ปรากฏการณ์เลือกตั้ง 3 จังหวัดใต้ ประชาชาติยึด 6 ที่นั่ง คน 80% ใช้สิทธิ์ สะท้อนอะไร
พรรคประชาชาติได้คะแนนรวม Popular vote สูงสุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการชี้ประสบความสำเร็จในการปักธงเป็นพรรคของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางการถูกกดทับจากอำนาจรัฐ และจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่สูงกว่า 80 % สะท้อนการตื่นตัวต่อประชาธิปไตยและความหวังสันติภาพหลังการเลือกตั้ง
จากคะแนนรวมเลือกตั้ง (Popular vote) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งหมด 11 เขตเลือกตั้ง รวม 1,012,107 คะแนน พบว่า พรรคประชาชาติ ได้สูงสุด ใน 10 อันดับแรก
อันดับ 1 พรรคประชาชาติ 321,747 คะแนน
อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ 160,448 คะแนน
อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ 143,722 คะแนน
อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย 128,715 คะแนน
อันดับ 5 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 100,444 คะแนน
อันดับ 6 พรรคอนาคตใหม่ 89,023 คะแนน
อันดับ 7 พรรคชาติไทยพัฒนา 17,415 คะแนน
อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทย 9,118 คะแนน
อันดับ 9 พรรคเพื่อไทย 6,537 คะแนน
อันดับ 10 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 3,904 คะแนน
ซึ่งหากนับสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.เขต 11 เขต แน่นอนว่าพรรคประชาชาติ ได้มา 6 เขต พรรคพลังประชารัฐ 3 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 1 เขต พรรคภูมิใจไทย 1 เขต พรรคประชาชาติจึงครองที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสนามเลือกตั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วน คะแนนรวมเลือกตั้ง (Popular vote) ที่นำทุกคะแนน ทุกเสียงมารวมกัน พรรคประชาชาติ ก็ได้สูงสุด และมากกว่าอันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ เกินครึ่งหนึ่ง และมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนคะแนนรวมของพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็อยู่ในสัดส่วนที่ติด 1 ใน 5 พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คะแนนรวมเลือกตั้ง (Popular vote) สะท้อนอะไรได้บ้าง ในจำนวน 5 พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมสูงสุด เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ 3 พรรคคือพรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
พรรคประชาชาติ ได้คะแนนรวมสูงสุด จึงถือว่าปักธงเป็นพรรคของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ แม้ว่าจะไม่ได้ตามเป้าที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 8 ที่นั่ง เพราะต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เข้ามาสอดแรกในทุกทาง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกำลังทหารคุมพื้นที่ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายกับพรรคประชาชาติ ไม่น้อย
การชนะมาได้ 6 ที่นั่ง จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับพรรคประชาชาติ และคะแนนรวมสูงสุด 321,747 คะแนน ที่สูงถึง 31 % ก็สะท้อนคะแนนนิยมที่มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิมในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้ส.ส.ถึง 9 ที่นั่ง
“คะแนนรวมสูงสุดที่พรรคประชาชาติได้รับสะท้อนกระแสนิยมในพรรคประชาชาติได้ชัดเจนขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ใช้หาเสียงเป็นพรรคประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่า พื้นฐานประชาชนในพื้นที่ ปฏิเสธอำนาจรัฐอยู่สูงมาก รวมทั้งการชูอัตลักษณ์มลายู การชูประเด็นสันติภาพ ทำให้เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ได้มาก ถือว่าพรรคประชาชาติประสบความสำเร็จในการปักธงเป็นพรรคของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ให้ความเห็นถึงการวิเคราะห์ผลคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นว่า
“พรรคประชาชาติได้รับเลือกตั้งมากขนาดนี้ ท่ามกลางอำนาจรัฐที่กดทับ ก็ถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญแล้ว ส่วนกระแสโจมตีการเป็นพรรคมุสลิม ไม่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน เพราะในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม สิ่งที่โดดเด่นและน่าสนใจมากกว่าจึงอยู่ที่การเป็นพรรคชูความเป็นประชาธิปไตย ปฏิเสธทหาร การสร้างสันติภาพ และความเป็นอัตลักษณ์มลายู”
ศ.ดร.ศรีสมภพ ให้ความเห็นเสริมถึงผลการเลือกตั้งที่ตรงกับการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ แม้จะมีกลไกของอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่อยู่มาก
ส่วนใน 10 อันดับแรกมีพรรคใหม่ที่ได้คะแนนสูงเกือบ 1 แสนคะแนนคือ พรรคอนาคตใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะได้ส.ส.แบบแบ่งเขตและคะแนนอาจมากกว่านี้ แต่ผลเลือกตั้งที่ได้ 89,023 คะแนน ก็ถือว่าทำได้มากพอสมควร จากกระแสคนรุ่นใหม่ การชูธงประชาธิปไตย และต่อต้านทหาร และถือว่ามากกว่าพรรคพรรคเพื่อไทย ที่ได้เพียง 6,537 คะแนน ตกมาอยู่อันดับ 9 ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่คะแนนน้อย เพราะอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กลุ่มวาดะห์ ย้ายมาสังกัดพรรคประชาชาติ และในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้ และเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทุ่มกับพื้นที่นี้เลย
นอจากนี้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
จังหวัดยะลา มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 80.43 %
จังหวัดปัตตานี มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 79.32 %
จังหวัดนราธิวาส มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 79.27 %
ความตื่นตัวต่อประชาธิปไตยของประชาชนในพื้นที่ก็สะท้อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นที่คาดหวังของประชาชนเช่นเดียวกับการสร้างสันติภาพที่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลหลังเลือกตั้งด้วย
แหล่งที่มา: http://www.mtoday.co.th