อาหารพื้นบ้านล้านนา
อาหารพื้นบ้านล้านนา
ข้าวกั๊นจิ้น
ข้าวกั๊นจิ้น หรือข้าวเงี้ยว หรือจิ๊นส้มเงี้ยว คำว่า กั๊น เป็นคำเมืองแปลว่า นวด บีบหรือคั้น ส่วนคำว่า จิ้น ก็คือเนื้อหมู แต่สำหรับบางคนมักเรียกว่า" ข้าวเงี้ยว " อันเป็นคำที่คนไทยในอดีตใช้เรียกชาวไทยใหญ่ว่า "เงี้ยว" ข้าวกั้นจิ้นนิยมบริโภคแพร่หลายในภาคเหนือ ถือเป็นหนึ่งในอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่และเป็นอาหารล้านนา
ข้าวกั๊นจิ้น เชื่อว่าเป็นอาหารของชาวไทใหญ่หรือเงี้ยว ใช้ใบตองห่อเช่นเดียวกับแหนม (จิ๊นส้ม) จึงเรียกว่า ข้าวเงี้ยว หรือจิ๊นส้มเงี้ยว บางสูตรไม่ใส่เนื้อสับ แต่ใส่เลือดคลุกเคล้ากับข้าวอย่างเดียว
ข้าวกั้นจิ้น มีวิธีทำที่ไม่ยาก เริ่มจากการเอาเลือดไปคั้นกับใบตะไคร้ แล้วจึงนำเอาเลือดที่ได้และหมูสับมาคลุกกับข้าวสวย นวดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือหรือซีอิ้ว แล้วนำไปห่อใบตอง นึ่งจนสุกเวลารับประทาน โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว พริกแห้งทอด หอมแดง แตงกวา ผักชี ต้นหอม เป็นเครื่องเคียง ว่ากันว่าเป็นอาหารไม่กี่ชนิดในอาหารล้านนาที่ทำมาจากข้าวจ้าวเพราะปกติคนแถบนี้ นิยมทานข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวเป็นหลัก ข้าวกั๊นจิ้นยังสามารถทานกับขนมเส้นน้ำเงี้ยวก็อร่อยไปอีกแบบ