รู้หรือไม่ มีแต่เมืองไทยที่ “ห้ามกินไก่” เวลาเป็นเกาต์
ทางเพจ Drama-addict สรุปคร่าวว่า ......
กรดยูริคที่ว่ามันมาจากการสลายตัวของ "พิวรีน" ซึ่งเป็นสารตัวนึงที่พบในอาหารต่างๆ ในคนที่เป็นโรคเก้าท์ จริงๆแล้วพวกอาหารจากภายนอกมีผลค่อนข้างน้อย ส่วนมากไอ้ที่ทำให้เกิดอาการจะเป็นกรดยูริคที่ร่างกายสร้างขึ้นเองมากกว่า ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดยูริคสูงมันมีหลายสาเหตุ เช่น
ความอ้วน มีโรคไขมันในเลือดสูง ความดันสูง กินเหล้าเบียร์บ่อยๆ โรคบางอย่าง เช่นไตมีปัญหาขับกรดยูริคออกจากร่างกายไม่ได้ ยาบางชนิดก็ทำให้กรดยูริคในเลือดขึ้นสูงได้ ส่วนอาหารการกิน ก็มีผลบ้างแต่ไม่เยอะมาก
------------------
ส่วนรายละเอียดทั้งหมดของทางเพจ BrandThink
รู้หรือไม่ มีแต่เมืองไทยที่ “ห้ามกินไก่” เวลาเป็นเกาต์
.
เราคงเคยได้ยิน “โรคเกาต์” กันมาบ้างนะครับ แม้ว่าจะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร และเราก็คงจะเคยได้ยินเช่นกันว่าคนเป็น “โรคเกาต์” นั้นควร “งดกินไก่” และไปค้นในเว็บด้านสุขภาพของเมืองไทยหลาย ๆ เว็บ เราก็น่าจะได้รับคำแนะนำแบบเดียวกัน
.
แต่รู้ไหมครับว่าถ้าเป็นในต่างประเทศ ไม่มีใครเขาแนะนำว่าคนเป็นโรคเกาต์ควรจะ “งดกินไก่” ไปลองสืบค้นได้เลยในเว็บของต่างประเทศต่าง ๆ ไม่น่าจะมีเว็บใดเลยที่จะแนะนำว่าคนที่เป็นเกาต์ควรจะงดกินเนื้อไก่อย่างเฉพาะเจาะจง
.
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? หรือจริง ๆ นี่คือความเข้าใจผิดอย่างใหญ่โตของคนไทยในวงกว้าง?
.
ต้องกลับไปดูก่อนครับว่าโรคเกาต์คืออะไร
.
โรคเกาต์คือโรคไขข้ออักเสบที่เกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริก (Uric Acid) ในกระแสเลือด ซึ่งสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะแบบนี้หลัก ๆ ก็คือการมีกรดยูริกในเลือดสูงมากไปจนตกตะกอน
.
จริง ๆ ร่างกายเราสามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ทางฉี่อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ ความสามารถในการขับกรดยูริกแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และเกิดจากหลายปัจจัยมาก ๆ ตั้งแต่พันธุกรรม โรคประจำตัว ฯลฯ ดังนั้นคำแนะนำทั่วไปสำหรับคนที่จะเลี่ยงโรคเกาต์ หรือคนที่เป็นเกาต์อยู่แล้ว จึงเป็นการควบคุมการรับกรดยูริกเข้าไปของร่างกาย หรือพูดง่าย ๆ คือการลดละเลิกอาหารที่ “ยูริกสูง”
.
แล้วอาหารอะไรที่ยูริกสูง? ถ้าลองไปค้นเราจะพบว่า ไม่มีอาหารใดเลยที่มี กรดยูริกเป็นส่วนประกอบ
.
อ้าว แล้วกรดยูริกมาจากไหน?
.
คำตอบง่าย ๆ คือมันเกิดจากสารชื่อ พิวรีน (Purine) ที่อยู่ในอาหารแทบทุกอย่าง เมื่อร่างกายรับพิวรีนเข้าไป ร่างกายก็จะเอาไปย่อยสลาย และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ กรดยูริก
.
ดังนั้นในทางปฏิบัติ ถ้าอยากดูว่าอาหารอะไร “ยูริกสูง” ให้ดูว่าอาหารอะไรที่ “พิวรีนสูง” และนี่เป็นสิ่งที่เราค้นในอินเทอร์เน็ตได้ง่ายพอ ๆ กับค้นว่าอาหารอะไรให้พลังงานกับเราเท่าไร เรียกได้ว่ามีทั่วอินเทอร์เน็ตครับ หาไม่ยาก (ค้น Google ว่า “purine comparison chart” ก็เจอครับ)
.
มาถึงตรงนี้ ถ้าเรามาดูค่าพิวรีนในเนื้อไก่ เราก็จะพบทันทีว่าค่าพิวรีนในเนื้อไก่นั้นอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น พอ ๆ กับเนื้อแดงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อเป็ด เนื้อกุ้ง ฯลฯ พูดอีกแบบคือกินเนื้อสัตว์เหล่านี้ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน 1 ขีด ร่างกายรับเข้าไปมันจะเกิดกรดยูริกในกระแสเลือดประมาณ 100-150 มิลลิกรัม
.
พูดง่าย ๆ คือไม่ว่าจะกินไก่ หมู เนื้อวัว เนื้อเป็ด เนื้อกุ้ง ฯลฯ เราก็รับพิวรีนไปพอ ๆ กันนั่นแหละครับ นี่คือวิทยาศาสตร์พื้น ๆ และเป็นเหตุผลให้โดยทั่วไปในต่างประเทศถ้าเขาจะระบุอาหารที่คนเป็นเกาต์ไม่ควรกิน เขาจะบอกว่าให้งด “เนื้อแดง” โดยรวม ๆ เลย ไม่ใช่แค่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเนื้ออะไร กินเข้าไปมันก็ไปเพิ่มกรดยูริกในกระแสเลือดพอ ๆ กัน การเลี่ยงไก่แล้วหันไปกินหมูกินเนื้อแทนมันไม่ได้ช่วยเลย
.
แต่จริง ๆ ในต่างประเทศ เขาก็ไม่นิยมให้งด “เนื้อแดง” ไปเลย แต่ให้กินในปริมาณที่พอเหมาะพอ เพราะอาหารพวกนี้มีสารพิวรีนอยู่ได้แค่ระดับปานกลางเท่านั้น มันสามารถควบคุมปริมาณได้ และในทางปฏิบัติถ้าจะจริงจังถึงขนาดงดกินเนื้อสัตว์ที่มีพิวรีนปานกลาง ผลก็คือจะแทบกินเนื้อสัตว์อะไรไม่ได้เลย ต้องไปรับโปรตีนที่จำเป็นจากพืชแทน ซึ่งนั่นเป็นทางออกที่สุดขั้วเกินไปสำหรับคนทั่วไป
.
...มาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่าถ้า เป็ด ไก่ หมู เนื้อ นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นอาหารที่ “ยูริกสูง” แล้วอาหารอะไรทำให้ “ยูริกสูง”
.
ถ้าจะพูดให้สั้นและง่ายที่สุด บรรดาอาหารที่ยูริกสูงสุดแน่ ๆ ก็น่าจะเเป็น เครื่องใน แทบทุกชนิดของสัตว์ เพราะเครื่องในสัตว์แต่ละชนิด มีค่าพิวรีนมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดเดียวกันประมาณ 3-4 เท่า ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น เนื้อหมู 1 ขีด จะสร้างกรดยูริกในกระแสเลือดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม แต่หากเป็นหัวใจหมูกับตับหมู 1 ขีด จะสร้างกรดยูริกในกระแสเลือดเกิน 500 มิลลิกรัมเลยทีเดียว
.
ดังนั้นการบอกว่า “คนเป็นเกาต์ควรจะเลี่ยงเครื่องใน” อันนี้ถูกต้องในภาพรวมแน่นอน แต่ไม่ใช่แค่เครื่องในไก่เท่านั้น เครื่องในหมู เครื่องในวัว เครื่องในเป็ดก็ควรจะเลี่ยงหมด
.
นอกจากเครื่องใน เนื้อปลาบางชนิด เช่น ปลาซาร์ดีนและปลาทูน่า ก็มีค่าพิวรีนสูงกว่าบรรดา “เนื้อแดง” ของสัตว์บกที่กล่าวมาเป็นเท่าตัว และนี่เป็นสาเหตุให้ในต่างประเทศ อาหารที่เขาแนะนำให้คนเป็นเกาต์ควรเลี่ยงก็คือ “ปลากระป๋อง” (ปลาซาร์ดีนในน้ำมัน 1 ขีด ทำให้เกิดกรดยูริกในกระแสเลือดพอ ๆ กับตับหมู 1 ขีด ซึ่งถือว่าแทบจะเยอะสุดในบรรดาอาหารที่มนุษย์กิน ๆ กันแล้ว)
.
สุดท้าย สิ่งที่คนเป็นเกาต์ควรเลี่ยงจริง ๆ แบบทุกสำนักก็บอกเหมือนกันหมดก็คือ พวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตรงนี้จะซับซ้อนหน่อย เพราะเอาจริง ๆ การกินเบียร์ 1 ลิตรมันทำให้ร่างกายสร้างกดยูริกประมาณกินเนื้อแดง 1 ขีดเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ ไม่เยอะ แต่ประเด็นคือ มันไม่ใช่อาหารไงครับ การกินเข้าไปเท่ากับเพิ่มกรดยูริกที่เยอะเกิน (ยังไม่นับว่าคนกินอย่างไม่บันยะบันยังก็ไม่ได้จบแค่ลิตรเดียว) นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ยังทำให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางฉี่ได้น้อยลงอีก ดังนั้นมันเลยเป็นสิ่งที่เขาแนะนำกันว่าควรเลี่ยงถ้าไม่ต้องการให้กรดยูริกในเลือดสูง
.
...อ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่าแล้วความเชื่อของคนไทยที่คนเป็นเกาต์ควรจะ “งดไก่” นั้นโผล่มาได้อย่างไร? อาจหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ แต่ถ้าให้เดาก็อาจเป็นปัจจัยเชิงพฤติกรรมที่ว่า ในอดีตเนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ราคาถูกที่สุด คนเลยมีแนวโน้มจะกินในปริมาณมาก ไก่เลยตกเป็นจำเลยสำคัญในเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ในทางวิทยาศาสตร์ คนกินไก่ในปริมาณที่พอเหมาะจะเสี่ยงเกาต์น้อยกว่าคนที่ไม่กินไก่เลยแต่ชอบกินหมูกะทะบุฟเฟต์ หรือชอบกินพวกต้มเครื่องในด้วยซ้ำ
.
ทั้งนี้ ที่เขียนมาทั้งหมด เราไม่ได้พยายามจะบอกว่ากินไก่แล้วจะไม่เป็นเกาต์นะครับ ไก่เป็นอาหารที่สร้างกรดยูริกปานกลางก็จริง แต่กินไปเยอะ ๆ มันก็ทำให้กรดยูริกสูงได้ ประเด็นคือถ้าดูตามสารพิวรีนที่กินเข้าไปมันจะเพิ่มความเสี่ยงเกาต์แล้วเนี่ย ไก่มันแทบไม่ได้ต่างจากหมู เนื้อ เป็ด กุ้ง หรือกระทั่งเนื้อปลาส่วนใหญ่เลย ดังนั้นถ้าจะเลี่ยงควรเลี่ยงหมด ไม่ใช่เลี่ยงแค่ไก่ แต่ไปหนักอย่างอื่น แบบนั้นมันไม่ได้ลดความเสี่ยงเลยครับ
.
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/2258965364429003
https://www.facebook.com/DramaAdd/photos/a.411063588290/10157122952468291/?type=3&__xts__[0]=68.ARCcgvjjb0amCeTfZ4KWp-gu0SuwfO3ytAzfTvJ4ihZiqC5CFvD72BXNinI-phycRa9-mXdxOYU9riNU8AZff8pRmghfTcIKhPy7uvXh7tQGV8E5iDeXnQ5D5aEYa_peV6TWNpXIchm5-cEdrQgZPbR-kez1qt6YCuWnwMmtX93ZIjo_yq4VOTZNcBqGoKr1Ge14nDPhjT502i6j6_1BQwaLrHcBVBKyaXBU0AJMTB4nKcPMxrd_3pKTMeFPAwu_mM72aQg2vcBypoJN0IYXnv9WscAbL9n1fZNSFKqD-DjSv1A3wwchCQ2VLshwofUP4C9sPBjniXrAbAcR7N6jYTpBe9s99tIw17YoMUoPhTo-wtHwOsjT7p1K8_q9jG62y8h89BBs4YL8c2wDUBoNq9fRNZk6GO45xgVcnsVzv5p4AB5fn-mrLoLs_ws6xwZy62JxnBXbnDc6N4Hpy2z-TqnjIcIcLwntJA&__tn__=H-R-R