เรื่องถกลเกียรติ/แท็กซี่ ต้องโทษรัฐบาล!
เรื่องดรามาระหว่างคุณบอย-ถกลเกียรติกับแท็กซี่ คงไม่ได้ผิดทั้งคู่ แต่ต้องโทษรัฐบาลต่างหากที่ผิด รัฐบาลผิดอย่างไรมาดูกัน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขอยกกรณีคุณบอย-ถกลเกียรติเป็นอุทาหรณ์สำหรับการเสพสื่อและโทษรัฐบาลว่ากระทำผิด เพื่อทุกท่านจะได้ใช้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ โดยเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 คุณบอยก็ยอมรับว่า
- ใช้เท้าถีบรถแท็กซี่ "ผมก็รู้สึกมีส่วนผิดที่ไปทำร้ายเขา เพราะเขาบอกมาว่า รถใคร ใครก็รัก. . ."
- เสนอให้เงินชดใช้เขา ไม่ได้ถูกข่มขู่เอาเงิน 1,000 บาท
- "ไม่ได้ติดใจอะไรเพราะผมก็เข้าใจว่าการที่เขาขับรถมาอยู่ดีๆ มีคนมาทำแบบนั้นกับรถเขา เขาก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา" {1}
ข้างฝ่ายแท็กซี่ก็บอกชัดเจนในทำนองเดียวกับคุณบอย {2} และสังเกตดูในเวลาเกิดเหตุ แท็กซี่นี้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่ได้แต่งตัวรุ่มร่าม แม้จะพูดจาแข็ง ๆ ก็ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายใด ๆ ดังนั้นผู้ที่ลงคลิปที่หาว่าแท็กซี่ข่มขู่ จึงไม่ได้พูดเรื่องจริง แถมผู้ลงคลิปยังบอกว่าคุณบอยไม่ได้ทุบรถทั้งที่คุณบอยก็ยอมรับว่าใช้เท้าถีบไป {3} คำพูดของคนในสื่อออนไลน์ที่ใช้ความรู้สึกและไม่ได้เห็นตลอด จึงไม่อาจเชื่อได้ง่าย ๆ คนเสพสื่อจึงพึงระมัดระวังในการใช้วิจารณญาณ ถ้าคนขับแท็กซี่จะค้าความที่ทำให้เขาเสียหาย ก็สามารถฟ้องคนลงคลิปได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามผู้ที่ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่ที่ทางราชการเองที่ "บ้าจี้"
- ปรับ 1,000 บาทที่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ข้อนี้ไม่ควรปรับเพราะเขาไม่ได้ปฏิเสธหลังจากทราบว่าจะไปไหน เพียงแต่เขาโบกมือไม่รับ และเป็นการไม่จอดรับในบริเวณเส้นขาวแดง ซึ่งเป็นการที่ชอบแล้วที่เขาไม่จอดรับ
- ปรับ 1,000 บาทที่ใช้กิริยาวาจาไม่สุภาพ แต่ในความเป็นจริง แท็กซี่ใช้คำพูด คุณ-ผม โดยตลอด ไม่ได้กล่าวคำหยาบคาบแม้แต่น้อย
- พักใช้ใบอนุญาต 30 วัน โดยที่เขาไม่ได้ไม่สุภาพ และไม่ได้ปฏิเสธผู้โดยสารเพราะไม่ใช่ทางที่เขาจะไปแต่อย่างใด {4}
การกระทำต่อแท็กซี่อย่างนี้เป็นการกระทำที่เป็นธรรมของรัฐหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมควรพิจารณา คุณบอยก็บอกว่าต้องแก้ที่ระบบ แต่ระบบที่ว่านี้คงไม่ใช่เฉพาะระบบรถแท็กซี่อูเบอร์หรือ "GrabTaxi" เท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้แต่ไม่ได้ทำก็คือ:
- การตรวจจับอย่างจริงจังถึงการที่แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร และจับปรับตรงที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง รัฐไม่พึงอ้างว่าไม่มีงบประมาณ งบประมาณในการนี้คงใช้น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับงบประมาณจัดซื้ออาวุธ และยังสามารถนำค่าปรับมาใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจจับได้อีกด้วย และไม่ควรทำแบบ "ไฟไหม้ฟาง"
- หากรัฐบาลให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างถ้วนหน้าและนำเงินส่งท้องถิ่น ท้องถิ่นก็จะมีเงินมาจัดสร้างระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น มีอาสาสมัครมาดูแลการใช้รถใช้ถนน ตรวจจับแท็กซี่หรือคนเรียกแท็กซี่ผิดกฎหมายได้ ปัญหาก็จะบรรเทาลง แต่รัฐบาลกลับจะจัดเก็บภาษีเฉพาะบ้านที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ไม่กี่พันหลังทั่วประเทศ
- การที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารมากมาย รัฐไม่เคยศึกษาให้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารที่กำหนดนี้คุ้มหรือไม่ ผลการศึกษาหนึ่งพบว่าถ้าขับแท็กซี่ 12 ชั่วโมงโดยไม่ปฏิเสธผู้โดยสารจะได้เงิน 1,475 บาท แต่ปกติแท็กซี่จะขับได้แค่ 10 ชั่วโมง เพราะต้องส่งรถและล้างรถ ในกรณีนี้อาจเหลือเพียง 1,229 บาท หักหักค่าเช่า 600 บาท ค่าแก๊สที่อาจไปไกลหน่อย 300 บาท ก็เหลือเงินเพียง 329 บาท จึงนับได้ว่าอาจไม่คุ้มค่า {5} หากค่าโดยสารสูงกว่านี้อาจทำให้ปัญหานี้ลดน้อยถอยลงได้
นี่คือกรณีศึกษาของการเสพสื่อ การเล่นข่าวของพวกสื่อไร้จรรยาบรรณบ้าง เหยียดคนจนบ้าง และที่สำคัญก็คือการที่คนเราอาจสิ้นหวังในรัฐ จึงไม่ได้เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบการตรวจจับ การใช้งบประมาณเพื่อประชาชนมากกว่านี้ หรือบริหารด้วยปัญญา ด้วยการมีข้อมูลที่ดีมากกว่านี้ ก็เป็นได้
อ้างอิง
{1} “บอย ถกลเกียรติ” ยอมรับใช้เท้าถีบแท็กซี่ บันดาลโทสะเรียกไม่ไป ขอโทษ-วอนแก้ระบบ www.khaosod.co.th/special-stories/news_282284
{2} คนขับแท็กซี่ยันไม่ได้ข่มขู่-เรียกรับเงิน 'บอย ถกลเกียรติ' พร้อมฝากถึงคนโพสต์คลิป www.youtube.com/watch?v=Z6tZEdwdJ6k
{3} ทุบโต๊ะข่าว :เปิดใจ! คนเห็นเหตุ "บอย ถกลเกียรติ" ถูกแท็กซี่โหดปืนขู่ตบทรัพย์-ขนส่งจ่อสอบ www.youtube.com/watch?v=tDeHw-DxDXM&t=4m15s
{4} ดูคลิปนี้ ณ นาทีที่ 1:34: www.youtube.com/watch?v=w8qG5vk7_xs&t=1m34s
{5} จริงหรือไม่ถ้าแท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสารบ้าง จะขาดทุน? www.autodeft.com/clipvdo/if-taxi-not-reject-passenger-will-loss