ทาสกับสงครามสู่อิสรภาพ
ประธานาธิบดีอับลาฮัม ลินคอล์น
"การค้ามนุษย์นั้นเห็นได้ชัดว่ายังไม่หมดไปจากโลก...แม้ไม่มีเรือจอดทอดสมอหน้าป้อมกักกัน แต่ก็ยังมีผู้คนถูกบังคับเข้าสู่ความเป็นทาสไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งอยู่ตลอดเวลา" โดโฮ-กวีชาวกานา
โลกในยุคปัจจุบัน สิทธิความเป็นมนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน แต่การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งแรงงานเด็ก สตรี และคนผิวสีที่ตกเป็นพลเมืองชั้นสองยังมีอยู่ทุกชั่วเวลา คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนขอนำพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปดูประวัติศาสตร์ของการเป็นทาสและสงครามปลดปล่อยทาสที่ควรจดจำ
ทาสที่แผ่นหลังเต็มไปด้วยรอยเฆี่ยนตี
ในอดีต การสร้างบ้านเมืองอันโอฬารล้วนมาจากแรงงานทาสทั้งสิ้น หลังการเดินเรือล่องมหาสมุทรของโปรตุเกส แอฟริกาคือดินแดนแห่งการค้าขาย นอกจากเข้าไปเพื่อกอบโกยทรัพยากรต่างๆแล้ว ชนชาวตะวันตกยังนำคนพื้นเมืองใส่เรือมาเพื่อนำมาใช้แรงงานในทวีปยุโรปและอเมริกา
ที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ.1660 มีบริษัทค้าทาสจดทะเบียนที่ถูกกฎหมาย ชื่อ เดอะ รอยัล แอฟริกัน คอมปานี ก่อตั้งขึ้นโดย ดยุคแห่งยอร์ค (ภายหลังก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ในนาม พระเจ้าเจมส์ที่ 2) พระองค์จับมือพ่อค้าผูกขาดการค้ามนุษย์ด้วยกฎหมาย สั่งการควบคุมโดยกองทัพเรือที่เกรียงไกรของอังกฤษ จัดตั้งสถานีย่อยตลอดแนวชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกควบคู่ไปกับสถานีการค้าขาย
(จากซ้าย) พลตรีวิลเลียม เชอร์แมน, พลเอกยูลิซิส แกรนท์, อับลาฮัม ลินคอล์น, พลเรือเอกเดวิด พอร์เตอร์
ที่เซเนกัล มีเกาะแห่งหนึ่งที่ชื่อกอรี่ มีขนาด 900×300 เมตรเท่านั้น ใครจะรู้ว่าที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “บ้านทาส” (Slave House) หลังแรกของโลก จัดสร้างโดยชาวเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1776 บ้านแต่ละหลังที่สร้างคือสถานที่กักกันชนผิวดำเพื่อรอการลงเรือข้ามมหาสมุทรไปเป็นแรงงานทั้งในยุโรปและอเมริกา มีทาสถูกส่งผ่านเส้นทางสายนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หรือบางทีอาจจะถึง 50 ล้านคน
ที่สหรัฐอเมริกา ในยุคแห่งการสร้างชาติ มีการค้าขายทาสอย่างเอิกเกริก แม้ว่าเมื่อแรกมีรัฐธรรมนูญนั้น ในบทเฉพาะกาลระบุไว้ชัดว่า จะต้องยกเลิกการมีทาสภายในเวลา 21 ปี ทว่าเมื่อถึงเวลานั้นรัฐทางใต้ที่เน้นการปศุสัตว์และกสิกรรมกลับเห็นว่าพวกเขาจะต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ความเห็นนี้แย้งกับเมืองที่อยู่ทางเหนือขึ้นไป ที่พัฒนาไปในทางอุตสาหกรรม การประนีประนอมมีขึ้นในปี 1820 โดยตกลงกันว่า จะยอมให้มีทาสได้ในแผ่นดินที่อยู่ทางใต้เส้นแม่น้ำมิสซูรี่ แต่กลุ่มหัวรุนแรงพวกทางเหนือไม่เห็นด้วย จึงตั้ง องค์การ Abolitionst ขึ้น และทำทุกวิถีทางเพื่อปลดปล่อยทาสตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งประเทศ อย่างที่ จอร์จ วอชิงตัน กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน” พวกเขาแอบพาทาสหนี โจมตีเหล่าเจ้านาย ซึ่งทำให้คนทางใต้ไม่พอใจอย่างมาก
สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ
ปี ค.ศ. 1860 เกิดพรรคการเมืองใหม่ชื่อรีพับลิกัน พวกเขาส่งผู้สมัครวัย 52 ปี จากอิลลินอยส์ ชื่อ อับลาฮัม ลินคอล์น ลงสมัคร เขาเป็นที่จดจำมากก่อนหน้านี้แล้วจากการชูนโยบายจำกัดพื้นที่การมีทาส ในการรณรงค์หาเสียง รีพับลิกันชูเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเรื่องทาสนั้นค้างคาในสังคมอเมริกามานานหลายสิบปี ลินคอล์นนั้นได้ชื่อว่ามีวาทศิลป์ที่เปี่ยมพลังและมีเสน่ห์ ทั้งคู่แข่งก็เกิดปัญหาภายใน ส่งผู้สมัครสองคนในนามพรรคเดโมแครต ลินคอล์นจึงชนะได้อย่างไม่ยากเย็น
หลังการเลือกตั้งที่ลินคอล์นได้ชัยชนะ 7 รัฐทางใต้ไม่พอใจจึงแยกตัวออกมาจัดตั้งประเทศใหม่ ในนาม สมาพันธรัฐอเมริกา แต่งตั้งอดีตรัฐมนตรีสงครามมากความสามารถอย่าง เจฟเฟอสัน เดวิส ขึ้นเป็นประธานาธิบดี จัดตั้งเมืองหลวงที่ริชมอนด์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของรัฐบาลกลางเพียงแค่แม่น้ำโปโตแมกกั้นเท่านั้น
แล้วสงครามที่แม้กระทั่งตัวลินคอล์นเองคิดว่าไม่น่าจะยาวนานถึง 4 ปีก็เริ่มต้นขึ้น กองทัพฝ่ายใต้เข้าโจมตีป้อมซัมเตอร์ที่แคโรไลนาในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1861 ลินคอล์นเรียกระดมคน 75,000 คน ตอบโต้ทันที ประชาชนทางเหนือโกรธแค้นการกระทำในครั้งนี้มาก สนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่กันอย่างพร้อมเพรียง สี่รัฐทางใต้ไม่พอใจจึงประกาศแยกตัวไปเข้าร่วมกับทางฝ่ายใต้ และการเข้าร่วมของสี่รัฐในภายหลังนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ เพราะ นายพลโรเบิร์ต อี. ลี บุคคลที่ถูกทาบทามจากลินคอล์นให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพ เขาเป็นชาวเวอร์จิเนีย นอนคิดเพียงข้ามคืนก็ปฏิเสธข้อเสนอ และกลับไปรับใช้บ้านเกิดในฐานะผู้บัญชาการกองทัพเช่นกัน
ทหารฝ่ายเหนือ และทหารฝ่ายใต้
เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันกำชัยและปราชัย ฝ่ายเหนือได้ปิดล้อมทางทะเลเพื่อกดดัน สงครามครั้งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้ที่โลกเคยมีมา สิ่งประดิษฐ์แห่งโลกหลังยุคอุตสาหกรรมถูกเรียกใช้ การสื่อสารด้วยโทรเลขที่รวดเร็วกว่าขี่ม้าส่งสาร เรือกลที่พิษสงร้ายกาจกว่าเรือใบโบราณ รถไฟถูกนำมาส่งเสบียงและลำเลียงกำลังพลที่มีมากกว่าฝ่ายใต้ถึงสองเท่า ความรวดเร็วเหล่านี้ทำให้การศึกของฝ่ายเหนือเป็นต่อ หากผู้บัญชาการทัพของฝ่ายใต้ไม่ใช่นายพลโรเบิร์ต อี. ลี สงครามน่าจะจบสิ้นไปแล้ว
หลังเข้ายึดเมืองนิวออร์ลีนส์และควบคุมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ได้ในปี ค.ศ.1862 ลินคอล์นทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ เขาลงนามในประกาศให้มีการเลิกทาสทั่วประเทศรวมทั้งในเขตฝ่ายใต้ด้วย เขาแถลงต่อสมาชิกรัฐสภาที่มีใจความจับใจตอนหนึ่ง
“...การให้อิสรภาพแก่ผู้เป็นทาส คือการรักษาอิสรภาพแก่ผู้เป็นไท เรามีเกียรติในการให้เท่ากับที่เป็นผู้รักษา”
กองทหารฝ่ายใต้
มิถุนายน ค.ศ.1863 การสู้รบครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น ฝ่ายใต้คิดว่าการตะลุยขึ้นเหนือเพื่อขยี้เมืองหลวงฝ่ายเหนือน่าจะทำให้เกมจบ ทว่าที่เมือง เก็ตตี้สเบิร์ก ฝ่ายใต้บุกเข้าตีทัพฝ่ายเหนือที่มีกำลังน้อยนิดซึ่งร่นไปตั้งแนวรับบนเนินเขา โดยไม่รู้ว่าไม่ไกลจากที่นั่นมีฝ่ายเหนือรออยู่เกือบแสนคน ด้วยชัยภูมิที่ดี ทัพเหนือยันไว้ได้ แม้จะถูกตีโอบจากด้านข้าง นายพลลีสั่งระดมยิงปืนใหญ่และใช้ทหารนับหมื่นเรียงหน้า กระดานเข้าหา แต่ในการรบวันที่สามพวกเขาก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สิ้นสุดในสมรภูมิที่มีทหารสองฝ่ายตายเกือบครึ่งแสน
แพ้ในสมรภูมิใช่ว่าแพ้ในสงคราม นายพลลีแม่ทัพฝ่ายใต้เชื่อเช่นนั้น เขาจึงประคองการต่อสู้ไปได้อีกเกือบสองปี จนกระทั่ง วิลเลียม เชอร์แมน นายพลมากฝีมือของรัฐบาลฝ่ายเหนือ ได้นำยุทธวิธีการรบโบราณมาใช้ คือเข้าตีเมืองไหนเผาและปล้นเมืองนั้น ตลอดการเคลื่อนพลเพื่อมุ่งสู่ฝั่งแอตแลนติกยาวไกลหลายร้อยไมล์ ด้านหลังที่เชอร์แมนทิ้งไว้มีเพียงสิ่งเดียวคือความหายนะ
การปะทะระยะประชิดของทหารสองฝ่าย
แล้วจุดสิ้นสุดอย่างแท้จริงก็มาถึง พลเอก ยูลิซิส แกรนท์ ผู้บัญชาการทหารรัฐบาลกลาง ล้อมเมืองหลวงฝ่ายใต้นานหลายเดือนก่อนจะเข้ายึดได้ ทหารฝ่ายใต้พากันหนีทัพอย่างทุลักทุเล นายพลลีแม่ทัพหนีไปไม่ไกลก็ยอมจำนน ต้นเดือนเมษายน ค.ศ.1865 ทหารของรัฐบาลกลางก็มีชัยชนะอย่างสมบูรณ์
อดีตประธานาธิบดีผู้หยิบยื่นอิสรภาพแก่เหล่าทาสท่านมีชีวประวัติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนกล่าวถึงท่านมิได้ขาดปาก เร็วๆนี้ก็มี DVD ภาพยนตร์เรื่อง LINCOLN ที่ว่าด้วยช่วงท้ายชีวิตของท่าน เปิดเผยช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยอันตราย ขณะที่สงครามกลาง เมืองใกล้ยุติ ประธานาธิบดีลินคอล์นเผชิญแรงกดดันในการผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ที่จะระบุว่าการมีทาสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ลินคอล์นมองยาวไกลไปถึงเพื่อนร่วมชาติที่เป็นทาสราว 4 ล้านคน และอเมริกันชนรุ่นถัดไป จึงต้องออกกฎหมายเพื่อเลิกทาสอย่างถาวร ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเกียรติจากอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน มากล่าวนำเกร็ดภาพยนตร์บนเวทีลูกโลกทองคำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นตัวตนของชายที่ชื่อลินคอล์นได้เป็นอย่างดี.