การขับถ่ายสไตล์ชาววัง
"ไม้แก้งก้น" เครื่องทำความสะอาดหลังขับถ่ายของสาวชาววัง (ภาพจิตรกรรมจากวัดเกาะลาน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก, สไลด์คุณเอนก นาวิกมูล)
เผย! “การขับถ่ายสไตล์ชาววัง” หรูหราและพิสดารกว่าสามัญชนอย่างไร!??
การขับถ่ายเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะต้องปฏิบัติกันอย่างลี้ลับ จึงมักไม่ใคร่มีหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องที่เล่าขานกัน
ชาววังปฏิบัติกิจนี้แตกต่างจากชาวบ้านอย่างไร ผู้คนภายนอกมักสงสัยและใคร่รู้
สำหรับชาวบ้านนั้นจะถ่ายทุกข์ตามสภาพแวดล้อมของตน เช่นผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำก็จะขับถ่ายลงในแหล่งน้ำ ส่วนผู้ที่อยู่ในเรือกสวนไร่นาก็จะถ่ายทุกข์ตามสุมทุมพุ่มไม้ตามทุ่งนา
การขับถ่ายของชาววังจะแตกต่างจากชาวบ้าน คือมีที่ทางสำหรับขับถ่ายโดยเฉพาะ อย่างเช่นการลงพระบังคนของพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะมีการใช้โถหรือส้วม สถานที่ลงพระบังคนก็น่าจะอยู่ห่างจากพระราชมนเทียรพอสมควรเพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ลงพระบังคนยังอยู่นอกพระมหามนเทียร แต่การเสด็จออกนอกพระมหามณเทียรเพื่อลงพระบังคนนั้นมีเหตุคนร้ายจะลอบปลงพระชนม์ นับแต่นั้นมาจึงโปรดให้ทำที่ลงพระบังคนให้ปลอดภัยกว่าเดิม ซึ่งก็น่าจะอยู่ภายในพระราชมณเทียร
ไม่ว่าสถานที่ลงพระบังจะอยู่ในหรือนอกพระราชมนเทียรก็ตาม แต่ก็น่าที่จะลงพระบังคนในโถลงพระบังคน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค มีอยู่หลายชิ้น คือ โถลงพระบังคน กะไหล่ทอง ใช้ธรรมดา โถลงพระบังคนทองคำเกลี้ยง ใช้ในการพิธีไม่สำคัญ โถลงพระบังคนทองคำลงยา ใช้ในพิธีการใหญ่ เมื่อทรงลงพระบังคนแล้วก็จะมีพนักงานนำไปจำเริญ
ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในไทยนั้น ก็มีวัฒนธรรมการขับถ่ายเข้ามาด้วย เริ่มตั้งแต่ลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นโถกระเบื้องเคลือบชนิดหนา ลักษณะเป็นโถปากกว้างมีหูจับ
ห้องสรงในพระที่นั่งวิมานเมฆ ภายในประดับด้วยโต๊ะเครื่องพระสำอาง อ่างล้างหน้า และฝักบัว จัดได้ว่าเป็นห้องสรงที่ทันสมัยที่สุด (ภาพจากประมวลภาพวังและตำหนัก, บริษัทไตรสตาร์ พับบลิชชิ่ง จำกัด)
จากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นนั้นก็ทรงใช้วัฒนธรรมการขับถ่ายตามแบบยุโรป คือ ใช้ส้วมชักโครก ยังคงใช้โถเคลือบ โดยมีเจ้าพนักงานนำไปทิ้งตามแบบเดิม
ในส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในบางพระองค์ ถ้าไม่ทรงถ่ายใส่โถ ก็จะโปรดให้ขุดหลุมไว้ใต้ถุนพระตำหนัก และใส่ถังไว้ในหลุมทำเป็นห้องถ่ายทุกข์ส่วนพระองค์ ตอนเช้ามืดจะมีจีนมาเก็บถังนั้นไปทิ้งแต่เช้า สำหรับการถ่ายทุกข์ของเจ้านายเด็ก ๆ นั้นไม่สู้มีปัญหา เพราะใช้วิธีการนั่งโถถ่าย แล้วจึงให้ข้าหลวงนำไปทิ้ง
การถ่ายทุกข์ของข้าราชสำนักฝ่ายในหรือชาววังทั่วไปนั้น จะเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทุกข์รวม เป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า “อุโมงค์”
(ประตูศรีสุดาวงศ์ แต่ก่อนด้านในประตูนั้นคือ “อุโมงค์” สถานที่สำหรับถ่ายทุกข์ของชาววัง)
อุปกรณ์สำคัญสำหรับการถ่ายทุกข์แต่ละครั้งในสมัยโบราณเรียกว่าเครื่องชำระ น่าจะเป็นไปได้ที่ว่าเดิมเจ้านายคงจะใช้กระดาษธรรมดาหรือใช้น้ำชำระล้าง จนเมื่อเรารับวัฒนธรรมการขับถ่ายจากยุโรปเข้ามา อาจเปลี่ยนจากกระดาษธรรมดาเป็นกระดาษชำระโดยเฉพาะ
ส่วนเครื่องทำความสะอาดหลังขับถ่ายของสาวชาววังทั่ว ๆ ไป นั้นจะมีไม้ที่เรียกว่า “แก้งก้น” (แก้ง แปลว่าทำให้สะอาดหมดจด) ลักษณะแก้งเป็นไม้ซีกขนาดเล็ก ๆ จักหรือเหลากล่อมเกลาจนกลมมนไม่มีเสี้ยน เอาเชือกผูกไว้เป็นกำ กำละ 5 อัน ราคากำละโสฬส ก่อนเข้าอุโมงค์ก็จะซื้อไม้แก้งก้นเข้าไปคนละกำ บางคนที่ไม่ซื้อไม้แก้งก้นก็จะหาใบไม้ กิ่งไม้ หรือกาบมะพร้าว ติดมือเข้าไปด้วย
(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “การขับถ่ายของชาววัง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2548)