สังหาริมทรัพย์ประเภทเรือดำน้ำ
ตอนนี้ถ้าไม่พูดถึงเรือดำน้ำ ก็คงจะเชยน่าดู ผมในฐานะที่ทำการประเมินค่าทรัพย์สิน จึงขอกล่าวถึงสังหาริมทรัพย์ประเภทเรือดำน้ำสักหน่อย
มีข่าวว่า "รบ.ปัดปกปิดซื้อเรือดำน้ำ แจง กห.-ทร.กำหนดเป็นเรื่องลับ สื่อไม่ถามเอง ย้ำโปร่งใส" {1} เรื่องนี้เป็นคำแถลงที่กำกวมดูไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะ
- เรื่องการใช้เงินซื้อเรือดำน้ำ จะจัดเป็นเรื่องลับหรืองบลับอะไรคงไม่ได้เพราะไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ แต่มีมูลค่าถึงลำละ 13,500 ล้านบาท
- เรื่องนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแถลง ไม่ใช่อ้างว่าสื่อไม่ถามจึงไม่ได้แถลง
- ที่ "อมพระมาพูด" บอกว่า "โปร่งใส" แต่ในความเป็นจริงการไม่แถลงเพราะสื่อไม่ได้ถาม ถือเป็นความไม่โปร่งใสโดยพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างนี้ จะมีความโปร่งใสได้อย่างไร
ที่เป็นเช่นข้างงต้นนี้ ถือเป็นการ "แก้เกี้ยว" หรือไม่ หรือใช่ว่ารัฐบาลที่ได้มาด้วยกำลังอาวุธและประชาชนไม่ได้เลือกมา จะพูดอะไรไป คนอื่นก็ไม่อาจ "หือ" หรือไม่อาจตั้งข้อสงสัยได้เลยหรืออย่างไร
เรามาดูการแข่งขันด้านแสนยานุภาพในโลก ตามตารางที่แนบนี้ชี้ให้เห็นดังนี้:
- สำหรับประเทศในอาเซียนไทยมีแสนยานุภาพเป็นอันดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยไทยได้ที่ 21 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ส่วนเวียดนามมีแสนยานุภาพอันดับที่ 16 ของโลก และอินโดนีเซียอันดับที่ 14 ของโลก
- สำหรับความแข็งแกร่งทางเรือ ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 14 ได้ 81 คะแนน รองลงมาจาก เวียดนาม เมียนมา และฟิลลิปปินส์ อินโดนีเซียกลับได้คะแนนน้อยกว่าไทย ซึ่งคงเป็นเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 3.5 เท่า แม้มีอาวุธทางเรือมากกว่าไทย แต่ก็คงมีความแข็งแรงน้อยกว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์ คงมีความจำเป็นทางการทัพเรือเพราะมีข้อพิพิาทหมู่เกาะ ส่วนเมียนมาภายใต้การปกครองทหารเกือบ 30 ปี ก็คงสะสมอาวุธทางเรือพอสมควร
- ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อเรือหลวงจักรีนฤเบศร ประเทศอื่นไม่มีเลย นี่อาจเถือเป็นหน้าเป็นตาเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของไทย
- เรื่องเรือดำน้ำ ไทยกำลังจะมี 3 ลำ (เฮ) แต่ปัจจุบันถือว่ายังไม่มี ประเทศที่มีเรือดำน้ำได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ อาจด้วยเหตุนี้ไทยจึงอยากมีเรือดำน้ำบ้าง อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านั้นมีน่านน้ำกว้างขวาง-มหาศาล ผิดกับไทย ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในเชิงเปรียบเทียบ
อาจกล่าวได้ว่าไทยเราก็มีเรือที่สามารถต่อสู้กับเรือดำน้ำได้อยู่แล้ว แต่เรือดำน้ำก็คงไม่สามารถต่อสู้กับเครื่องบินรบได้ และเรือดำน้ำก็น่าจะเหมาะกับประเทศมหาอำนาจที่ต้องออกไปปกป้องผลประโยชน์หรือรุกราน การป้องกันประเทศอาจมีความจำเป็นในการใช้เรือดำน้ำน้อยกว่านั่นเอง ถ้าเราไมได้ออกไปรุกไล่ประเทศอื่น ก็คงไม่ต้องใช้เรือดำน้ำ เรือดำน้ำก็อาจจะล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบันของสงคราม "กดปุ่ม" จะทางไกล และถึงเรามีเรือดำน้ำ ก็ไม่ใช่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ และไทยเราก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เสียด้วย
หากพิจารณาถึงราคาเรือดำน้ำที่ 13,500 ล้านบาทต่อลำ {2} จำนวน 3 เป็นเงิน 40,500 ล้านบาท หากผ่อนจ่าย ก็ลดลงเหลือ 36,000 ล้านบาท เรือดำน้ำลำหนึ่งมีอายุขัยประมาณ 30 ปี {3} ก็เท่ากับแต่ละปีมีค่าเสื่อมไปประมาณ 1,080 ล้านบาท การใช้เงินขนาดนี้เป็นระยะเวลา 30 ปี จะคุ้มค่าหรือไม่ และอายุของเรืออาจลดน้อยลงกว่านี้หากเทคโนโลยีเปลี่ยนไป และยุทธศาสตร์เปลี่ยนเป็นการรบทางไกล ทางอากาศมากกว่าการใช้เรือดำน้ำ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นในแต่ละปี ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และการปฏิบัติภารกิจ (แต่ส่วนมากคงจอดไว้เฉย ๆ หรือใช้ทำการฝึกมากกว่า) อาจเป็นเงินอีกราว 10% ของค่าเรือ หรือเป็นเงินปีละ 3,600 ล้านบาท
ก็คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ และแสดงให้สังคมเห็นว่าไมมี "เงินทอน" หรือไม่ จะมีระบบตรวจสอบการเดินทางของเงินตราอย่างไร นี่คือสิ่งที่ประชาชนเจ้าของประเทศพึงรู้
อ้างอิง
{1} MGR Online 25 เมษายน 2560 14:56 น. (แก้ไขล่าสุด 25 เมษายน 2560 15:05 น.) www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041743
{2} มติชน online 1 พฤษภาคม 2560 15:18 น. www.matichon.co.th/news/546434
{3} ดูตัวอย่างของเรือดำน้ำ HMS Tireless ของสหราชอาณาจักร www.bbc.com/news/uk-england-devon-27915381