พะยูง... ไม้สูงค่าราคาแพง
ปัจจุบันสถานการณ์การลักลอบการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทยนับได้ว่าเข้าขั้นรุนแรงจนถึงวิกฤต โดยเฉพาะ “ไม้พะยูง” ซึ่งพบว่ามีการลักลอบตัดและมีการจับกุมกันบ่อย โดยระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาไม้ดังกล่าวมีราคาสูงมากและพบว่ามีกลุ่มนายทุนจากต่างชาติเข้ามาสร้างเครือข่ายตัดไม้พะยูง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย
พะยูง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia cochinchinensis เป็นต้นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาสูงอย่างหนึ่งและมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ ขะยุง, พยุง, แดงจีน และประดู่เสน ธรรมชาติของพะยูง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15-20 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ลักษณะคล้ายใบประดู่ ดอกขนาดเล็ก กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสีขาวหรือเหลืองอ่อนตามง่ามใบและตามปลายกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแบบบางตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้ที่มีสีสันและลวดลายสวยงาม มีความละเอียด สีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เหนียวแข็งทนทานและชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัวจึงมักใช้ทำเครื่อง ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรีอย่างเช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด และแม้แต่ ช้อน ส้อม
เวลานี้จึงถือว่าพะยูงเป็นไม้ที่ราคาแพงมากที่สุดในโลกและแพงกว่าไม้สัก (ซึ่งคิดเป็น ลบ.ม.ละ 2.5-3 แสนบาท ขนาดแค่ชี้จุด ก็ได้ต้นละ 5 พันบาทแล้ว) เนื่องจากความเชื่อว่าไม้พะยูงเป็นของสูง ผู้ที่มีบารมีไม่ถึงไม่สมควรเอามาใช้ เพราะจะมีปัญหาภายหลัง (ยกเว้นเอามาทำเป็นหิ้งพระ) ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงไม่นิยมนำไม้พะยูงมาทำเป็นไม้กระดาน บันไดบ้าน และเตียงนอน ใช้เพียงแต่ทำรั้วบ้านเท่านั้น จึงเป็นเป็นคำถามคาใจสำหรับประชาชนทุกท่าน ว่า “เหตุใดไม้พะยูงถึงเป็นที่ต้องการมากมายขนาดนี้”
"ราคาในเมืองไทยมันไม่แพงหรอก แต่ถ้าส่งออกไปต่างประเทศเนี่ย แต่ก่อนเขาขายกันเป็นคิว คิวละ 3 - 4 แสน แต่ปัจจุบัน เศษเล็กเศษน้อยเขาก็ขายกัน เขาขายกันเป็นกิโลกรัมแล้ว กิโลนึงนี่ประมาณ 3,000" นายดำรงค์ พิเดช ที่ปรึกษาฝ่ายสังคมจิตวิทยา ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวกับทีมข่าวมติชน ที่สำคัญคือเคยเป็น อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เคยต่อสู้เรื่องป่าไม้ และสิ่งเเวดล้อมมายาวนาน
จากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุหลักคือ ความนิยมของต่างชาติโดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนาม เนื่องจากต้องการไม้พะยูงไปซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยเฉพาะจากการนำเข้าไม้ชนิดนี้ไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการโอลิมปิกครั้งที่ 29 ที่ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.2551 ต่อมามีความนิยมนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ปัจจุบันไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงอย่างมาก จึงเปลี่ยนไปทำวัตถุมงคล หรือของแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ เช่น ปี่เซียะเทพเจ้า ฮก ลก ซิ่วแทน
ทีนี้ก็พอเข้าใจกันบ้างแล้ว ว่าทำไมถึงขโมยตัดกันบ่อยนัก ก็เพราะมันคุ้มที่จะเสี่ยงนั่นแหละ…..