ทานอาหารอย่างไรให้ห่างไกลจากความดันโลหิตสูง
วันนี้ทีมงานคันปากไลฟ์ขอนำเอาวิธีทานอาหารให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงมาฝากกันค่ะ
1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง ในคนที่มีสุขภาพดีเป็นปกติควรรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันและควบคุมความดันโลหิต แต่สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยการลดอาหารเหล่านี้ซึ่งมีโซเดียมอยู่ในปริมาณสูง
– สารปรุงแต่งอาหาร ซึ่งได้แก่ ผงชูรส สารกันบูด สารฟอกสี
– อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น ปูเค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ผักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หมูแฮม หมูแผ่น หมูหยอง กุนเชียง หมูยอ เบคอน
– เครื่องปรุงที่มีรสเค็ม ได้แก่ เกลือป่น เกลือเม็ด น้ำปลา น้ำบูดู น้ำปลาร้า ซอสปรุงรส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เป็นต้น
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ เพราะไขมันชนิดนี้จะไปอุดตันหลอดเลือด เป็นผลให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย หากเป็นไปได้ให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อขาว เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ แทนเนื้อแดง เพราะมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่า นอกจากนั้นให้เลือกกินปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีประโยชน์และสามารถลดความดันโลหิตลงได้
3. ควรบริโภคผักและผลไม้สดมากขึ้น ผักและผลไม้สด นอกจากจะมีโซเดียมในปริมาณต่ำแล้ว ยังมีใยอาหารที่ช่วยขัดขวางและชะลอการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยควรบริโภคผักสดอย่างน้อยวันละ 3 ถ้วยตวง ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ให้ครบทุกสี และผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงอีก เช่น ส้ม กล้วย และ แคนตาลูป เป็นต้น
นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่โซเดียมและไขมันสูง ร่วมถึงการหันมารับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้นแล้ว การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้ ก็จะส่งผลดีต่อโรคความดันโลหิตสูงด้วย คือ
– เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่มีผลให้ความดันสูงขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแข็งตัวของหลอดเลือด
– ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะมักพบโรคความดันโลหิตสูงในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือคนอ้วนมากกว่าคนผอม
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อหลอดเลือดแล้ว ยังช่วยลดน้ำหนักและลดความดันโลหิตได้อีกด้วย
– ลดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มโคล่า ผู้ป่วยไม่ควรดื่มกาแฟเกิน 2-3 แก้วต่อวัน น้ำอัดลมประเภทโคล่ามีกาเฟอีนประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณที่มีในกาแฟ 1 แก้ว จึงควรลดการดื่มน้ำอัดลมด้วยเช่นกัน