ธนาคารเวลา
สสส. ยก “ตำบลชมภู” โมเดล ต้นแบบพื้นที่บูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สร้างงาน-รายได้ ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ผลิตนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชน ขยายผลสู่ 5 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมเดินหน้านำร่อง “ธนาคารเวลา”
วันที่ 15 พ.ย. 2562 ที่ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, คณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ และคณะกรรมการกำกับทิศทางการจัดสภาพแวดล้อมและพัฒนาบริการสาธารณะตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน, นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ “การสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คนพิการ และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน” ภายใต้โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ชุมชน และคนพิการ โครงการพัฒนากลไกสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับคนพิการที่มีงานทำและมีอาชีพ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ:บูรณาการและยกระดับกลไกขับเคลื่อนการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพของคนพิการให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน และ โครงการประเมินความเป็นไปได้และถอดบทเรียนการดำเนินงานธนาคารเวลาในระดับชุมชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลการประมาณการผู้พิการในภาพรวมทั้งประเทศปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน หรือร้อยละ 3.01 โดย 3 อันดับแรกเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย รองลงมาคือคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการมองเห็น ซึ่งสสส.โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะทำงานครอบคลุม 4 มิติ คือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคมและการเรียนรู้ และด้านสภาพแวดล้อม เพื่อให้คนพิการทุกคนมีศักยภาพและสามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกันกับคนปกติได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตำบลชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สสส.ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ผ่านการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการต่างๆของสสส. อาทิ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ: บูรณาการและยกระดับกลไกขับเคลื่อนการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพของคนพิการให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน”เพื่อส่งเสริมและยกระดับให้คนพิการที่ได้รับการจ้างงานและการประกอบอาชีพ มีศักยภาพ มีสุขภาวะ สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้ โดยระหว่างปี 2561-2562 มีการจ้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการต่อเนื่อง กว่า 4,000 อัตรา นอกจากนี้มีการพัฒนาศักยภาพคนพิการ รวมถึงผลิตนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชน (นสส) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับคนพิการที่มีงานทำและมีอาชีพ และเน้นกระบวนการทำงานสร้างเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนผ่านโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ชุมชน และคนพิการ เพื่อให้การทำงานด้านการฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพของคนพิการ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนเป็นต้นแบบ ขยายผลไปสู่พื้นที่ ในภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จำนวน 17 พื้นที่
นายอนันต์ แสงบุญ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ตำบลชมภู จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตำบลชมภูมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,676 ไร่มีประชากรทั้งหมด 7,215 คน เป็นคนพิการ 291 คนหรือร้อยละ 4 คนพิการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจำนวน 164 คน (ร้อยละ 56.4) รองลงมาอยู่ในวัยแรงงาน วัยรุ่น และวัยเด็กคิดเป็น ร้อยละ 38.8 ,2.7 และ2.1 ตามลำดับส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวคิดเป็นร้อยละ 71.1 ในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตำบลชมภูนั้น เดิมติดรูปแบบสังคมสงเคราะห์ คือตั้งรับงบประมาณและสิ่งของบริจาค ขาดการเสริมสร้างศักยภาพคนพิการที่ครบองค์รวมกาย จิต ปัญญา สังคม(สุขภาวะ) ขาดการรวมกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ขาดข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการและบริบทต่างๆรอบด้าน ในเรื่องสิทธิการจ้างงาน ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดทำความเข้าใจเรื่องคนพิการโดยผ่านการทำกิจกรรมที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” และการจำลองความพิการ ทำให้เครือข่ายได้ปรับมุมมองที่มีต่อคนพิการและปรับรูปแบบการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปลี่ยนจากการมองคนพิการเป็นเพียงผู้รับ กลายเป็นการสนับสนุนให้คนพิการมีความเข้มแข็งและมีความมั่นใจในตนเองจนสามารถลุกขึ้นมาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆในชุมชน สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับคนพิการ จนสามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการ ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่และกำลังเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไปของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นอกจากนี้ ศูนย์บริการคนพิการยังได้ดำเนินการด้านอีกอื่นๆได้แก่ ธนาคารเวลา เป็นหน่วยจัดการร่วมสสส.ระดับพื้นที่(Node)เพื่อขยายงาน CBR ในพื้นที่อื่นๆต่อไป และร่วมกับโครงการอื่นๆของสสส.ในการพัฒนานักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ(นสส.)และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการดำเนินงานปรับสภาพบ้านคนพิการและผู้สูงอายุอีกด้วย
มัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. ต.บ้านพญาชมพู กล่าวว่า ตำบลชมภูมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยใช้กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน CBID (Community-based Inclusive Development) พัฒนาด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา การเลี้ยงชีพ ด้านสังคมและการเสริมพลังไปพร้อมๆกันในคนพิการและครอบครัวคนพิการ มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมโดยเฉพาะความรอบรู้ที่เป็นปัจจัยกำหนดความเข้าใจด้านสุขภาพ โดยมีเครือข่ายของนักสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชน(นสส.) เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน มุ่งเน้นเป้าหมาย “ป้องกันความพิการ” ใช้วิธีมองปัญหาแบบรอบด้านและส่งเสริมป้องกันความพิการในผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้งกลุ่มแม่และเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยความดัน