ต้นกำเนิด อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ต้นยางอำเภอสารภี เชียงใหม่
ในอดีต..อำเภอสารภี ไม่ได้มีชื่อเรียกเหมือนปัจจุบัน ชื่อเดิมของอำเภอนี้คือ "ยางเนิ้ง" ซึ่งน่าจะมีเหตุมาจากต้นยางที่มีลักษณะ "เนิ้ง" หรือ "โน้ม" เข้าหากัน กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางเนิ้ง มาเป็นอำเภอสารภี ตามชื่อของดอกไม้ที่มีแพร่หลายอยู่ในอำเภอนี้ ส่วนประวัติของการปลูกต้นยางบนถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่-สารภีนั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วน ภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวง จากรัฐบาลกรุงเทพฯ มาปกครอง เชียงใหม่ในเวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง "เจ้าหลวง" เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่
โดยสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความ ดูแลของ ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า "น้ำต้อง กองต๋ำ" อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก
สำหรับการปลูกต้นยางสารภีนั้น เริ่มต้นปลูกอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการปลูกต้นยางสมัยนั้นจะเกณฑ์ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐ รวมถึงชาวบ้านที่ไม่อยากจะเป็นทหาร ให้มาปลูกต้นยางตั้งแต่บ้านหนองหอยจนมาถึงแดนเมือง โดยจะให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางคนละประมาณ ๔-๕ต้น ถ้าหากพบว่าต้นยางที่ตนรับผิดชอบตายก็จะต้องนำต้นยางมาปลูกใหม่
ต้นยางที่ปลูกบนถนนสายเชียงใหม่ - สารภีนั้น คือ "ต้นยางนา" ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นไม้สงวนประเภท ข จากบันทึกของปิแอร์ โอร์คนักเดินทางชาวเบลเยี่ยมที่เดินทาง เข้ามาในสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ ๕ และท่านได้บันทึกการเดินทางไว้ในหนังสือ "ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง" เรียบเรียงโดย พิษณุ จันทร์วิทัน กล่าวว่า "ถนนจากเชียงใหม่ไปลำพูน ซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงด้วยความชื่นชมนั้น มิได้มีสิ่งใดพิเศษ เป็นเพียงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมา ใต้ต้นไม้สูงหรือป่าไผ่มีธารน้ำไหลผ่านหลายแห่ง"