เราอยากให้คุณเห็นมลพิษทางอากาศ
บทความ โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
อะไรอยู่ในอากาศที่เราหายใจ เราทำให้มลพิษทางอากาศที่มองไม่เห็นนั้นชัดเจนมากขึ้น ที่งานนิทรรศการ Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา
มลพิษทางอากาศคือภัยที่ยากแก่การมองเห็น และสำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะไม่สังเกตถึงภัยนี้ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า มลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 1 ใน 8 ของประชากรโลก ถือเป็นวิกฤตสุขภาพที่เรากำลังเผชิญ โดยที่มีประชากรกว่า 80% ทั่วโลกที่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่กว่าระดับมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ ยังไม่เพียงเท่านั้น มลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิต จากการศึกษาของธนาคารโลก ชี้ว่ามลพิษอากาศในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี
หากตัวเลขเหล่านี้ยังน่ากลัวไม่พอ คุณรู้หรือไม่ว่าประชากรไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO
นี่คือเหตุผลที่เราอยากให้คุณเห็นมลพิษทางอากาศ
ในนิทรรศการ Right to Clean Air - the Art Exhibition ขออากาศดีคืนมานี้ ได้เผยให้เห็นถึงภัยจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ โดยศิลปินชาวไทย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ได้นำเอาฝุ่นจากหลากหลายเมืองในประเทศไทยมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ สะท้อนถึงผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 กรีนพีซมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักถึงภัยจากมลพิษทางอากาศ และเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในการคํานวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM2.5 AQI) โดยเร่งด่วน และสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทําให้อากาศดีขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน
“ในตอนนี้คนไทยยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องของระดับมลพิษในอากาศที่พวกเขาต้องสูดหายใจเข้าไป ผมอยากให้ผู้คนได้มองเห็นภัยที่มองไม่เห็นด้วยตานี้ผ่านทางผลงานศิลปะของผม สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้คนตระหนักได้ว่าอากาศที่ตนหายใจเข้าไปนั้นมีสิ่งที่อันตรายอยู่ ในบางพื้นที่ ผู้คนไม่อาจจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับสุขภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งหากพวกเราไม่สามารถเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกับเราโดยตรงได้ แล้วพวกเราจะสามารถทำอะไรในประเทศนี้ได้อีก หากอากาศที่เราหายใจเข้าไปมันสกปรก แล้วพวกเราจะใช้ชีวิตกันต่อไปได้อย่างไร ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศดีๆ” เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล กล่าว
ลองมาดูกันว่า มลพิษทางอากาศที่ถ่ายทอดออกมาผ่านทางงานศิลปะนั้นเป็นอย่างไร
ผลงาน “MEMORY” ประติกรรม รูปเด็ก แม่ และคนชราขนาดเท่าคนจริง ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากแหล่งต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิค Paper Mache เคลือบด้วยฝุ่นจากหลากหลายจังหวัดในประเทศไทย สื่อความหมายถึงอนาคตที่อาจจะโดนคุกคามจากมลพิษทางอากาศโดยไม่รู้ตัว
ผลงานอีกชิ้นที่สะท้อนถึงผลกระทบของ PM2.5 ต่อสิ่งมีชีวิตได้เป็นอย่างดีคือ งาน Monolith Souvenir ซึ่งตอกย้ำถึงความไม่เป็นธรรมที่คนในพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศต้องเผชิญ โดยมีใบไม้และต้นไม้เป็นสิ่งแทนมนุษย์ นำเสนอในรูปแบบย้อนแย้ง ชิ้นงานดูคล้าย วัสดุที่ใช้ตกแต่งบ้าน คล้ายวัสดุทางศิลปะ และดูคล้ายกับวัสดุที่อยู่ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์
ส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ในงาน Right to Clean Air- The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา ประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับฝุ่นพิษ PM2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสามารถศึกษาฝุ่นที่ศิลปินได้เก็บรวบรวมมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ว่ามีสี น้ำหนัก และลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไร
นิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนถึงผลกระทบของมลพิษจากฝุ่นละออง และการเดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เพื่อเก็บส่วนหนึ่งของฝุ่นละอองมารังสรรค์งานศิลปะในงาน
มลพิษทางอากาศคือ ภัยคุกคามที่เร่งด่วนต่อสุขภาพของคนไทย พื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือที่ สระบุรี (36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ ธนบุรี ในกรุงเทพมหานคร (31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว ส่วนพื้นที่อื่นๆที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง 25-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งหมด 14 พื้นที่ที่มีการตรวจวัดค่ามลพิษนั้นต่างมีระดับมลพิษสูงกว่าค่าจำกัดสูงสุดของ WHO ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น 9 จาก 14 พื้นที่ยังมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีแห่งชาติอีกด้วย
“คนเราไม่ควรจะต้องมาเสี่ยงกับภัยทางสุขภาพและเฝ้ารอปีแล้วปีเล่าให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพอากาศเพื่อช่วยชีวิตประชาชนคนไทยกว่าหลายหมื่นชีวิต” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
-----------
งานนิทรรศการ “Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา” จัดขึ้นวันที่ 16 ถึง 28 มกราคม 2561 นี้ ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกเหนือจากการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีการพูดคุยกันของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมลพิษในอากาศและทางแก้ไขปัญหา และกิจกรรมอื่นๆเช่นนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมลพิษในอากาศ
ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย ที่นี่
ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61012