ชาว ‘มวกเหล็ก’ ร้องกกพ.ค้าน EHIA โรงไฟฟ้า ชี้รายงานบกพร่อง-หวั่นกระทบแหล่งน้ำนมดิบ
ชาวมวกเหล็กรวมตัวยื่นหนังสือ กกพ. ค้าน EHIA โรงไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ ชี้รายงานศึกษาบกพร่อง-ขาดส่วนร่วม หวั่นกระทบแหล่งน้ำนมดิบสำคัญของประเทศ
ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมด้วยชมรมกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก เข้ายื่นข้อคัดค้านต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ให้ยุติการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาต โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 150 เมกะวัตต์ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าในรายงานฯ มีข้อบกพร่องของข้อมูลซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการหลายประเด็น
ทั้งนี้ ทางกลุ่มระบุว่า รายงานฯ ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2560 แต่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่รายงานจะเข้าสู่การพิจารณาของ คชก. ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากกลับไม่ได้รับทราบข้อมูล และไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในระหว่างการจัดทำรายงานฯ จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค. 2561 หน่วยงานอนุมัติอนุญาตได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่จึงเริ่มรับรู้ว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จึงได้รวมตัวกันแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากว่าโครงการฯ ตั้งอยู่ใน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เกรงกลัวว่าจะได้ผลกระทบจากมลพิษที่ปนเปื้อน อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจของชุมชนก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันยังได้ส่งข้อห่วงกังวลและข้อสังเกตต่อความบกพร่องของรายงาน EHIA รวมทั้งสิ้น 6 ข้อ ต่อ กกพ. ประกอบด้วย 1.การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริง
2.การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันนำมาสู่การล่มสลายและการสูญเสียอาชีพของประชาชนในพื้นที่ 3.ไม่มีการศึกษาถึงการรับสัมผัสต่อมลพิษและสิ่งคุกคามสุขภาพ 4.ไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่เฉพาะเจาะจงหรือมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางเช่น เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ 5.EHIA ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประชาชนและชุมชน 6.ข้อมูลใน EHIA ที่นำมาอ้างเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
ภายในวันเดียวกันยังได้มีการจัดงานเสวนา “EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” โดยชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง พญ.ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า การประเมิน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กที่ไม่ครอบคลุม และก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว ย่อมจะส่งผลต่อภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อศูนย์กลางโคนมและแหล่งน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 1,200 ครัวเรือน สามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละกว่า 700 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท และนอกจากนี้ยังมีสหกรณ์โคนมของภาคเอกชนอื่นอีกหลายสิบแห่ง ซึ่งรวมรายได้ของธุรกิจโคนมมวกเหล็กกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้เศรษฐกิจของมวกเหล็กยังคงพึ่งพาทรัพยากร ทั้งด้านเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยว” พญ.ศิรดา กล่าว
นายสุวิทย์ ธรรมมงคล ตัวแทนเครือข่ายโคนม กล่าวว่า เฉพาะใน อ.มวกเหล็ก ได้มีการผลิตน้ำนมเพื่อป้อนให้กับประชาชนมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ โดยจะมีการรวบรวมผ่านสหกรณ์ต่างๆ เพื่อนำไปผลิตนม ซึ่งทุกยี่ห้อที่เห็นอยู่ในท้องตลาดนั้น ล้วนมีส่วนประกอบของน้ำนมที่มาจากอำเภอนี้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ธุรกิจโคนยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากอาหารของโคนมคือพืชเกษตรต่างๆ หลายคนจึงกำลังกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจมาส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนในพื้นที่
“ปัจจุบันเราก็มีทางเลือกผลิตไฟฟ้าอื่นๆ ที่ทำอยู่ เช่น ไบโอแก๊ส เอามูลสัตว์มาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน เป็นต้น ดังนั้นเรามีทางเลือกที่เพียงพอใช้ในครัวเรือนอยู่แล้ว และยืนยันว่า EHIA นั้นยังศึกษาไม่ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในสารพิษสำคัญที่อาจเกิดขึ้นคือไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอันตราย และสามารถปนเปื้อนไปในน้ำนมได้ นั่นเท่ากับว่าเราอาจส่งสารก่อมะเร็งนี้ไปทั่วประเทศได้ในอนาคต จึงอยากให้มีการศึกษาผลกระทบถี่ถ้วนกว่านี้” นายสุวิทย์ กล่าว
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การที่ EHIA โครงการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ อาทิ ผู้เลี้ยงโคนม และเกษตรอินทรีย์ สะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการจัดทำและพิจารณา EHIA การตีกรอบผู้มีส่วนได้เสียแค่ 5 กิโลเมตร นั้นไม่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ด้วยมลพิษที่ปลดปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเคลื่อนที่ไปกับอากาศ และอาจตกสะสมเกินรัศมี 5 กิโลเมตรได้ แม้จะยังไม่มีกฎหมายกำหนดไว้สำหรับประเทศไทย แต่ผลกระทบมีอยู่จริงและมีงานศึกษาวิจัยที่ EHIA ควรนำมาใช้ในการประเมินและประกันความเสี่ยง
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กกำหนดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินราว 6 ล้านตันต่อปี และมีการระบุทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่มาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย หาก กกพ.จะยังคงพิจารณาอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่กระบวนการ EHIA ของโครงการดังกล่าวไม่ชอบธรรม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่ำกว่ามาตรฐานตั้งแต่ต้น จะถือเป็นความล้มเหลวขั้นสูงสุดของการจัดการพลังงานของประเทศไทย
แหล่งที่มา:greennews