ประโยชน์ดีๆและสรรพคุณของ “กระถิน”
ที่มาของกระถิน
กระถิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucaena leucocephala จัดอยู่ในวงศ์ Leguminosae มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง ถูกนำเข้าปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักก้านถิน (สมุทรสงครามและเชียงใหม่), สะตอเทศ สะตอบ้าน ตอเบา (ภาคใต้) เป็นต้น
กระถินสามารถนำยอด ฝักอ่อนมารับประทานได้ นอกจากนี้ยังใช้ผสมในอาหารสัตว์ ลำต้นนำมาเป็นเชื้อเพลิงก็ได้อีกด้วย กระถินเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีมากในทุกสภาพอากาศ ทนต่อโรค แมลงและทนอากาศแห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยเมล็ดที่มีอยู่จำนวนมากในฝัก จึงมักพบเห็นกระถินได้ในทุกสภาพพื้นที่ทั่วประเทศไทย เนื่องจากไม่ใช่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นตั้งแต่แรก ประกอบกับเติบโตได้เร็วและปลูกแซมร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ได้กระถินจึงจัดเป็นพืชที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์หนึ่งที่มีการรุกรานอย่างร้ายแรง 1 ใน 100 สายพันธุ์ของโลก ในประเทศไทยพบการระบาดในระดับปานกลางถึงระดับต่ำในป่าแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นป่าที่ถูกทำลาย ป่าแห้งแล้งไปจนถึงป่าดิบชื้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก รากมีทั้งรากแก้ว รากแขนงและรากฝอย ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนได้แบบพืชตระกูลถั่วทั่วไป ที่รากฝอยมีเชื้อราชนิดหนึ่งที่ช่วยให้กระถินดูดซึมแร่ธาตุอาหารต่างๆ ได้ดีขึ้น
ดอก ดอกออกเป็นช่อ มีลักษณะเป็นกระจุกกลมๆ เกสรเรียงแน่นติดกัน ก้านช่อดอกยาว ในระยะแรกๆ ดอกจะเป็นสีขาวนวล เมื่อดอกแก่สีจะออกเหลืองและร่วงหลังผสมเกสรได้ไม่นาน
ลำต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง อายุยืนได้หลายปี สูงได้ตั้งแต่ 3-10 เมตร ถ้าเป็นกระถินพื้นเมืองธรรมดา กิ่งก้านจะแตกหนาเป็นพุ่ม แต่ถ้าเป็นกระถินยักษ์ทรงพุ่มจะโปร่งมากกว่า เปลือกลำต้นค่อนข้างบาง มีสีเทา สากเล็กน้อย เนื้อไม้ด้านในสีเหลืองอ่อน มีรอยแผลตลอดลำต้นจากกิ่งก้านที่หลุดร่วงไปแล้ว
ผล มีลักษณะเป็นฝักแบนๆและบาง ด้านในฝักมีเมล็ดประมาณ 15-30 เมล็ดต่อฝัก ฝักอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ฝักแก่เขียวเข้มและเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อฝักแห้งและจะแตกออกเป็นสองแผ่นตามความยาวฝัก
เมล็ด เมล็ดอ่อนจะแบนและมีสีเขียวสดสามารถรับประทานได้ รสชาติออกมัน มีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย ส่วนเมล็ดแก่นูนเล็กน้อย มีสีน้ำตาล
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบแขนงประมาณ 3-19 คู่แตกมาจากแกนกลางใบหลักโดยเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ส่วนใบแขนงก็มีใบย่อยราวๆ 5-20 คู่อยู่ตรงข้ามกันเช่นกัน ใบย่อยมีลักษณะขอบใบมนมีขน ใบเรียวยาวคล้ายหอก ปลายใบแหลมเล็กน้อย สามารถแตกใบได้ตลอดทั้งแต่ช่วงฤดูแล้งใบจะน้อยกว่าฤดูอื่นๆ
10 สรรพคุณ และ ประโยชน์
1. กระถินอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน เริ่มจากยอดอ่อนของกระถินมีฟอสฟอรัสสูงช่วยบำรุงกระดูกและฟัน วิตามินเอสูงช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคความดันโลหิตสูง บำรุงหัวใจ ลดอาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร
2. ฝักของกระถินมีสรรพคุณรักษาโรคท้องร่วงได้
3. เมล็ด (แก่)ของกระถินมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม ช่วยให้นอนหลับ บำรุงตับและไต รวมทั้งช่วยขับลมและขับระดูในสตรีได้อีกด้วย
4. กระถินนำมาเป็นอาหารได้ โดยนำยอดอ่อนและฝักอ่อนมารับประทานเป็นผักสดคู่กับอาหารต่างๆ
5. ส่วนประกอบบางส่วนของกระถินมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
6. ลำต้นของกระถินนำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้หุงต้มในครัวเรือน
7. ใบ ยอดและฝักของกระถินนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ หรือสามารถบดผสมอาหารสัตว์สำเร็จรูปก็ได้เช่นกัน แต่ต้องระมัดระวังสาร leucenine ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์กระเพราะเดียว หากเป็นสัตว์เคี้ยวเอี้ยวมีหลายกระเพราะเช่น วัว ควาย จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
8. กระถินมีไนโตรเจนและโพแทสเซียมอยู่ในปริมาณมาก สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักได้เป็นอย่างดี
9. กระถินสามารถปลูกเป็นแนวรั้วธรรมชาติได้ เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดี ดูแลรักษาไม่ยาก ปลูกเป็นแนวรอบๆ บ้าน ช่วยป้องกันลมและแสงแดดได้
10. เปลือกกระถินสามารถนำมาสกัดสีใช้ย้อมผ้าหรือเส้นไหมได้ ซึ่งจะได้สีน้ำตาล
กระถินทำอะไรได้บ้าง?
กระถินนิยมนำฝักและยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสดเคียงอาหารอื่นๆ เช่น น้ำพริก ส้มตำ ขนมจีนหรือรับประทานคู่กับหอยนางรม ซึ่งกระถินที่นิยมนำมารับประทานคือกระถินบ้าน ถ้าเป็นกระถินยักษ์จะไม่อร่อย
กระถินมีโทษต่อร่างกายอย่างไร?
จากการทดสอบพิษในกระถินพบว่าที่ใบของกระถินมีสารชนิดหนึ่งคือ leucenine ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์ที่มีกระเพาะเดียว หากได้รับมากเกินไปจะทำให้เป็นหมันและขนร่วงแต่ไม่มีรายงานว่าคนได้รับผลกระทบจากพิษของ leucenineในกระถิน
วิธีเลือกซื้อ และเก็บรักษากระถิน
การเลือกกระถินควรเลือกกระถินที่เก็บใหม่ๆ ยอดไม่เน่า ไม่เหี่ยวดำ ฝักอ่อนสีเขียวสด ส่วนการเก็บรักษากระถินให้คงความสดได้นานๆนั้นคือ อย่าทำให้กระถินเปียกน้ำ แล้วนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาห่อเอาไว้แล้วใส่กล่องปิดให้สนิท เก็บเข้าตู้เย็น