ตั้งแต่เรียนมา ยังไม่เคยรู้เลยว่าพู่ลูกเสือมีประโยชน์อย่างไร มีไว้ทำไม วันนี้หายสงสัยสักที
เชื่อว่าหลายคนที่เคยเรียนลูกเสือ อาจจะเคยสงสัยว่า พู่ลูกเสือ เป็นขนๆ ผูกมัดติดกับถุงเท้านั้น มีไว้ทำไม และมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเฟสบุ๊คที่มีชื่อว่า ณัฏฐภัทร ภูวนารถ กังสดาลมณีชัย ก็ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า
สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า... Garter
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ ๓ กษัตริย์แห่งราชวงศ์แพลนทาเจเน็ต ของราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. ๑๓๒๗ ถึงปี ค.ศ. ๑๓๗๗
ผู้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) ราวปี ค.ศ. ๑๓๔๘
ในปี ค.ศ. ๑๓๔๔ ทรงมีแผนที่จะรื้อฟื้น “ระบบขุนนางโต๊ะกลม” ของพระเจ้าอาเทอร์ แต่ก็มิได้เกิดขึ้น
แต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่มีเพียง ๒๔ สำรับ สำหรับพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น มีพื้นฐานมาจากตำนานโดยการใช้สัญลักษณ์วงกลมของการ์เตอร์
นักประวัติศาสตร์อังกฤษโพลิดอร์ เวอร์จิล (Polydore Vergil) กล่าวถึงที่มาว่า โจนแห่งเค้นท์ (Joan of Kent) เคานเทสแห่งซอลสบรี—พระสนมคนโปรดขณะนั้น—ทำสายรัดถุงเท้า (Garter) หลุดลงมาโดยอุบัติเหตุที่งานเลี้ยงที่คาเลส์
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงช่วยแก้หน้าจากฝูงชนที่เยาะหยันโดยทรงผูกสายรัดรอบพระเพลาของพระองค์เอง
ต่อมาได้ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ขึ้นเป็นเครื่องราชอิสริยภรณ์ชั้นสูงสุดของอังกฤษ จึงให้มีรูปสายรัดถุงเท้าที่มีคำจารึกว่า “honi soit qui mal y pense”—ความละอายใจจงเป็นของผู้คิดมิดี
การแต่งกายของผู้ชายที่เป็นขุนนางและอัศวิน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ ต้องใส่ถุงน่องยาวแบบผู้หญิงด้วย จึงต้องมีเชือกผูกกันถุงน่องรูด ผูกแล้วก็ทิ้งชายลงมาห้อยไว้เหมือนเป็นพู่
ที่จริงมันก็คือ ปลายเชือกไหม ที่เหลือแล้วมันแตกเกลียวมาเป็นพู่ๆ น่ะครับ....
บี.-พี. ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกท่านเป็นขุนนางชั้นอัศวิน เครื่องแบบลูกเสือท่านจึงได้คิดให้ใช้ถุงเท้ายาว จึงต้องผูกเชือกกันถุงเท้ารูดลงมา คติถุงเท้ายาวนี่เพื่อให้ลูกเสือคำนึงถึงว่า........
“การเป็นลูกเสือ คือ การเป็นผู้มีเกียรติ”
ต่อมา เมื่อมีการผลิตถุงเท้าที่มีแถบยางยืดได้ Garter ก็กลายรูปไปด้วยวิธีผลิต ดังที่เห็นทุกวันนี้ .