที่ผิดปกติ ทำให้ยานมีความร้อนสูงเกินขีดจำกัด นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่ายานอาจเสียหายจากการชนของสะเก็ดดาวหรือขยะอวกาศ โดยที่นาซากำลังติดตามเก็บเศษซากของยานที่ตกลงในสหรัฐฯ และหวังว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะนำมาสู่หลักฐานที่ชี้ไปถึงสาเหตุของการระเบิดที่แท้จริงได้
ภาพจากวิดีโอเมื่อวันที่ 16 มกราคม แสดงว่าโฟมหุ้มถังเชื้อเพลิงภายนอกหลุดมากระแทกกับปีกซ้ายของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
เหตุใดจึงต้องส่งมนุษย์ไปในอวกาศ?
สามวันหลังจากหายนะของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียและความตายของนักบินอวกาศทั้งเจ็ด นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมืองกำลังตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น? ทำไมไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น? เราสามารถป้องกันได้หรือไม่? ขณะที่ประชาชนบางส่วนอาจตั้งคำถามอีกแบบหนึ่งว่า พวกเขาขึ้นไปทำอะไรในอวกาศ? อเมริกาใช้งบประมาณมหาศาลในการส่งนักบินอวกาศไปยังที่ๆ ไม่คุ้นเคยและเสี่ยงต่ออันตราย
นักวิทยาศาสต์อธิบายว่าพวกเขาออกไปเพื่อขยายองค์ความรู้ของพวกเรา ขณะที่นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า ในยุคที่มีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกจำนวนมาก และเราสามารถส่งหุ่นยนต์ไปยังดาวอังคารได้แล้ว เหตุใดจึงต้องนำมนุษย์ออกไปเสี่ยงในอวกาศอีก อย่างไรก็ดี มีชาวอเมริกันเพียงส่วนน้อยที่ตั้งคำถามนี้ เพราะผลการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับยานโคลัมเบียพบว่า ร้อยละ 82 เห็นด้วยที่อเมริกาควรจะส่งมนุษย์ออกไปในอวกาศ ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจหลังจากการระเบิดของยานชาลเลนเจอร์เมื่อปี พ.ศ. 2529
ความจริงก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การสำรวจและการผจญภัยไปยังที่ๆ เราไม่เคยพบเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เราทำเสมอมา นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ใช้ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ เพื่อแสดงศักยภาพและความยิ่งใหญ่ทางการเมือง รวมทั้งนโยบายระหว่างประเทศ นีล อาร์มสตรองและเอ็ดวิน อัลดรินบนยานอะพอลโล 11 ไม่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เพื่อแสดงถึงชัยชนะในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียเป็นยานขนส่งอวกาศที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของนาซาการก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จากนั้นโคลัมเบียกลายเป็นยานขนส่งอวกาศลำแรกที่ขึ้นปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2524 มีนักบินสองคน คือ จอห์น ยัง และโรเบิร์ต คริปเพน เป็นการเปิดศักราชใหม่ในการสำรวจอวกาศ
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียเป็นอวกาศยานลำแรกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในเที่ยวบินที่สอง พฤศจิกายน 2524 นักบินนำอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นไปเป็นครั้งแรก และมีการทดสอบการใช้แขนหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ยานโคลัมเบียขึ้นบิน 27 เที่ยวบิน ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งหมด นอกเหนือจากโคลัมเบียแล้ว นาซามียานขนส่งอวกาศอีก 4 ลำ คือ ชาลเลนเจอร์ ดิสคัฟเวอรี แอตแลนติส และเอนดีฟเวอร์ปี พ.ศ. 2539 โคลัมเบียได้รับการบันทึกว่าเป็นยานขนส่งอวกาศที่ปฏิบัติงานในวงโคจรเป็นเวลานานที่สุดถึง 35 วัน
นักบินอวกาศที่เสียชีวิตในประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ
- 27 มกราคม 2510 เวอร์จิล กริสซอม เอ็ดเวิร์ด ไวท์ และโรเจอร์ แชฟฟี เสียชีวิตเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้ในยานบังคับการของอะพอลโล 1 ขณะทำการทดสอบที่ศูนย์อวกาศเคเนดี
•24 เมษายน 2510 วลาดิเมียร์ โคมารอฟ นักบินรัสเซียเสียชีวิตในยานโซยุส 1 ขณะกลับสู่โลก
•30 มิถุนายน 2514 กอร์กี โดโบรโวลสกี วลาดิสลาฟ วอลคอฟ และวิกเตอร์ แพตซาเยฟ เสียชีวิตขณะยานโซยุส 11 เข้าสู่บรรยากาศโลก เนื่องจากวาล์วปรับความดันในยานทำงานผิดพลาด
•28 มกราคม 2529 ยานขนส่งอวกาศชาลเลนเจอร์ระเบิดหลังจากขึ้นจากฐาน 73 วินาที นักบินเจ็ดคนเสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ คริสตา แม็คคอลิฟฟ์ ครูคนแรกในอวกาศ นักบินอีก 6 คน ได้แก่ ฟรานซิส สโคบี ไมเคิล สมิท เอลิสัน โอนิซุกะ จูดิท เรสนิก โรแนลด์ แม็คแนร์ และเกรกอรี จาร์วิส