งานวิจัยล่าสุดพบขึ้นภาษีน้ำตาลใน “ขนมหวาน” 20% จะลดคนอ้วนได้ 2% ต่อปี
งานวิจัยล่าสุด
พบขึ้นภาษีน้ำตาลใน “ขนมหวาน” 20%
จะลดคนอ้วนได้ 2% ต่อปี
มาตรการที่หลายประเทศรณรงค์ก็คือการประกาศ “ขึ้นภาษี” ขนมหวาน และน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง เพื่อลดอัตราการบริโภคน้ำตาล ซึ่งจะนำไปสู่อัตราผู้ป่วยด้วยโรคจากพฤติกรรม เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ ไตวาย ลดลง
หนึ่งในนั้นก็คือไทย ซึ่งเก็บ “ภาษีน้ำตาล” อัตราใหม่ ในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเก็บภาษีชนิดนี้มาแล้ว 2 ปี โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10 – 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เสีย 50 สตางค์ต่อลิตร ส่วนเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บที่ 3 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
นั่นทำให้บรรดาชาเขียว น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง ต้องปรับสูตรหนีภาษีน้ำตาลอัตราใหม่กันระนาว และบางส่วนที่ปรับสูตรไม่ได้ เช่น น้ำผลไม้ 100% หรือ น้ำอัดลมเก่าแก่ ก็ต้องขยับราคาขึ้น ไม่ให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาษี
กรมสรรพสามิต คาดว่าหลังจากดีเดย์ จะทำให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มได้เพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านบาทต่อปี เป็น 2,000 ล้านบาทต่อปี
คำถามสำคัญก็คือว่า การใช้ “ภาษีน้ำตาล” เพื่อลดอัตราการบริโภค และลดอัตราการป่วยในโรคที่เกี่ยวข้องนั้น ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะในกระแสภาษีน้ำตาลนั้น หลายประเทศก็ยังมีการถกเถียงกัน และถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการรังแก “คนจน”
ขณะเดียวกัน นักวิชาการ และรัฐบาลอีกหลายประเทศก็เห็นตรงกันว่า การเก็บภาษีน้ำตาลเฉพาะในเครื่องดื่มนั้น ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่ควรขยายไปถึง “ขนม” ที่มีน้ำตาลสูงด้วย
ผลการศึกษาล่าสุดในอังกฤษ พบว่า การเก็บภาษีน้ำตาลใน “ขนม” ที่มีปริมาณน้ำตาลสูงนั้น สามารถลดผู้ป่วย “โรคอ้วน” ได้จริง โดยใช้โมเดลจากอังกฤษ “คาดการณ์” โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างรวม 2,544 คน พบว่า หากขึ้นภาษี 20% ในขนม ช็อกโกแลต คุกกี้ และเค้ก จะสามารถลดผู้ที่เป็นโรคอ้วนได้มากกว่าปีละ 2%
นอกจากนี้ ผลการศึกษา ยังระบุด้วยว่า การเก็บภาษีน้ำตาล จะกระทบกับครัวเรือนที่มี “รายได้น้อย” ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้สูง จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะคนที่ซื้อขนม ก็ยังคงซื้อต่อไปอยู่ดี
นั่นทำให้บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน ประกาศจะ “ทบทวน” นโยบายภาษีน้ำตาลเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่ารังแกคนจนมากเกินไป และตัวเลข 2% ต่อปี ที่ลดโรคอ้วนลงได้นั้น ยังไม่น่าพอใจนัก
ในเม็กซิโก และในฮังการี ก็พบปัญหาคล้ายคลึงกัน คือการเก็บภาษีลักษณะนี้ มักส่งผลกระทบกับคนจน มากกว่าคนรวย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว กลับหักล้างได้มากกว่า
ในเม็กซิโกนั้น ผู้บริโภคซื้อขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูง น้อยลงถึง 7% หลังจากเก็บภาษีน้ำตาล ส่วนในฮังการี ซึ่งเริ่มใช้ภาษีน้ำตาลเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็พบว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 40% ปรับสูตร เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ทำให้อาหารในฮังการี “เฮลท์ตี้” มากขึ้น
แบร์รี พอพลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ชาเพลฮิลล์ สหรัฐอเมริกา บอกว่าตัวเลขผู้ป่วย “โรคอ้วน” ที่จะลดลงปีละ 2% นั้น เป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปนิด
พอพลินศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการขึ้นภาษีน้ำตาล และการลดโรคอ้วนในเม็กซิโก พบว่า การขึ้นภาษีไม่น่าจะลดโรคจากพฤติกรรมได้รวดเร็วขนาดนั้น
ปัจจุบัน เม็กซิโก เป็นประเทศที่มีคนดื่ม “น้ำอัดลม” มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยแต่ละคนดื่มมากกว่าปีละ 136 ลิตร หรือเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ประชากรยังเสพติดน้ำอัดลม แม้จะมีการเก็บภาษีน้ำตาลไปแล้วทั้งในเครื่องดื่ม และในขนม
ตัวเลขของพอพลินระบุว่า หากเม็กซิโกจะลด “คนอ้วน” ได้ 2% นั้น น่าจะใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปี ไม่ใช่ลดทันทีภายใน 2 ปีแรก แบบที่มีการคาดการณ์ในอังกฤษ
“แน่นอน การขึ้นภาษีน้ำตาลเป็นเรื่องดี แต่อย่ามั่นใจเกินไปว่าผลลัพธ์จะดีมาก และมาเร็วขนาดนั้น” พอพลิน ระบุ
รายงานของพอพลิน และข้อมูลจากทั่วโลก สะท้อนชัดว่า แม้จะมีการบริโภคน้ำตาลลดลง และประชากรจำนวนมากในประเทศที่มีภาษีน้ำตาล บริโภคอาหารที่ “ดีต่อสุขภาพ” กันมากขึ้น แต่ตัวเลขผู้ป่วยลดลง หรือคนอ้วนลดลง ยังไม่เห็นชัดมากพอ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าปริมาณที่ควรบริโภคน้ำตาลต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 6 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่า การดื่ม “น้ำอัดลม” สูตรปกติ 1 กระป๋อง ก็เกินปริมาณที่ WHO แนะนำแล้ว
แล้วหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อ? ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ในฐานะ “หัวแถว” ด้านการรณรงค์ลดน้ำตาล ยังคงยืนยันคำเดิมว่า การใช้ “ภาษีน้ำตาล” จะเป็นมาตรการสำคัญในการลดผู้ป่วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมทั่วโลก แม้ WHO จะถูก “ล็อบบี้” อย่างหนัก จากอุตสาหกรรมขนม และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จนไม่สามารถใส่ข้อเสนอดังกล่าวลงใน “รายงานประจำปี” ฉบับล่าสุด เพื่อ “แนะนำ” ให้รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการนี้ก็ตาม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั่วโลก ก็ยังยึดถือแนวทางในการเก็บ “ภาษีน้ำตาล” ต่อไป โดยเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ เตรียมเสนอกฎหมาย ขึ้นภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่นเดียวกับไทย และฟิลิปปินส์
อนาคตของภาษีของ “เครื่องดื่ม” น้ำตาลสูงทั่วโลก ยังคงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือน่าจะ “ไปต่อ” ส่วนจะขยายไปถึงขนมน้ำตาลสูงหรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/gossipsasook/photos/a.347034632506292/534458620430558/?type=3&theater
Gossipสาสุข