เพชรลิเก...ไปอยู่บนชุดลิเกตั้งแต่เมื่อไรกัน
เฮ ... สะลามมานา .. ฮ่ะ ฮา ฮะ ฮา ลา ล้า ลัล ลา ละ ล้า ละ ลา .. ลา ล่า ลัล ลา..มาดูเรื่องเพชรลิเก...
"ตัวพระใส่ชุดเพชร ผ้าโพกหัวประดับเพชรปักขนนก ตัวนางใส่ชุดราตรีมีเพชร สวมกระบังหัว" คือภาพจำของลิเกในยุคปัจจุบันนี้ ที่ใครๆ เห็นปุ๊บก็รู้ทันทีว่านี่คือชุดลิเก
แล้วเพชรมันไปอยู่บนชุดลิเกตั้งแต่เมื่อไรกัน
ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 27 ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ชุดลิเกทั้งตัวพระและตัวนางในปัจจุบันนี้เป็นรูปแบบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้นในไทย ลิเกเป็นมหรสพยอดนิยมของคนไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีวิกลิเกเกิดขึ้นเป็นอันมาก โดยพระยาเพชรปาณีเป็นผู้จุดกระแสลิเกให้โด่งดัง คณะของพระยาเพชรปาณีนี้แสดงที่นอกกำแพงเมืองริมป้อมมหากาฬ เล่นอย่างละครรำ ตัวละครแต่งกายสวยงามเลียนแบบชุดข้าราชการ มีเพชรประดับบ้างอย่างเครื่องประดับตัวละครรำ แต่ด้วยความสวยงามน่าดูทำให้เกิดความนิยมตั้งคณะลิเกทรงเครื่องไปทั่วทั้งในและนอกพระนคร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น เพชรเทียมประดับเสื้อผ้ากลายเป็นของหายาก ทำให้ลิเกทรงเครื่องอย่างเดิมต้องสูญไป จากชุดที่แพรวพราวก็ลดลงเหลือชุดสามัญคล้ายการเล่นเพลงพื้นบ้านทั่วไป
กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ลิเกทรงเครื่องถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่รูปลักษณ์ต่างจากเดิม โดยตัวพระแต่งกายคล้ายละครรำ สวมเสื้อปักเพชร โพกศีรษะด้วยผ้าปักเพชร ประดับด้วยขนนก สนับเพลา ผ้าคาดเอว ล้วนปักเพชรทั้งสิ้น แวววับไปทั่ว ส่วนตัวนางนั้นเปลี่ยนมาสวมชุดราตรีแบบสากล ปักเพชรประดับบ้าง สมัยหลังมามีการสวมกระบังศีรษะให้สูงใหญ่ด้วย จนกลายเป็นภาพจำของลิเก
ลิเกเป็นมหรสพพื้นบ้านที่เป็นของราษฎรโดยแท้ จึงมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ง่าย ปัจจุบันเราจึงพบเห็นการแต่งกายแบบลิเกบนเวทีหมอลำ นำลิเกมาดัดแปลงในรูปของละครเวทีี หรือใช้เครื่องแต่งกายที่เข้าสมัยนิยมมากขึ้น