กกพ.อนุมัติ 50 ล้าน ศึกษา SEA โรงไฟฟ้าใต้ พุ่งเป้า 15 จังหวัด-หาคำตอบผุด ‘กระบี่-เทพา’
กกพ.อนุมัติงบ 50 ล้าน จ้างที่ปรึกษาทำ SEA โรงไฟฟ้าภาคใต้ภายใน 9 เดือน เปิดแจงเงื่อนไขประมูล 14 ก.ย.นี้ หาคำตอบผุดโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ให้ได้ใน 5 เดือนแรก
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาประเมินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) และรับข้อเสนอโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ กรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ในวันที่ 14 ก.ย.2561 ทางกระทรวงพลังงานจะเปิดชี้แจงทีโออาร์ และจากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอเข้าร่วมโครงการมายังกระทรวงพลังงาน ภายใน 3 สัปดาห์ หรือระหว่างวันที่ 17 ก.ย. – 5 ต.ค. 2561
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ยื่นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร จะสามารถพิจารณาผู้ได้รับการคัดเลือกมาศึกษาโครงการพร้อมกับทำประชาพิจารณ์รอบด้าน ในพื้นที่เป้าหมายศึกษา 15 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลการศึกษาภายในระยะเวลา 9 เดือน หรือเดือน ส.ค. 2562 ยกเว้นพื้นที่กระบี่และเทพาที่ต้องสรุปก่อนภายในเดือน เม.ย. 2562 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
น.ส.นันธิกา กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีความกังวลในเวลานี้คือเกรงว่าจะไม่มีผู้เข้ายื่นประมูล เพราะการศึกษา SEA เป็นเรื่องใหม่ และมีความซับซ้อนมากกว่าการศึกษา EHIA ที่จะต้องประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ซึ่งต้องศึกษาทุกมิติอย่างรอบด้าน ไม่ว่าด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องสอดรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และยุทธศาสตร์ชาติด้วย” น.ส.นันธิกา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ SEA จะเป็นบรรทัดฐานที่จะนำไปใช้กับทุกโครงการ และทุกมิติอย่างจริงจัง ทั้งยังมีกระบวนการมีส่วนร่วมมากกว่า EHIA ฉะนั้นในช่วงระยะเวลา 9 เดือนตามที่กำหนดจะต้องศึกษาถึงความจำเป็นต่อปริมาณถ่านหิน แนวทางการสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงานและ PDP โดยใน 5 เดือนแรกนั้นต้องมีคำตอบสำหรับกระบี่และเทพาว่า ในพื้นที่ภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าฐานเพิ่มหรือไม่ หากจำเป็นต้องมีจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าทางเลือกอื่น
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วมชี้แจงเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการได้กำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอโครงการให้มีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดเริ่มต้นการคลี่คลายสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างรอบคอบ โดยจะยึดหลักดำเนินการด้วยความเป็นกลาง ตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ และจะวางกรอบการดำเนินงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ระยะยาว ซึ่งจะยึดหลักให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะกรรมการ
แหล่งที่มา:greennews