รถไฟฟ้าสายสีชมพู: แพงไปไหม ผู้รับสัมปทานกำไรตั้งแต่ต้นไหม
มูลค่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูค่อนข้างแพงไปหรือไม่ ลองมาเปรียบเทียบกับประเทศหรือนครอื่นๆ ดูว่าเป็นอย่างไร อย่างนี้ผู้รับสัมปทานได้กำไรจากการประมาณการต้นทุนสูงมากไปหรือไม่
ตามที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้วิเคราะห์ว่า "รถไฟฟ้าสีชมพู เจ๊งแน่ๆ" ใน AREA แถลง ฉบับที่ 228/2560 วันพุธที่ 07 มิถุนายน 2560 (http://bit.ly/2rToBfw) เนื่องจากค่าก่อสร้างค่อนข้างสูง แต่รายได้ไม่น่าจะเข้าเป้าได้ตามที่ตั้งไว้ จากการประมวลข้อมูลเพิ่มเติมพบว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ จะมีงบลงทุน 56,691 ล้านบาท (http://bit.ly/1Hdbzcu) มีทั้งหมด 30 สถานี ตกเป็นเงินสถานีละ 1,889.7 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 1,643.2 ล้านบาท
เรามาเทียบรถไฟฟ้าประเภทโมโนเรลในประเทศอื่น ๆ กันดูบ้าง
ที่นครกัลกัตตา (Kolkota) โครงการ Kolkota Monorail (http://bit.ly/2sjLs4p) ที่สร้างในปี 2550 มีมูลค่า 32,620 ล้านบาท มี 37 สถานี ระยะทาง 40 กิโลเมตร ตกเป็นเงินเฉลี่ยสถานีละ 881.6 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละ 815.5 ล้านบาท
ที่นครทริวันดัม (Thiruvananthapuram) ของอินเดีย มีรถไฟฟ้าโมโนเรลเช่นกัน (http://bit.ly/2sUvZo3) โดยสร้างในปี 2555 มีมูลค่า 14,700 ล้านบาท มี 19 สถานี ระยะทาง 22.2 กิโลเมตร เสียค่าก่อสร้างสถานีละ 773.7 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 662.2 ล้านบาท
ที่นครมุมไบ โครงการ Jacob Circle-Wadala-Chembur line/corridor (http://bit.ly/2rMXHnk) สร้างเมื่อปี 2551 ราคา 13,300 ล้านบาท มี 17 สถานี รถยะทาง 20.21กิโลเมตร มีค่าก่อสร้าง 782.4 ล้านบาทต่อสถานี หรือ 658.1 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ที่กรุงมะนิลา มีโครงการ Manila Metro Rail Transit System Line 7 (http://bit.ly/2sUL4Gv) สร้างเมื่อปีที่แล้วนี้เอง (2559) มีมูลค่า 15,407 ล้านบาท มี 14 สถานี รวมระยะทาง 22.8 กิโลเมตร ตกเป็นเงินค่าก่อสร้าง 1,100.5 ล้านบาท และหากคิดต่อกิโลเมตร ก็เป็นเงิน 675.7 ล้านบาท
ที่เกาะเซ็นโตซา มีโครงการ Sentosa Monorail (http://bit.ly/2s0iB4J) ของสิงคโปร์ ก่อสร้างเมื่อปี 2550 ใช้เงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่มีเพียง 4 สถานี ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร ตกเป็นเงินสถานีละ 875 ล้านบาท แต่หากคิดเป็นราคาต่อกิโลเมตร ก็สูงถึง 1,667 ล้านบาท
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูแพงที่สุดในราคาต่อสถานี และราคาต่อกิโลเมตร (ยกเว้นกรณีเซ็นโตซา) ซึ่งเป็นทางระยะสั้น ๆ เพียง 2.1 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในกรณีรถไฟฟ้าสายอื่นทั้งในอินเดีย และฟิลิปปินส์ กลับมีราคาถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูมากทั้งที่เป็นรถแบบ Monorail เช่นเดียวกัน
ในกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู "สำหรับเงินลงทุนของสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี อยู่ที่ 56,691 ลบ. แยกเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 6,847 ลบ. ค่างานโยธา 23,117 ลบ. ค่างานระบบไฟฟ้าและขบวนรถ 25,211 ลบ. และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 1,516 ลบ. ทั้งโครงการรัฐลงทุน 6,847 ลบ. ส่วนเอกชนลงทุน 49,844 ลบ. จะเปิดบริการปี 2563 ในปีแรกจะใช้รถทั้งหมด 92 ตู้หรือ 23 ขบวน มีผู้โดยสาร 130,000 คน/วัน ในระยะเวลา 30 ปี มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 15.65% และผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 3.86%" (http://bit.ly/1Hdbzcu)
ที่น่าสังเกตก็คือ
1. งานระบบไฟฟ้าและขบวนรถ 25,211 ล้านบาท สูงไปหรือไม่
2. ขบวนรถ 92 ตู้ นั่งได้กี่คน เทียบกับประเทศอื่นแล้วแพงกว่าหรือไม่
3. รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายมหาศาลถึงราว 30,000 ล้านบาท ให้ใช้ที่ดินบนถนนรามอินทรา แจ้งวัฒนะและติวานนท์ โดยรัฐบาลได้เงินค่าตอบแทนคุ้มหรือไม่ เป็นต้น
ประเด็นเหล่านี้คงต้องช่วยกันคิด และให้มีข้อมูลที่กระจ่างเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมนั่นเอง
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1976.htm