วิธีเติมไฟให้กับการทำงาน
วิธีเติมไฟให้กับการทำงาน
Written by: Sasicha Isarasriroj – Start Thailand
อาการเบื่อหน่าย เนือย เฉื่อยชา อาจเกิดขึ้นได้กับคนวัยทำงาน ยิ่งได้ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวัน ไฟในกายที่เคยลุกโชนก็อาจมอดดับลงได้ ครั้นจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายก็กินเวลาไปนาน บ้างก็เกินเดดไลน์ส่งงาน หากคุณมีอาการเช่นนี้ ให้รู้ไว้เลยว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณกำลังหมดไฟในการทำงาน
ทีนี้วิธีการปลุกพลังให้กลับมาทำงานได้อย่างกระตือรือร้น ทางสตาร์ทไทยแลนด์ได้ลิสต์ไว้ 5 ข้อ ให้คุณได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้อาการหมดไฟ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- ลดความตึงเครียด การคิดวนไปวนมา บวกกับความรู้สึกกดดันในตอนทำงาน แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดความเครียดสะสม นานวันเข้าก็บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน หยิบ จับ ทำอะไรก็ดูน่าเบื่อหน่ายไปหมด หากเป็นเช่นนั้นให้คุณรีบปรับสภาพความคิด และจิตใจให้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตชีวา และสดใสได้อีกครั้ง ซึ่งคุณอาจจะใช้วิธีการพูดกับตัวเอง ด้วยประโยคที่ว่า “ฉันจะทำงานให้สำเร็จด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ” ซึ่งงานที่เรารัก เมื่อได้ลงมือทำ งานนั้นก็รักเราเช่นกัน ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดลงได้
- เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อคุณทำงานแต่รูทีนนานวันเข้าก็อาจรู้สึกหมดพลังลงได้ เหมือนทำงานไปวันๆ ให้มันเสร็จไป หากคุณเริ่มมีความรู้สึกเช่นนั้น ให้คุณมองหาสิ่งใหม่ๆ ในการวางแผน ขบคิด เกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในเนื้องาน ซึ่งสามารถนำไปเสนอหัวหน้า หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับไอเดียของคุณ ให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท ซึ่งการคิดอะไรแปลกใหม่ยังทำให้คุณรู้สึกสนุก และท้าทายแล้ว ยังทำให้หัวใจของคุณเบิกบาน ซึ่งคุณอาจจะลองหาอ่านบทความที่มีสาระดีๆ สักเรื่อง เพื่อเป็นแนวคิดในการนำเสนองานใหม่ๆ ให้เกิดประสิทธิผลในองค์กร
- ตั้งเป้าหมาย การทำงานไปโดยไร้จุดหมายปลายทางอาจทำให้คุณขาดประสบการณ์ในการใช้ความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ หากแต่คุณได้ลองตั้งเป้าหมาย แล้วดำเนินการเดินไปสู่ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ มันจะทำให้คุณมีแรงใจฮึดสู้ และไปได้ถูกทาง ทั้งยังหล่อหลอมให้คุณกลายเป็นคนที่ทำอะไรชัดเจน สามารถให้เหตุผลถึงสิ่งที่คุณลงมือทำได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเดินไปสู่ทิศทางที่ตรงเป้าหมาย และผลงานสามารถวัดผลได้ เมื่อถึงคราวประเมิน
- นอนหลับให้เพียงพอ เมื่ออยู่ที่ทำงานก็จงใช้เวลาที่มีอยู่ไปกับการสะสางภารกิจให้เต็มที่ แต่พอหลังเลิกงานแล้ว ให้วางงานทั้งหมดไว้ที่ออฟฟิศ และหยุดคิดเรื่องงานเพื่อให้สมองได้คลายความตึงเครียด โดยให้คุณทำเหมือนปิดสวิตช์ไฟ คือเรื่องงานจะถูกปิดเพื่อได้พัก ซึ่งเมื่อถึงเวลานอนก็ควรนอนให้เต็มที่ และควรนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อฟื้นฟูร่างกาย แรงใจให้เต็มอิ่ม และตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความพร้อมรับมือกับวันใหม่ได้อย่างช่ำชอง หลังจากชาร์จพลังมาอย่างเต็มที่
- ออกกำลังกาย การแบ่งเวลาในแต่ละสัปดาห์เพื่อหันมาออกกำลังกายจะทำให้คุณกลับมาสดใส มีชีวิตชีวา และได้หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินที่ทำให้สมองเกิดความรู้สึกดี ทั้งยังบรรเทาอาการซึมเศร้า ลดความเครียดให้กลับมารู้สึกสบายตัวและเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ โดยเป็นการเตรียมความพร้อมแรงกาย แรงใจให้พร้อมต่อสู้ในสนามแข่งขันที่ทำงาน ให้มีพลังเหลือเฟือในการรับมือเมื่อเกิดปัญหาในที่ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว และมีเอนเนอร์จี้เต็มเปี่ยม
จงปลุกไฟในการทำงานให้โชติช่วงทุกวัน ทำให้งานมีชีวิตไม่เหือดแห้ง ซึ่งคุณสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจ และร่างกายของตนเองได้ด้วยวิธีที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวาตลอดช่วงเวลาของการทำงาน ให้ผ่านพ้นไปอย่างมีคุณค่าและความภาคภูมิใจเต็มเปี่ยมในแต่ละวัน
คุณสามารถค้นพบงานใหม่ ในการเปิดประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์งาน หลากหลายอาชีพ ผ่านทางเว็บไซต์สตาร์ท ได้แล้ววันนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.start.co.th/
ขอบคุณรูปภาพ: https://th.jobsdb.com