โรงไฟฟ้าถ่านหินปลอดภัยจริงๆ
ตามที่มีข่าวว่า ในวันนี้ (27 พฤศจิกายน 2560) ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี และประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นี้ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเดินเท้าไปแสดงจุดยืนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (https://goo.gl/EG58x5) คณะรัฐมนตรี ไม่ควรฟังเสียง "กฎหมู่" เหล่านี้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ผู้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขอเสนอข้อมูลแย้งกับข้อมูลของเหล่ากฎหมู่ที่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และถ่วงความเจริญของชาติและประชาฃนในพื้นที่ ทำลายประโยชน์ของประชาชนคนเล็กคนน้อย
โรงไฟฟ้า Kapar อยู่ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์
เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2560 ดร.โสภณ ได้ไปเยือนโรงไฟฟ้าถ่านหิน Sultan Salahuddin Abdul Aziz Power Station เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของมาเลเซีย ตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 ตั้งอยู่ในเขตเมือง Kapar ในรัฐ Selangor การปรากฏขึ้นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้แสดงว่าไทยเรายังนำหน้ามาเลเซียในการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่แม่เมาะและกระบี่มานานแล้ว เอาแค่ที่กระบี่ก็เดินเครื่องตั้งแต่ปี 2509 แล้ว ยิ่งกว่านั้นยังเป็นประจักษ์หลักฐานชี้ให้เห็นว่าขนาดมาเลเซียที่มีแก๊สและน้ำมันเหลือเฟือในราคาถูก ยังหันมาใช้ถ่านหินซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า และหลังจากการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้สำเร็จ ก็ยังได้ตั้งใหม่อีกหลายแห่ง
จะสังเกตได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ และแห่งอื่น ๆ ในมาเลเซีย ล้วนตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเลย แตกต่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งนับสิบกิโลเมตร นี่แสดงว่าเขามั่นใจในความปลอดภัย ไร้กังวล การมีโรงไฟฟ้าห่างฝั่งมากไป อาจส่งผลเสียต่อต้นทุนการขนส่งถ่านหินซึ่งมาทางทะเลด้วยซ้ำไป แหล่งถ่านหินใหญ่ของโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ขนส่งทางเรือมาจากประเทศอินโดนีเซีย ถ่านหินเหล่านี้คือ 'บิทูมินัส' ซึ่งเป็นถ่านหินที่ดีกว่าลิกไนต์ ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำกว่า ดร.โสภณเองก็เกือบได้ไปประเมินเหมืองถ่านหินที่เกาะบอร์เนียว (เสียดายต้องรอไปก่อน) แต่เท่าที่ศึกษาเหมืองแต่ละแห่งดำเนินการบนพื้นฐานความปลอดภัยสูงมาก (ต่างจากที่เอ็นจีโอเที่ยวโพนทะนา)
การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งการจ้างงานทางอ้อม เช่น การค้าขายต่างๆ ถ้าปิดไป เช่นการปิดเหมืองทองคำพิจิตรในไทย ก็ทำให้คนงานตกงานนับพันๆ คน การค้าขายในพื้นที่ก็คงมลายไปด้วย คนคงต้องเข้าเมืองหางานในกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ยิ่งในแง่ของอสังหาริมทรัพย์ การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้านี้ย่อมส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เพราะมีคนมาทำงานกันมาก ก็ต้องการที่พักอาศัย หรือแหล่งการค้าเพื่อการจับจ่ายใช้สอยของพนักงานในพื้นที่ ก็ย่อมทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดครับความวิตกในตอนแรกๆ ว่าจะเกิดมลพิษต่างๆ นานา
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ด้านการเกษตร ก็ไม่มีปัญหาผลกระทบใดในด้านสิ่งแวดล้อม ยังปรากฏมีสวนยาง สวนปาล์มทั้งเก่าและใหม่อยู่โดยรอบอย่างหนาแน่น การนี้แสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมแต่อย่างใด ยิ่งในแง่ของที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั่วไป ก็พบว่ามีที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบมีทั้งชุมชนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ นี่ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษจริงเค้าคงไม่ให้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับกรุงกัวลาลัมเปอร์อย่างแน่นอน
ตอนแรกตั้งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ก็มีเสียงคัดค้านว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่อพยพของนกจากทางไกลและเป็นแหล่งนกในท้องถิ่นอีกด้วย แต่การที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ดำรงอยู่ได้มาระยะหนึ่ง เสียงคัดค้านก็หายไปเพราะพิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม แต่นี้ในกรณีประเทศไทย พวกเอ็นจีโอกลับอาศัยความกลัวมาข่มขู่ไม่ให้สร้างโดยไม่ยอมให้โรงไฟฟ้าได้พิสูจน์ให้เห็นเลย ทางที่โรงไฟฟ้าใหม่ที่กระบี่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัยกว่าในมาเลเซียเสียอีก
Youtube ดูวิดิโอคลิก: http://bit.ly/2ncHl4w
โรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำได้
เห็น NGOs ออกมาประกาศว่าบริเวณที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องรักษาไว้ ห้ามสร้างโรงไฟฟ้า นี่คือการ "แหกตา" โดยแท้ ดูตัวอย่างได้ในมาเลเซีย เขาสร้างได้โดยไม่มีผลกระทบ ยิ่งไทยใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า อันตรายจึงแทบไม่มี อย่าให้ใครใช้ความกลัวมาลวงไทย
ในมาเลเซีย มีพื้นที่ชุ่มน้ำแบบเดียวกับไทยอยู่หลายแห่ง แต่มีอยู่ 3 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า Tanjung Bin Power Station ซึ่งเปิดดำเนินการบางส่วนตั้งแต่ปี 2549 หรือ 9 ปีที่แล้ว โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังจะเปิดอีกส่วนหนึ่ง และยังมีท่าเรือขนาดใหญ่มีลานขนถ่ายสินค้ายาว 4 กิโลเมตร (คลองเตยยาวเพียง 1 กิโลเมตร) และมีพื้นที่กว้างขวางกว่าท่าเรือคลองเตยนับสิบเท่า โดยเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์โดยเฉพาะ
ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนาดยักษ์อยู่ติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำเลย ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรเลย แต่สำหรับในประเทศไทย พวก NGOs นำพื้นที่ชุ่มน้ำมาอ้างเล่นประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ นี่คือการ "แหกตา" หลอกลวงประชาชนไปหรือไม่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพิจารณา เพราะมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงในมาเลเซียที่พื้นที่ชุ่มน้ำกับการพัฒนาโรงงานถ่านหินอยู่ติดกันเลย แถมสร้างอยู่ปากแม่น้ำอีกต่างหาก ในขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่สร้างบนบก และมีเพียงท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปในน้ำ
ภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ 3 กลุ่มในมาเลเซียที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนาดยักษ์ https://goo.gl/LKvWjC
โรงไฟฟ้าถ่านหินกับรีสอร์ตหรูอยู่ใกล้กันได้
โรงไฟฟ้าจิมาห์ในมาเลเซียก็ตั้งอยู่ติดทะเล ในขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ห่างจากทะเลถึงราว 10 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านี้ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองและมีรีสอร์ตหรูและโรงแรมตั้งอยู่ใกล้ๆ จำนวนมากมาย ยกตัวอย่างเช่นโรงแรมอะวานีเซปังโกลด์โคสต์ก็ตั้งอยู่ในระยะไม่กี่กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ แต่มลพิษกลับไม่เป็นปัญหา จากความเห็นของแขกที่เข้าพัก ไม่มีการบ่นว่าเกี่ยวกับการตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินแต่อย่างใด
ในปี 2552 ประชาชนในท้องที่ก็แสดงความห่วงใยเรื่องความปลอดภัย แต่ในปัจจุบันประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของโรงงาน ส่วนโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น ใช้ถ่านหินบิทูมินัสและเทคโนโลยีที่ดีกว่า ย่อมให้ความปลอดภัยแก่สาธารณชน และด้วยเหตุนี้เอง เสียงต่อต้านจึงแทบไม่ได้ยินในวันนี้ นี่แสดงให้เห็นว่าการต่อต้านของเหล่ากฎหมู่เป็นเพียงการสร้างกระแส ใช้ความกลัวทำให้การวางแผนและนโยบายเพื่อส่วนรวมได้รับความเสียหาย
ด้วยเหตุนี้ทางราชการควรที่จะยืนยันในความถูกต้องที่พิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นปลอดภัยสำหรับประชาชน อย่าปล่อยให้พวกกฎหมู่ที่ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ
ที่มา: https://goo.gl/j9CuFW