สยบคำวิจารณ์!! “ชิม ชอป ใช้” แจกเงินใส่มือประชาชน สุดเงินผันไปสู่มือของเจ้าสัว โดยมีประชาชนเป็นแค่ทางผ่าน
ร้อนถึงเพจ #ไทยคู่ฟ้า ต้องออกมาชี้แจงกรณี “ชิม ชอป ใช้” กระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวไทย ปูทางสู่สังคมไร้เงินสด
หลังจากเดินหน้าโครงการ “ชิม ชอป ใช้” ได้ระยะหนึ่ง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนกลุ่มหนึ่งว่า เป็นการแจกเงินใส่มือประชาชน และท้ายสุดเงินนั้นจะผันไปสู่มือของเจ้าสัว โดยมีประชาชนเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น
อย่าลืมว่าที่จริงแล้ว "ชิม ชอป ใช้” เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดการบริโภค จับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
เงื่อนไขสั้น ๆ คือ ลงทะเบียนรับสิทธิ์ เป็นเงินใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันคนละ 1,000 บาท และยังสามารถรับเงินคืน (Cash Back) หากเติมเงินส่วนตัวเพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นจำนวน 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน
ทีนี้มาดูว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ...
อันดับแรก คือ เกิดการจับจ่ายใช้สอยในภาคการท่องเที่ยว ให้คึกคัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภูมิภาคทั่วประเทศ ส่งผลให้ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สินค้าเกษตร สินค้าโอทอป โฮมสเตย์ รีสอร์ท โรงแรม ร้านของที่ระลึก หรือขนส่งสาธารณะ ได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่มอาชีพ ทำให้มีรายได้ และช่วยเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่า ผู้ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ได้ใช้จ่ายช่วง 5 วันแรก (27 ก.ย. - 1 ต.ค. 62) เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ราย คิดเป็นเงิน 628 ล้านบาท และมีการประเมินว่าหากมีการใช้จ่ายเงินเต็มกรอบเป้าหมาย จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายเงินในกระเป๋า 1 จำนวน 10,000 ล้านบาท และกระเป๋า 2 ที่ประชาชนใช้จ่ายเพื่อได้รับ Cash Back 15% อีก 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้จ่าย 628 ล้านบาท นั้น กระจายไปยังห้างขนาดใหญ่ เพียง 22% เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายผ่านร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้า OTOP ซึ่งเป็นผลมาจากการวางระบบที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ 1 ราย สามารถเปิดจุดชำระเงินได้ 20 จุด เพื่อให้คนไปใช้สิทธิ์กับร้านเล็ก ๆ จึงไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แก่เจ้าสัวหรือผู้ประกอบการรายใหญ่
อันดับที่สอง คือ “เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” อย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายของโครงการมุ่งไปที่ “ไทยเที่ยวไทย ใช้หรือกินของไทย” ซึ่งหลายจังหวัดเริ่มนำนโยบาย "ชิม ชอป ใช้" ไปต่อยอดสร้างกระแส “ท้องถิ่นนิยม” กิน เที่ยว และใช้ของคนไทยเพื่อคนไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปี ที่เห็นชัดเจนขณะนี้ คือ ภาคเหนือ ที่กำลังเข้าสู่ "ไฮซีซั่น" เกิดกระแสตื่นตัวแอ่วเหนือจากโครงการรัฐบาล จนสถานที่ท่องเที่ยว หรือที่พักตั้งแต่ระดับ 3 ดาวไปจนถึง 5 ดาว มีประชาชนจับจองห้องพักอย่างล้นหลาม
อันดับที่ 3 คือ “เป็นการเตรียมความพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด" ซึ่งเป็นรูปแบบการเงินสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โครงการนี้จึงช่วยให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ “เงินดิจิทัล” เรียนรู้การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน หรือระบบสแกนใบหน้าที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการสวมสิทธิ์ ซึ่งมีคนให้ความสนใจลงทะเบียนออนไลน์อย่างท่วมท้นตลอด 24 ชั่วโมง
โครงการนี้รัฐบาลยืนยันว่า “เปิดกว้าง” ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามาลงทะเบียนได้ แต่เบื้องต้นเน้นกลุ่มเป้าหมาย “ผู้มีรายได้ระดับกลาง” ซึ่งมีกำลังซื้อ ที่สามารถใช้จ่ายผ่านทั้งแอปพลิเคชันและเงินสด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงจิตวิทยาให้ผู้ที่มีกำลังซื้อออกมาจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มเกษตรกร หรือ ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
อันดับที่ 4 คือ “เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการค้าขายออนไลน์” เพราะเมื่อพิจารณาจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ชิม ชอป ใช้ ที่มีมากกว่า 150,000 ร้าน ต่างจัดโปรโมชันทั้งทาง "ออนไลน์" และ "ออฟไลน์" ให้เป็นที่รู้จักเพื่อจูงใจให้ประชาชนไป "เช็กอิน" หรือ "ปักหมุด" เพื่อใช้จ่ายเงินซื้อของและท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ระดับชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน ตื่นตัวเกินคาด
อันดับที่ 5 คือ “ช่วยดันเศรษฐกิจมหภาค” ให้ขยายตัวในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพี ให้เพิ่มขึ้น 0.2 - 0.3% หรือคิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท
ดังนั้นโดยสรุปประโยชน์ของโครงการ "ชิม ชอป ใช้" มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman/photos/a.210271022772045/738454336620375/?type=3&theater