ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง 21 พันธมิตรประชาชนฯชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา 5-7 ตุลา 51ชี้ชุมนุมโดยสงบ เหตุรุนแรงเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ศาลพิพากษายกฟ้อง 21 อดีตแกนนำและแนวร่วม พธม.ชุมนุมบริเวณรัฐสภา วันที่ 5-7 ตุลาฯ ปี 51 ชี้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มุ่งเปิดโปงทุจริต ขัดขวางน้องเขยทักษิณ แถลงนโยบาย ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรง เกิดจากเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บ จึงทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้นตอบโต้เจ้าหน้าที่ โดยแกนนำไม่ได้สั่งการ
4 มีนาคม 2562-เมื่อเวลา 09.45 น.ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา หมายเลขดำ อ.4924/2555 ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กับแนวร่วม พธม.รวม 21 คน เป็นจำเลยในความผิด 5 ข้อหา ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำตามรัฐธรรมนูญเพื่อติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล และเป็นหัวหน้ามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยมีอาวุธร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 216, 309 และ 310 กรณีนำผู้ชุมนุมปิดอาคารรัฐสภา ในวันที่ 5-7 ต.ค. 2551 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่จำเลยบางส่วนได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี คนละ 200,000 บาท
คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 บรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 5-7 ต.ค. 2551 จำเลยและกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหลายพันคน ร่วมมั่วสุมภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งเวทีปราศรัย และได้ยุยงปลุกปั่นให้กลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งประเทศไปรวมตัวปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมสภา โดยวันที่ 7 ต.ค. 2551 กลางวัน จำเลยกับพวกใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนพร้อมนำลวดหนามชนิดหีบเพลง และแผงกั้นเหล็กยางรถยนต์ผ่านไปลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อขวางบริเวณรอบรัฐสภา ทำให้ประชาชนไม่สามารถผ่านไปได้ และปราศรัยปลุกระดมให้ล้อมรัฐสภา เป็นเหตุเหตุให้ ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนเดินทางเข้าไปประชุมสภาไม่ได้ และจำเลยกับพวกยังร่วมกันข่มขืนใจ นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล, นายมณฑล ไกรวัตนุสรณ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคเพื่อไทย, นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย และข้าราชการฝ่ายการเมืองหลายคน โดยไล่ให้กลับบ้านและขู่ให้กลัวว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และยังมีการโห่ร้อง ด่าทอ ใช้หนังสติ๊ก อาวุธปืนยิง มีดฟันใช้ปลายธงทำด้วยเหล็กปลายแหลมแทงเจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน แถมยังมีการนำโซ่ไปล็อกกุญแจทางเข้า-ออกสภาทุกด้าน พร้อมประกาศขู่ว่าหากไม่ยุบสภาในเวลา 18.00 น.จะจับตัวประธานสภา และประธานวุฒิสภา รวมทั้งสมาชิกทั้งหมด ซึ่งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้ปีนกำแพงหนีออกทางด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายคนถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง
ต่อมาเวลากลางคืน จำเลยกับพวกยังได้ปราศรัยยุยงให้กลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหลายพันคน โดยมีอาวุธ มีด ปืน ไม้กระบอง ธง หนังสติ๊ก ฯลฯ เคลื่อนไปหน้าอาคารรัฐสภาและปิดล้อมทางเข้าออก และได้นำน้ำมันราดบนถนนหน้ารัฐสภาและขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ส.ส.และ ส.ว.รวมทั้งใช้รถกระบะ ทะเบียน วพ 1968 กทม. ที่ขับขี่โดย นายปรีชา ตรีจรูญ ขับรถพุ่งไล่ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งอัยการได้แยกฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาไปแล้ว
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัว นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และ นายสุริยะใส กตะศิลา และอดีตผู้ประสานงาน พธม. จำเลยที่ถูกจำคุกคนละ 8 เดือน คดีชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 มาจากเรือนจำ ขณะที่จำเลยอื่นได้รับการประกันตัว
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐภา ในเหตุการณ์วันที่ 5 ต.ค. ถึงช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการแถลงโยบายในรัฐสภาของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันมิตรฯ ได้ชี้แจงตลอดเวลาว่าไม่ให้ผู้ชุมนุมนำแอลกอฮอล์หรืออาวุธ เข้ามาในที่ชุมนุม ดังนั้น การชุมนุมจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการปราศรัยบนเวทีของอดีตแกนนำพันตมิตรฯ ก็เป็นการชี้แจงให้ผู้ชุมนุมเห็นถึงความไม่เหมาะสมของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกศาลฎีกาฯ นักการเมืองจำคุกในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัฐบาล และสมัยรัฐบาลทักษิณมีการทุจริตหลายโครงการ ขณะที่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ต.ค.นั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา สลายการชุมนุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันโดยที่ผู้ชุมนุมคาดหมายและเตรียมตัวไม่ทัน จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความกดดัน ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเกิดความโกรธแค้น ตอบโต้ มีการขว้างปาขวดนำและสิ่งของที่พกติดตัว และไม่พอใจการกระทำของตำรวจ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ยังประชุมอยู่ในรัฐสภา แต่ก็เป็นการกระทำของผู้ชุมนุมเฉพาะราย เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อดีตแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 21 คน ได้สั่งการหรือยุยงปลุกปั่นผู้ชุมนุมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหมด จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 115 และ 116 พิพากษายกฟ้อง
สำหรับจำเลยทั้ง 21 คน ประกอบด้วย
1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.
2.นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.
3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.
4.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อายุ 65 ปีเศษ อดีต ส.ว.สกลนคร และอดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2
5.นายประพันธ์ คูณมี อายุ 61 ปีเศษ อดีต สนช.
6.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.
7.นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปีเศษ อดีตผู้ประสานงาน พธม.
8.นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 58 ปีเศษ แนวร่วม พธม.
9.นายสำราญ รอดเพชร อายุ 60 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. รุ่นที่ 2
10.นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 57 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. รุ่นที่ 2
11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 56 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.รุ่นที่ 2
12.นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 37 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
13.นายอำนาจ พละมี อายุ 52 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
14.นายกิตติชัย ใสสะอาด อายุ 53 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
15.นายประยุทธ วีระกิตติ อายุ 63 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
16.นายสุชาติ ศรีสังข์ อายุ 58 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
17.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อายุ 61 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
18.นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี อายุ 59 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
19.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 53 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม.
20.นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 อายุ 64 ปีเศษ
21. นายวีระ สมความคิด อายุ 61 ปีเศษ นักสิทธิมนุษยชน
รายชื่อจำเลยในคดีข้างต้น ไม่ปรากฏชื่อพล.ต.จำลอง ศรีเมืองและนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เนื่องจากทั้งสองต้องติดคุกตามหมายจับคดีเคลื่อนไหวชุมนุมดาวกระจายก่อนหน้านั้น จึงไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้ชุมนุม และต่อมาคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง