หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

โหดร้าย!! เมื่อคลอรีนกลายเป็นอาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรียได้อย่างไร ?

โพสท์โดย ลูกสาวอบต

ปัญหาสารคลอรีนในซีเรีย : การสูญเสียของมนุษย์จากเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีจากสารคลอรีน ในสงครามกลางเมืองซีเรียตลอดหกปีที่ผ่านมา

วันนั้น Mohamed Tennari แพทย์หนุ่มชาวซีเรียไปร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านซาร์มินในประเทศซีเรีย เขาต้องการซ่อมอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใช้การไม่ได้มาหลายวัน ร้านซ่อมแห่งนี้เป็นร้านมิตรสหายของเขาที่ชื่อ Waref Taleb นายแพทย์ Tennari ฝากอุปกรณ์ดังกล่าวไว้กับทางร้านแล้วค่อยเข้ามารับกลับในวันถัดไป ช่าง Taleb ซ่อมแซมให้เขาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และนั่นก็คือการพบกันครั้งสุดท้ายของสหายชาวซีเรียสองท่านนี้

สองเดือนต่อมา ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกันอีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2015 จากเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีในหมู่บ้านซาร์มิน แต่การพบกันครั้งนั้นกลับเป็นภาพที่นายแพทย์หนุ่มต้องเห็นเพื่อนรักนอนบนเตียงผ่าตัดในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลท้องถิ่นเมืองซาร์มิน Taleb อยู่ในสภาพไอและสำลักอากาศไม่หยุด น้ำลายเป็นฟองฟูมปาก และดูเหมือนจะรอดชีวิตยาก ทั้งหมดเกิดขึ้นจากคืนนั้นที่เฮลิคอปเตอร์ได้ปล่อยระเบิดบาร์เรลที่มีส่วนผสมของสารคลอรีนตรงตำแหน่งบ้านของ Taleb พอดี

“เราช่วยชีวิตเขาไว้ไม่ได้เพราะเขาสูดปริมาณสารคลอรีนเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก” นายแพทย์ Tennari วัย 36 ปี ผู้ซึ่งทำงานเป็นแพทย์ในซีเรียมาตั้งแต่ปี 2007 เล่าย้อนกลับไป

ครอบครัวของ Taleb ต่างพากันหนีตายและหลบไปอยู่ชั้นใต้ดินด้วยความชุลมุนวุ่นวาย ก๊าซพิษอันตรายดังกล่าวได้เล็ดลอดเข้าไปทางช่องระบายอากาศของตัวบ้าน แล้วคร่าชีวิตสมาชิกในบ้านทุกคน ตั้งแต่แม่ของ Taleb เอง รวมไปถึงภรรยาของเขาและลูกทั้งสามวัย 3, 2, และ 1 ขวบตามลำดับ

“พวกเขาเสียชีวิตกันยกบ้าน มันเป็นความรู้สึกแย่มาก ๆ ที่เราไม่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้” แพทย์หนุ่มกล่าว “และด้วยเพราะ Taleb เป็นเพื่อนรักของผม ผมจึงยิ่งรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก”

นายแพทย์ Tennari ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นฝีมือของรัฐบาลซีเรียที่ปล่อยระเบิดก๊าซพิษอันตรายลงมา ในคืนนั้นเขาคำนวณคร่าว ๆ ได้ว่า เขาและทีมแพทย์ต้องทำการรักษาผู้ป่วยมากถึง 120 ราย

“พวกเขากำลังหลบอยู่ในห้องใต้ดิน แล้วทันใดนั้นสารเคมีดังกล่าวก็คืบคลานลงไปด้านล่างของตัวบ้าน จนผู้คนต้องรีบพากันหนีขึ้นมาด้านบนเนื่องจากด้านล่างเริ่มเต็มไปด้วยสารเคมี”

นายแพทย์ Tennari เล่าให้ฟังว่า Taleb เป็นผู้ชายที่นิสัยดีคนหนึ่ง “เขาเป็นคนดี เป็นคนเงียบ แต่เป็นมิตรกับทุกคน เขามีครอบครัวที่อบอุ่น และเขาเป็นคนที่รักครอบครัวมาก”

สภาพความเสียหายของบ้านครอบครัว Taleb หลังจากที่ระเบิดคลอรีนตกลงมาบนตัวบ้านเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2016

ครบรอบการจากไปของครอบครัว Taleb ในสองปีต่อมา ค่ำคืนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความโหดร้ายยังคงหลอกหลอนความรู้สึกของหมอซีเรียท่านนี้อยู่ไม่จางหาย “เฮลิคอปเตอร์บินว่อนทั่วฟ้าตลอดเวลา เราได้ยินเสียงตลอดเวลา และเราก็ไม่รู้เลยว่ามันจะจู่โจมโรงพยาบาลของเราตอนวินาทีไหน” Tennari กล่าวขณะถอนหายใจเฮือกใหญ่

“เราไม่รู้จะทำอย่างไรกันดี ในสภาพที่ผู้ป่วยนอนเจ็บกันอยู่บนเก้าอี้ บ้างก็นอนบนพื้นห้อง บ้างก็บนพื้นดิน ทุกที่เต็มไปหมด ในหนึ่งนาทีผมต้องรักษาผู้ป่วยหลายคนพร้อมกัน เราไม่มีเวลาดูแลใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ บรรยากาศตอนนั้นเสียงดังวุ่นวายมาก”

ถึงแม้การโจมตีจากอาวุธเคมีจะเป็นเพียงแค่ชั่วขณะ แต่อานุภาพของอาวุธเคมีได้หว่านโรยความน่ากลัวลงบนสงครามกลางเมืองของประเทศมายาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

นายแพทย์ Tennari ได้ปฎิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในซีเรียมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 [Courtesy of Sarmin field hospital/Al Jazeera]

อาวุธเคมีได้กลายเป็นเชิงอรรถที่ต้องการคำอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์นองเลือดในสงครามกลางเมืองของประเทศซีเรีย มันได้พรากชีวิตผู้คนมาแล้วนับหมื่นนับพัน ในขณะที่อีกกว่า 11 ล้านชีวิตต้องระเห็จระเหินอพยพหลบหนีไปตั้งรกรากที่อื่น แต่กระนั้นในบรรดาการใช้อาวุธเคมีทั้งหมดในซีเรียเราจะพบว่าเป็นก๊าซพิษซารีนที่มีอานุภาพทำลายระบบประสาทเสียเป็นส่วนใหญ่ ตามมาด้วยก๊าซมัสตาร์ด ที่ยังคงเพิ่มวรรคเพิ่มตอนให้กับเรื่องราวสงครามในซีเรียที่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

หลังจากที่มีการใช้ก๊าซพิษซารีนในปริมาณ 1,300 ตันและสารตั้งต้นของมันได้ถูกถอดถอนออกจากซีเรียไปแล้ว การโจมตีด้วยอาวุธเคมีของที่นั่นก็ยังคงดำเนินการต่อไปหลังจากนั้นนานเป็นเวลาถึงสี่ปี แต่ที่เห็นกันส่วนใหญ่ในยุคต่อมามักจะเป็นในรูปแบบของก๊าซคลอรีน ที่ปัจจุบันได้เริ่มกลายเป็นอาวุธเคมีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในสงคราม

“เราพบว่าสารคลอรีนกลายมาเป็นอาวุธสงครามในซีเรียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา” Ole Solvang ผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายฉุกเฉินแห่งศูนย์พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) กล่าว

“สิ่งที่ท้าทายคือ ในซีเรียนั้นมีเรื่องราวอันแสนโหดร้ายเกิดขึ้นมากมาย และแต่ละเรื่องราวก็มักจะถูกกลืนหายไปกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอีกที่”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Solvang และทางองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้เขียนรายงานถึงเหตุการณ์ตัวอย่าง 8 กรณีศึกษาของการใช้คลอรีนโดยทหารรัฐบาลซีเรียในสงครามอเลปโปช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน จนถึง 13 ธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา โดยผู้สังเกตการณ์ขององค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากการวิเคราะห์เทปบันทึกภาพเบาะแสและร่องรอย วิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานทางโทรศัพท์ การสัมภาษณ์รายบุคคล ตลอดจนข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย

รายงานดังกล่าวระบุว่า การโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 9 รายซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 4 ราย และอีกประมาณ 200 รายคือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ รายงานระบุอีกด้วยว่าการโจมตีดังกล่าวได้กลายเป็นอาชญากรรมสงครามในที่สุด

“แน่นอนว่านี่คือเรื่องสะเทือนใจอย่างยิ่งเพราะมันเป็นการละเมิดข้อตกลงของอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีที่ซีเรียเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิก” Solvang อธิบายให้ฟัง “มันคือความน่ากลัวสำหรับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และน่ากลัวเพราะมันได้ล่วงละเมิดหนึ่งในข้อห้ามร้ายแรงว่าด้วยการใช้อาวุธตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอีกสิ่งหนึ่งที่เรากังวลมาก ๆ คือ หากรัฐบาลยังคงดำเนินการใช้อาวุธเคมีในการโจมตีเช่นนี้ต่อไป นั่นอาจทำให้ข้อห้ามดังกล่าวนี้ขาดประสิทธิภาพและลดระดับลงจนหลายประเทศอื่นหันมาใช้สารคลอรีนเป็นอาวุธสงครามด้วยก็เป็นได้”

อะไรคือบทบาทของสารคลอรีนในสงครามกลางเมืองที่ซับซ้อนและยาวนานของซีเรีย? และอะไรคือความสูญเสียของมนุษย์ตลอดที่ผ่านมา?

องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ได้ทำการเก็บข้อมูลการโจมตีด้วยคลอรีนเป็นจำนวน 24 กรณีตั้งแต่ปี 2014 ที่ระบุว่ามีอัตราการเสียชีวิตจำนวน 32 รายและได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย แต่กระนั้น Solvang ก็ตระหนักดีว่าจำนวนดังกล่าวน่าจะเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าค่าความจริงอยู่มาก

“มันคืออาวุธที่น่าหวาดกลัวสำหรับคนส่วนใหญ่” Solvang กล่าว

คลอรีนคือสารที่ก่อให้เกิดการสำลัก ควันจากก๊าซสีเหลืองอมเขียวที่คลุ้งออกมาจะส่งผลให้เกิดอาการหายใจติดขัด หายใจลำบาก เกิดภาวะหายใจล้มเหลว มีอาการแสบตา อาเจียน และบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้

องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการโจมตีด้วยคลอรีนเป็นจำนวน 24 กรณีศึกษานับตั้งแต่ปีค.ศ.2014 ที่มีรายงานการเสียชีวิต 32 รายและได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย

นอกจากนี้ ผลกระทบของสารคลอรีนยังส่งผลในเชิงจิตวิทยา สารเคมีดังกล่าวจะสร้างความตื่นตระหนกและหวาดผวาในแบบที่อาวุธอื่นที่ใช้กันทั่วไปในอดีตไม่สามารถทำได้ ในกรณีของอเลปโป Solvang สงสัยว่าทหารฝ่ายรัฐบาลน่าจะใช้คลอรีนเป็นกลยุทธ์ในการบังคับให้ผู้คนอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่นั้น

“สถานที่ที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยกลับกลายเป็นที่ ๆ ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อมีการนำคลอรีนเข้ามาใช้เป็นอาวุธ” Solvang กล่าว “ปกติเมื่อผู้คนพยายามหลบซ่อนตัวเองให้พ้นจากการโจมตีของจรวดและระเบิดทั่วไป พวกเขามักจะลงไปหลบอยู่ชั้นใต้ดิน เพราะที่นั่นคือที่ ๆ ถือได้ว่าปลอดภัยที่สุด แต่คลอรีนเป็นก๊าซที่มีมวลน้ำหนักมากกว่าอากาศ ดังนั้นมันจึงจมดิ่งลงไปในชั้นใต้ดินได้ง่ายกว่า จนชั้นใต้ดินเหล่านั้นกลายเป็นกับดักแห่งความตายในที่สุด”

คำบอกเล่าของ Solvang สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของครอบครัว Taleb ในเมืองซาร์มิน การตายที่เกิดจากการได้รับปริมาณก๊าซคลอรีนมากเกินปกติหลังจากที่เข้าใจผิดว่าห้องใต้ดินคือที่พำนักอันปลอดภัย

“มันคือเรื่องราวที่แสนหดหู่หากคุณเป็นแพทย์คนหนึ่งที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ เต็มไปด้วยผู้ป่วยนับร้อยพันชีวิตที่กำลังหายใจไม่ออก แล้วคุณไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับสิ่งที่คุณเห็นตรงหน้านั้น” Zaher Sahloul อดีตประธานสมาคมแพทย์ชาวซีเรียอเมริกัน (SAMS) ผู้ซึ่งดั้งเดิมเป็นชาวเมืองฮอมส์แต่ปัจจุบันรับหน้าที่ในเมืองชิคาโกกล่าว

เช่นเดียวกัน ทางสมาคม SAMS ได้ติดตามความเคลื่อนไหวกรณีการโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนในซีเรีย และค้นพบว่ามีสถิติการโจมตีทั้งสิ้นถึง 109 ครั้งนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011

“เหตุผลหลักของการใช้คลอรีนเพื่อการสงครามในซีเรียคือเพื่อจะสร้างความตื่นตระหนกและบังคับผู้คนให้หลบหนีออกไป และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายครั้งของการโจมตี” Sahloul กล่าวเพิ่มเติม

สารคลอรีนถูกนำมาใช้เป็นอาวุธครั้งแรกโดยชาวเยอรมันเพื่อปราบปรามกองกำลังทหารของฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาภายหลังจากนั้นเป็นเวลาสิบปีจึงได้มีการร่างกฎหมายระหว่างประเทศสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธเคมีในการสงครามขึ้นมาเป็นครั้งแรก

แต่ถึงแม้ว่าสารคลอรีนจะมีอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงถึงชีวิต กระนั้นมันก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกันกับก๊าซซารีนหรือมัสตาร์ดแต่อย่างใด คลอรีนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสีเทาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันและจะถูกพิจารณาว่าเป็นอาวุธเคมีหากนำไปใช้เพื่อเจตนาที่ไม่ดี ด้วยสถานะที่คลุมเครือในวงการอาวุธเคมีจึงทำให้สารคลอรีนสร้างความกังขามากมายให้กับนิยามของคำว่าสงครามเคมี ยกตัวอย่างเช่น ทำไมสารเคมีร้ายแรงบางชนิดจึงเป็นที่ต้องห้ามระหว่างประเทศในขณะที่บางชนิดไม่ได้เป็น? เป็นต้น

“ข้อแตกต่างระหว่างก๊าซคลอรีนกับก๊าซซารีนคือ คลอรีนนั้นสามารถหาได้ง่ายทั่วไป” Sahloul อธิบาย “คลอรีนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายแนวทางด้วยกัน เช่นใช้ในการบำบัดและเพิ่มความสะอาดให้น้ำ คลอรีนจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมฝ่ายทหารซีเรียมักนำมาใช้ผลิตอาวุธสงคราม นั่นก็เพราะว่ามันหากันได้ไม่ยากและเอามาทำเป็นอาวุธกันได้ง่าย”

ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีการผลิตคลอรีนที่มากถึงสิบล้านตัน ด้วยเพราะเหตุผลที่คลอรีนเป็นส่วนผสมที่นิยมกันในหลายวงการอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การบำบัดน้ำไปจนถึงการผลิตยาในวงการเภสัชกรรม เช่นยาฆ่าเชื้อ หรือในวงการผลิตผ้าทอ การฟอกสีกระดาษ หรือใช้เพื่อการแยกโลหะต่าง ๆ รวมไปถึงเคมีภัณฑ์ในครัวเรือนเช่นกระดาษกาว เป็นต้น จึงทำให้การควบคุมการใช้คลอรีนมาผลิตเป็นอาวุธเคมีเป็นไปได้ยาก และยังคงเป็นที่แพร่หลายกันอยู่มากในสงครามกลางเมืองของซีเรีย

“แน่นอนมันสร้างความตื่นตระหนกและสะพรึงกลัวให้กับพลเมือง มันยากที่จะขจัดให้หมดสิ้นไป เราไม่สามารถขอร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาชี้แจงจำนวนสต็อคคลอรีนที่มีอยู่ทั่วประเทศได้” Uzumcu ผู้บริหารทั่วไปแห่งองค์กรต่อต้านการใช้อาวุธเคมีระหว่างประเทศกล่าว

เมื่อได้เห็นถึงความยากลำบากในการควบคุมและยับยั้งการใช้คลอรีนในการสงคราม Sahloul จึงอยากวิงวอนร้องขอให้ประธานาธิบดีอัซซาดหยุดการโจมตีด้วยอาวุธคลอรีนอันโหดร้ายเหล่านี้ให้สิ้นไป

“ผมอยากให้อัซซาดได้มาเห็นสภาพใบหน้าของเด็ก ๆ ที่ต้องตื่นมากลางดึกเนื่องจากสำลักก๊าซพิษ” เขาอ้างไปถึงกรณีการเสียชีวิตของครอบครัว Taleb ในเมืองซาร์มิน

“ผมอยากให้เขาลองจินตนาการถึงสภาพใบหน้าที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวของครอบครัว Taleb ในห้องใต้ดินที่พวกเขาต้องทนทรมานกับกลิ่นคลอรีน และตอนที่ลูก ๆ ของพวกเขาเริ่มหายใจไม่ออก ตอนที่พวกเขาต้องรีบพากันไปส่งที่โรงพยาบาล และตอนที่พวกเขาต้องมาจบชีวิตลงในที่สุด”

เช่นเดียวกับนายแพทย์ Tennari แห่งเมืองซาร์มินที่เคยประจักษ์ถึงภาพความโหดร้ายของการโจมตีทางเคมีก่อนใครในโลกนี้ ชาวซีเรียทั่วไปต่างก็เชื่อว่าความยุติธรรมอาจเป็นเรื่องที่สายเกินไปเสียแล้ว Tennari ยังคงโศกเศร้ากับจากไปของเพื่อนรักและครอบครัวที่ต้องมาจบชีวิตด้วยสารเคมีเป็นพิษเมื่อสองปีที่แล้วจนทุกวันนี้

“ผมเฝ้าวิงวอนขอให้ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ภาพที่จะต้องมาเห็นเพื่อนชักดิ้นเสียชีวิตต่อหน้าโดยที่ผมทำอะไรไม่ได้เลย” นายแพทย์ Tennari กล่าว พร้อมกับยืนยันว่าเขาจะยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาชีวิตคนในซีเรียต่อไป ตราบใดที่สงครามกลางเมืองยังไม่สิ้นสุดลง

“ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถช่วยชีวิตครอบครัว Taleb ได้ ผมจะรู้สึกแย่ทุกครั้งที่นึกถึงวันนั้นที่ผมช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้จนพวกเขาเสียชีวิตในที่สุด ผมรู้สึกตนเองอ่อนแอทุกครั้ง และผมไม่อยากให้ใครต้องมายืนตรงที่ผมยืนและเห็นในสิ่งที่ผมเห็น เพราะมันช่างโหดร้ายเหลือเกิน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสงครามทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในสักวัน” นายแพทย์ Tennari กล่าว

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
ลูกสาวอบต's profile


โพสท์โดย: ลูกสาวอบต
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
12 VOTES (4/5 จาก 3 คน)
VOTED: ฮั่วชวี่ปิ้ง, zerotype
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
3 ขั้นตอน จัดบ้านรับปีใหม่ เสริมสิริมงคล ให้ปัง ตลอดทั้งปีเพชรปากปลาร้าหน้าเป๊ะ ลองทาลิปสติกบนปาก ทำเอาทัวร์ลงสนั่น ร้านค้ารับเรื่อง สั่งให้โละยกแผงเลย!เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568"เหมือนเป๊ะ! แตงโมจัดเต็มโคฟเวอร์ 'เจ๊มิ่ง' แซ่บเวอร์ทุกดีเทล"ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสียน้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่นโบราณสถานอายุกว่า 1,300 ปี แห่งไซบีเรีย ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนาที่รอคำตอบ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เฮ! เงินไร่ละพันยังมาต่อเนื่อง! ชาวนารับเงินช่วยเหลือ ธ.ก.ส. กันอยู่หรือเปล่า? มาอัปเดตกันหน่อย!รีบมา! คืนนี้วันสุดท้ายแล้ว "ตำรวจตกน้ำ" ไวรัลสุดเสียวกาชาด 2567 หล่อ เปียก ฮา พุ่งกระจาย!อย่าท้าทายระบบ! "สารวัตรแจ๊ะ" เผยสาเหตุที่ต้องใส่แมสก์ และสวมหมวกตลอดเวลาสั่งพักงานยกชุด! 18 ตำรวจจราจร ปมตั้งโต๊ะจับปรับ 'เจอจ่ายจบ'"
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
จริงไหมที่คำว่า ‘Salary’ มาจาก ‘Salt’ เพราะทหารโรมันรับค่าจ้างเป็นเกลือ?อยากโกอินเตอร์? เจาะลึกวิธีหางานต่างประเทศ 2567 แบบถูกกฎหมาย ได้สิทธิเต็มที่ ไม่มีโดนหลอก!ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสียชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต หากถูกประหารด้วยกิโยติน เราจะรู้สึกอย่างไร?
ตั้งกระทู้ใหม่