จากอั้งยี่ถึงเลียะพะ จากโค่นชิงกู้หมิง ถึงเยาวราช
คนไทยรู้จักกับพวกอั้งยี่ หรือสมาคมลับอั้งยี่มานานนม ในจดหมายเหตุของไทยก่อนรัชกาลที่ห้า เรียกพวกนี้ว่า “ตั้วเฮีย” ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า อั้งยี่ 红字 ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็หมายถึง ตัวหนังสือสีแดง ในอดีต อั้งยี่ในไทยมักก่อเหตุให้ต้องมีการปราบปรามกันอยู่เนืองๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยใหม่หมาด ยังถึงกับทรงต้องไต่ถามเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอั้งยี่จากผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่มาก่อนอย่าง พระอนุวัติราชนิยม หรือ ยี่กอฮง ที่คนเล่นหวยคุ้นเคย (ปัจจุบันมีศาลเจ้าของท่านอยู่บนชั้นดาดฟ้าสถานีตำรวจพลับพลาไชย)
แต่ถ้าเอาคำว่าอั้งยี่ไปพูดกับคนจีนนอกเมืองไทยเขาก็ไม่รู้จัก เพราะคนจีนจริงๆ แล้ว เรียกสมาคมลับนี้ว่า หงเหมิน หรือ อั่งมึ้ง 洪门
แท่นบูชาของพลพรรคหงเหมิน ที่มาของคำว่า อั้งยี่
หงเหมิน นั้นมีเรื่องเล่าที่มาที่ไปต่างกันออกไปหลายตำนาน แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นสมาคมลับที่เกิดมาด้วยอุดมการณ์ “โค่นชิงกู้หมิง 反清复明” โดยเริ่มจากการก่อตั้งพรรคฟ้าดิน 天地会 เรียกย่อๆ ว่า 三合 องค์สาม หรือไตรภาคี คือ ฟ้า ดิน มนุษย์
หมายเหตุ : ฟ้า ดิน มนุษย์ เป็นหลักปรัชญาเก่าแก่ของจีน ที่เชื่อว่าเมื่อสามประสาน สรรพสิ่งก็สัมฤทธิ์ ดังที่ 董仲舒 ต่งจ้งซู ปราชญ์ยุคฮั่น กล่าวไว้ว่า
“天地人,万物之本也。天生之,地养之,人成之。……三者相为手足,合以成体,不可一无也”
“ฟ้าดินมนุษย์ รากฐานปวงสรรพสิ่ง ฟ้าเกิดก่อ ดินหล่อเลี้ยง มนุษย์ทำให้สำเร็จ สามผสานจึงวิวัฒน์ มิอาจพลัดขาดหนึ่งใด”
โค่นชิงกู้หมิง
พรรคฟ้าดินนี้ดำเนินการอย่างซ่อนเร้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขับไล่แมนจู กอบกู้ราชวงศ์หมิงขึ้นมาใหม่ จากนั้นมาสมาคมลับนี้ก็แตกแยกย่อยออกไปอีกมากมาย หลายสำนักสาขา และไปมีขึ้นไนหลายๆ ประเทศที่มีชาวจีนอพยพไปอยู่ โดยเจตนารมณ์แรกคือการเป็นสมาคมที่ค่อยช่วยเหลือรักษาผลประโยชน์ชาวจีนพวกเดียวกัน ต่อมาค่อยๆ กลายเป็นสมาคมลับที่เป็นเสมือนมาเฟียลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย และเรียกค่าคุ้มครอง
ในไทยเอง ศึกอั้งยี่ที่เลื่องลือมากในวันวาน คือการยกพวกตีกันเองระหว่างกรรมกรแต้จิ๋วกับกรรมกรฮกเกี้ยน เมื่อพุทธศักราช 2432 ที่เรียกกันว่า ศึกอั้งยี่ปล่องเหลี่ยม เพราะยึดเอาถนนเจริญกรุงตรงหลังโรงสีห้างวินเซอร์ที่เรียกกันว่า “โรงสีปล่องเหลี่ยม” เป็นสมรภูมิรบ
บรรยากาศย่านโกดังริมถนนเจริญกรุงในอดีต
เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน จีนทั้งสองฝั่งพากันรื้อสังกะสีมุงหลังคา ขนโต๊ะตู้จากร้านรวงมาสร้างป้อมค่าย แล้วเริ่มลงมือตะลุมบอนกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีว่า
“ท้องที่ถนนเจริญกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไป ก็ตกอยู่แก่อั้งยี่ทั้ง 2 พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน”
ศึกอั้งยี่ปล่องเหลี่ยมครั้งนี้กินเวลาถึงสามวัน พอถึงวันที่สามทหารก็ลงไปปราบ ปิดหัวปิดท้ายถนน แล้วบีบพวกอั้งยี่ไว้ให้จนมุม สมัยนั้นคนจีนยังไว้เปียอยู่ ทหารจับได้ก็ให้เอาเปียผูกกันไว้เป็นพวงๆ ไม่ให้หลบหนี ในที่สุดศึกอั้งยี่ก็ยุติลง
จนกระทั่งอีก 55 ปีต่อมา ศึกครั้งใหม่ก็ระอุคุกรุ่นอีกครั้ง!
ตอนนั้นเป็นเดือนกันยายนของปี 2488 สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลงหมาดๆ ญี่ปุ่นที่รุกรานจีนกลายเป็นชาติแพ้สงคราม จีนก๊กหมินตั๋งประกาศชัยชนะ ชาวจีนสยามก็รู้สึกผงาด หวังว่ารัฐบาลไทยจะให้รัฐบาลจีนเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทย แต่กลับเป็นว่า บทบาทไปตกอยู่กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จึงทำให้ชาวจีนในไทยไม่ค่อยพอใจ ตอนนั้นเองที่มีการปลุกปั่นให้ปิดร้านค้าเลิกค้าขาย หวังบีบรัฐบาลไทยกลายๆ ใครไม่ปิดร้านก็จะถูกทำร้าย แล้วก็เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ในคืนวันไหว้พระจันทร์ 20 กันยายน รถสามล้อคนไทยชนคนจีนล้ม เกิดการตะลุมบอนกัน แล้วบานปลายออกไปเป็นจลาจล
ปราบเลียะพะ
เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า เลียะพะ! 掠打 มาจากคำสองคำ คือ เลียะ 掠 ที่แปลว่า จับ
กับ พะ 打 ที่แปลว่า ตี พูดง่ายๆ ก็คือ ต่อยตี น่าจะมาจากเมื่อคนจีนเจอคนไทยจะตะโกนบอกกันให้จับ “เลียะ” แล้วก็รุมตี “พะ” คนที่ได้ยินได้ฟังมาจึงพากันเรียกว่า เลียะพะ ใครออกไปเดินมืดๆ ค่ำๆ คนเดียวก็จะถูกทักว่า “ระวังจะโดนเลียะพะ”
คำนี้ก็เช่นเดียวกับคำว่า อั้งยี่ ที่เป็นคำจีนแบบไทยๆ ที่เอาไปพูดให้คนจีนฟังแล้วเขาจะเกิดอาการงงๆ
การจลาจลในครั้งนั้น ก็ดุเดือดไปแพ้ตอนอั้งยี่ปล่องเหลี่ยม แต่ตอนนั้นเป็นจีนต่างภาษาตีกัน คราวนี้เป็น จีนกับไทย มีการขึ้นไปบนตึก แล้วยิงลงมาใส่ผู้คนด้านล่าง
ย่านเยาวราช เจริญกรุง หัวลำโพง บางลำพู กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย ผู้คนผ่านไปมาก็กลัวถูก “เลียะพะ”
นายหลี่เทียะเจิงที่อิหร่าน (ที่ 5 จากซ้าย)
ที่สุดแม้เจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ยังตึงเครียดอยู่จนเมื่อจีนได้ส่ง นายหลี่เทียะเจิง 李铁铮 เข้ามาเป็นทูตสาธารณรัฐจีนคนแรกประจำประเทศไทย สถานการณ์ก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไปได้ในที่สุด
นี่คือเรื่องราวจาก อั้งยี่ ถึง เลียะพะ ที่ตื่นเต้นเร้าใจไม่แพ้หนังจีนกำลังภายในชอว์ บราเดอร์ส