HEALTH: บางครั้งที่เศร้า อาจเป็นผลจากอาหารที่กินเข้าไปต่างหากล่ะ
.
“กลัวจนขี้หด”
“กล้ำกลืนความเจ็บปวด”
“ซึมซับความพ่ายแพ้”
“ขมในปาก”
ฯลฯ
.
ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านมาสักสองหรือสามอย่างกันบ้างแหละ แต่เราสงสัยกันบ้างมั้ยว่า ทำไมความรู้สึกของเราถึงถูกบรรยายกับอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับลำไส้นักล่ะ ?
.
ในเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ตัวตนของเรา (บางส่วน) ถูกสร้างขึ้นจากลำไส้ เนื่องจากลำไส้มีเส้นประสาทมากมายที่ควบคุมการส่งสัญญาณให้กับเซลล์ของเราภายในร่างกาย โดยมีเส้นประสาทเวกัสเป็นเส้นทางที่เร็วที่สุด ในการส่งสัญญาณจากลำไส้ไปยังสมอง ซึ่งมีการทดลองกับมนุษย์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสด้วยความถี่ที่แตกต่างกันสามารถทำให้มนุษย์รู้สึกเครียดหรือสบายก็ได้
.
ซึ่งในปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าลำไส้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงเรื่องการตัดสินใจ และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วย โดยงานวิจัยของ Steven Collins ที่มหาวิทยาลัย McMaster ได้ทำการศึกษาหนู 2 สายพันธุ์ที่มีนิสัยแตกต่างกัน โดยหนูพันธุ์หนึ่งมีนิสัยขี้อายและเชื่อง และอีกพันธุ์มีนิสัยชอบสำรวจและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม นักวิจัยได้กำจัดแบคทีเรียในลำไส้ของพวกมันออกจนหมด และให้หนูสายพันธุ์ที่ขี้อายแต่เชื่องได้แบคทีเรียของหนูอีกสายพันธุ์ไปอยู่ในลำไส้แทน และทำแบบเดียวกันกับหนูสายพันธุ์ชอบสำรวจ ผลปรากฎว่า พวกมันได้สลับนิสัยกันแล้วเป็นที่เรียบร้อย!
.
และอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ โรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เกิดจากสมองหรือสถานการณ์ในชีวิตเท่านั้น ซึ่งในบางกรณีอาจเกิดจากลำไส้ได้ เป็นเพราะร่างกายต้องการใช้เซโรโทนินที่ได้ชื่อเล่นว่า ฮอร์โมนแห่งความสุข การขาดฮอร์โมนตัวนี้ส่งผลให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่ง 95% ของเซโรโทนินที่ร่างกายสร้างขึ้นถูกผลิตโดยลำไส้ของเรา
.
แม้ว่าในปัจจุบันเหล่านักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาเรื่องระบบที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้และสมองอีกมาก แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ การใช้ความรู้ที่มีอยู่ในตอนนี้ดูแลรักษาลำไส้ของเรา เช่น การรับประทานอาหารควรเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และไม่เร่งรีบจนเกินไปนัก การนำอาหารมาทานหน้าคอมพิวเตอร์คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับลำไส้แน่ ๆ ครั้งหน้าก่อนที่เราจะหยิบอะไรเข้าปากไป อาจจะต้องมีการคิดใหม่ก่อนแล้วว่านี่ไม่ใช่อาหารที่กินแล้วอิ่มเพียงอย่างเดียว แต่อาหารเหล่านี้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ รวมไปถึงอารมณ์อันอ่อนไหวของเราได้อีกด้วย
.
โดยอาหารที่ส่งผลดีต่อลำไส้อาจจะไม่ค่อยถูกปากเราเท่าไรนัก เช่น กระเทียม, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวหอม แต่อย่ากระนั้นเลย เราก็หาอะไรทานง่าย ๆ เช่น โยเกิร์ต หรือ กิมจิ ก็ยังได้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่จะส่งผลไม่ดีต่อลำไส้ ไม่ว่าจะเป็น ขนมปังขาว หรือ พิซซ่า รวมไปถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูงด้วย โดยนักโภชนาการได้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นดูแลว่า อย่าเปลี่ยนอาหารที่ทานกะทันหันจนเกินไปนัก เพราะลำไส้จะตกใจเอาได้ ให้ค่อย ๆ เปลี่ยนลักษณะการทานอาหารจะดีกว่า