ทำไมต้องปลูก ป่าชายเลน ???
... ปลูกป่าชายเลน เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นมรดกของลูกหลาน ...
ทั้ง Toyota , CP และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างก็พยายามร่วมกันเชิญชวนคนไทยให้มา "ปลูกป่าชายเลน" มามากกว่า 20 ปี แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ป่าชายเลน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชายฝั่งทะเล และนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า มหาศาลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
• ป่าชายเลน เป็นแหล่งพลังงาน และแหล่งวัตถุดิบ (ไม้) ใช้สอย และก่อสร้างในครัวเรือน
ไม้ป่าชายเลนที่นิยมนำมาเผาถ่านคือ ไม้โกงกาง เพราะติดไฟทนทาน ไม่มีควัน ไม่ปะทุแตกไฟ ได้ก้อนถ่านสวยงาม ขายได้ราคาดี นอกจากนี้ไม้ป่าชายเลนมีประโยชน์ใช้สอย และก่อสร้างแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็น ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง แพปลา อุปกรณ์การประมง เฟอร์นิเจอร์ ไม้หลายชนิดในป่าชายเลน เมื่อนำมาสกัดจะได้แทนนิน ใช้ทำน้ำ หมึก ทำสี ทำกาวย้อมอวน ฟอกหนัง เป็นต้น
• ป่าชายเลน เป็นแหล่งพืชผัก และพืชสมุนไพร
พืชในป่าชายเลนสามารถนำมาใช้เป็นผักพื้นบ้านจำนวนหลายชนิด เช่น ใบชะคราม ยอดเป้ง ยอดผักเบี้ยทะเล ต้นจากก็เป็นพืชป่าชายเลนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ คือ ใบนำมาทำเป็นตับมุงหลังคา ใบอ่อนสามารถนำมามวนบุหรี่ได้ น้ำจากยอดอ่อนนำมาทำน้ำตาลจากรสชาติดี ผลใช้กินเป็นของหวาน พืชในป่าชายเลนหลายชนิดนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ เช่น เหงือกปลาหมอ มะนาวผี ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผลของตะบูนขาวใช้รักษาโรคบิด และโรคท้องร่วงได้ รากตาตุ่มทะเลใช้แก้อักเสบ แก้ไข้ แก้คัน
• ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหาร ต้นน้ำ ที่สำคัญของสัตว์น้ำ
เศษซากพืช หรือเศษไม้ใบไม้ และส่วนต่างๆ ของไม้ป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงมา จะถูกย่อยสลายกลายอินทรียวัตถุ กระบวนการย่อยสลายของอินทรียวัตถุเหล่านี้จะทำให้เกิดสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน ซึ่งสาหร่าย และจุลินทรีย์ต่างๆ จะสามารถใช้เป็นอาหารได้ และจุลินทรีย์เหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนต่อไป
• ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่หลบภัย และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด
สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิดใช้ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัย และอนุบาลตัวอ่อนในบางช่วงของวงจรชีวิตของมัน เช่น ปลากะพงขาว ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากระบอก ปลาเก๋า กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยดำ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยกะพง ปูแสม และปูม้า แต่สัตว์น้ำบางชนิดยังใช้ป่าชายเลนเป็นทั้งแหล่งเกิด และอาศัยจนเติบโตสืบพันธุ์ เช่น ปูทะเล
• ป่าชายเลนช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง และใกล้เคียงโดยเฉพาะหญ้าทะเล และปะการัง
ป่าชายเลนมีบทบาทในการรักษาสมดุลของธาตุอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทะเลชายฝั่งซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง
• ป่าชายเลนช่วยป้องกันดินพังทลายชายฝั่งทะเล
รากของต้นไม้ในป่าชายเลน นอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้วยังช่วยบรรเทาความเร็วจากกระแสน้ำลง ทำให้ทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำทับถมเกิดเป็นแผ่นดินงอกใหม่ เมื่อระยะเวลานานก็จะขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดเลนอันเหมาะสมแก่การเกิดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนต่อไป
• ป่าชายเลนเป็นพื้นที่สำหรับดูดซับสิ่งปฏิกูลต่างๆ
รากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน จะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติ คอยดักกรองสิ่งปฏิกูล และสารมลพิษต่างๆ จากบนบกไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล โลหะหนักหลายชนิดเมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำ ก็จะตกตะกอนลงที่บริเวณดินเลนในป่าชายเลน นอกจากนั้นขยะ และคราบน้ำมันต่างๆ ก็จะถูกดักกรองไว้ในป่าชายเลนเช่นกัน
• ป่าชายเลนช่วยปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งจากภัยธรรมชาติ
ป่าชายเลนทำหน้าที่เหมือนปราการ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของคลื่น และลมให้ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่มีป่าชายเลน
• ป่าชายเลนเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาธรรมชาติ
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เพราะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ที่มีใบ ดอก และผลสวยงาม แปลกตา อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทั้งสัตว์น้ำ และสัตว์บก โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย ทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สำคัญยิ่ง
• ป่าชายเลนช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนทำให้อากาศสดชื่น
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ คนไทยจะหันมาใส่สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไป