คนไทย 1:4 ป่วย ‘ซึมเศร้า’ โรคฮิตจากธุรกิจยาหรือเคมีสมอง?
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าการสำรวจกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไปในประเทศไทยพบว่าทุก 1 ใน 4 คน จะมีโอกาสมีปัญหาทางสุขภาพจิต และในปัจจุบัน 'โรคซึมเศร้า' ถือว่าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจที่มีการพูดถึงมากที่สุดอาการหนึ่ง
ช่วง 2-3 ปีมานี้ กระแสโรคซึมเศร้าถูกยกมาเป็นประเด็นพูดคุยอย่างกว้างขวาง นอกจากความง่ายในการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้านี้แล้ว หนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะจมดิ่งนี้ น่าจะมาจากกรณีการตัดสินใจจบชีวิตตนเองของ ‘ประชาธิป มุสิกพงศ์’ หรือที่รู้จักกันดีในนาม สิงห์ สควีซ แอนิมอล (Sqweez Animal) นักร้องดังวัย 31 ปี รวมไปถึงกรณีที่นักแสดงชื่อดังพยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากผิดหวังในความรัก ทั้งหมดทั้งมวลล้วนนำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคมไทยต่อสภาวะที่เกิดขึ้นกับบุคคลสาธารณะทั้งหลาย และมีผลพลอยได้ให้ ‘โรคซึมเศร้า’ ขึ้นแท่นเป็นโรคยอดฮิตทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์
ในทางการแพทย์ โรคซึมเศร้าถือเป็นภาวะผิดปกติของอารมณ์ อันเป็นผลมาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า ‘เซโรโทนิน’ (Serotonin) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ ความโกรธ ความก้าวร้าว ความหิว ความวิตกกังวล นอกจากนั้น การลดลงของสารสื่อประสาทชนิดนี้ยังมีผลต่อการเกิดอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตรวมถึงการสื่อสารที่สะดวกขึ้น เปิดโอกาสให้ช่องทางการตรวจสอบตนเองเพิ่มตามไปเป็นเท่าตัว ช่องทางที่ง่ายที่สุดคือการทำแบบทดสอบตนเองตามอินเทอร์เน็ต คุณไม่ค่อยมีสมาธิ เหนื่อยหน่ายหดหู่ ไม่ค่อยมีแรงทำอะไร เครียด วิตก กังวล ไร้ญาติขาดมิตร...
หากตอบว่า “ใช่” มากกว่า “ไม่ใช่” ผลการทำแบบสอบถามคือ คุณอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า หรืออย่างน้อยก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว
เนื่องจากภาวะซึมเศร้าถือเป็นความป่วยไข้ทางจิตใจ (mental illness) การตรวจสอบและวินิจฉัยจึงไม่น่าจะง่ายเท่ากับผู้ป่วยด้วยโรคทางร่ายกายอื่น ๆ จากประสบการณ์ของผู้ป่วยซึมเศร้ารายหนึ่งระบุว่า เมื่อตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และผ่านพ้นกระบวนการอัดยาวเหยียดของการนัดคิวขั้นตอนแรกก็คือ การซักประวัติและย้อนเล่าเรื่องราวอัดอั้นจากเราสู่แพทย์
โดยอาจใช้เวลาอย่างน้อย 30-60 นาที ในบางสถานพยาบาลก็อาจเพิ่มขั้นตอนการทำแบบทดสอบสุขภาพจิตเพื่อประเมินอาการของผู้รับบริการในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเข้าพบแพทย์ ซึ่งแบบทดสอบนี้มีลักษณะคล้ายเคียงหรืออาจเหมือนกันกับรูปแบบที่เราสามารถค้นหาได้ง่าย ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปอาจเริ่มที่แบบทดสอบความเครียด
ซึ่งหากได้คะแนนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผู้รับบริการจะถูกขอให้ทำแบบทดสอบต่อไปคือ แบบคัดกรองซึมเศร้า และหากผู้รับบริการได้รับการประเมินว่ามีภาวะซึมเศร้า ในบางสถานบริการก็อาจขอให้ทำแบบคัดกรองความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายต่ออีกด้วย โชคไม่ดีที่สถานพยาบาลบางแห่งอาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางบริการ ผู้รับบริการจึงอาจจะได้แค่พบกับแพทย์อายุรศาสตร์ทั่วไปและอาจทำให้ได้การรักษาที่ไม่ตรงจุด
ที่น่าสนใจคือ หากผลการประเมินบ่งชี้ว่าผู้รับบริการมีภาวะซึมเศร้า หลังผ่านการบอกเล่าภูมิหลังและความกังวลของตนเองแล้ว จิตแพทย์อาจจะประเมินและวินิจฉัยอาการว่าผู้รับบริการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยไม่จำเป็นต้องนำบุคคลนั้น ๆ ไปผ่านการตรวจสอบอัตราการหลั่งของสารเซโรโทนินในสมองตามที่การแพทย์อ้างว่าเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการโรค และนั่นเท่ากับว่า ประมาณ 60 นาทีหลังจากแค่นั่งประจันหน้าบอกเล่าเรื่องราวกับจิตแพทย์ เราทั้งหลายก็อาจถูกเปลี่ยนสถานะจาก คนปกติ ไปเป็น ‘ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า’ ได้อย่างง่ายดาย
หนทางเยียวยา
การรักษาโรคซึมเศร้าอาจแบ่งได้หลักๆ 3 ทาง คือ
1. การพบนักจิตวิทยาเพื่อบำบัดผ่านการพูดคุย – โดยทั่วไปแล้ว นักจิตวิทยาจะขอให้เราเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รับบริการมักจะเน้นเล่าถึงปมที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตจนทำให้ประสบภาวะซึมเศร้า เช่น การเสียชีวิตของคนรักหรือคนในครอบครัว ความผิดหวัง การไม่เป็นจุดสนใจในสังคม ฯลฯ
ซึ่งหลังการบอกเล่าจบลง นักจิตวิทยาอาจใช้การพูดเสริมแรงบวก ไปจนถึงการชักจูงให้ผู้รับบริการร่วมมือกับการรักษา เช่น การจดบันทึกพฤติกรรมในแต่ละวันของผู้รับบริการ หรือการให้ผู้รับบริการช่วยออกแบบวิธีการปฏิบัติตนร่วมกันกับนักจิตวิทยา
2. การรักษาด้วยยา –ยาที่เป็นที่นิยมสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันได้แก่ ยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน และป้องกันการไหลกลับของสารชนิดนี้
ตัวอย่างยายอดฮิตในกลุ่มนี้ ได้แก่ fluvoxamine maleaate (Luvox), paroxetine (Paxil), sertraline (Zoloft), citalopram (Celexa) และ fluoxetine (Prozac)ซึ่งจิตแพทย์มักจะให้ผู้รับบริการทานยาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6-9 เดือน หรือบางรายอาจจะต้องทานยาดังกล่าวนี้ไปตลอดชีวิต และ
3. รักษาด้วยยาและการพบนักจิตวิทยาเพื่อทำการบำบัดร่วมกัน
แม้จะมีทางเลือกในการรักษามากมายหลากหลายกว่านี้ แต่ผู้รับบริการส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับคำแนะนำในการรักษาที่เพียงพอ และมักจะถูกรักษาด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
ธุรกิจการผลิต ‘ยาต้านเศร้า’
หนึ่งในข้อถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ต่อประสิทธิภาพของยาต้านเศร้าก็คือ ยาเหล่านี้มีผลทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าจริง หรือเป็นเพียงยาที่มีผลในเชิงจิตวิทยาไม่ต่างจากยาหลอก และหากยาต้านเศร้าไม่ต่างอะไรจากยาหลอกจริง เหตุใดผู้ใช้ยาจึงได้รับผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ หรือน้ำหนักตัวเพิ่ม
ในปี 1994 Walter Brown จิตแพทย์จาก Brown University School of Medicine ได้แนะนำแนวทางรักษากลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าชนิดอ่อนถึงปานกลางด้วยการให้ผู้รับบริการทานยาหลอก (placebos) ก่อนสัก 4-6 สัปดาห์ และหากผู้รับบริการยังมีอาการไม่ดีขึ้น จึงค่อยจ่ายยาเฉพาะทางให้
ซึ่งทุกครั้งก่อนที่บราวน์จะจ่ายยา เขาจะให้ข้อมูลแก่ผู้รับยาทุกคนว่า ยาเหล่านี้ได้รับการรับรองทางการแพทย์ (clinical trials) ว่าผู้ใช้ยามีภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังถามผู้รับบริการว่าพวกเขาต้องการรับยานี้ไปทดลองทานก่อนหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาของ Irving Kirsch ก็พบว่าในกระบวนการยื่นขออนุมัติเพื่อผลิตยาจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือ the US Food and Drug Administration (FDA) นั้นเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตด้วยการกำหนดให้บริษัทยาส่งผลทดลองทางการแพทย์ (clinical trials) ที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพของยาจริงกับยาหลอกเพียงแค่ 2 งานวิจัยเท่านั้น
นอกจากนั้นบริษัทยายังไม่จำเป็นต้องส่งผลการทดลองทางการแพทย์ที่ปรากฏผลในทางลบแก่คณะกรรมการฯ เนื่องจากเพียง 2 งานวิจัยที่แสดงว่ายาต้านเศร้านั้น ๆ ใช้ได้ผลก็เพียงพอแล้ว ให้ FDA ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตการผลิตและจัดจำหน่ายยาแก่บริษัททั้งหลาย เหนือไปกว่านั้นคือ เกือบครึ่งของผลการทดลองทางการแพทย์ที่บริษัทยาต้องนำไปยื่นแก่ FDA นั้น มาจากการสนับสนุนการวิจัยของเหล่าบริษัทเจ้าของยาที่อยู่ระหว่างการทดลองนั่นเอง
สำหรับผลทดลองที่ให้ผลเชิงลบนั้น จะรู้กันเฉพาะแค่บริษัทยา คณะผู้วิจัย และ FDA เท่านั้น จากการที่ Kirsch ยื่นคำร้องต่อศาลตาม Freedom of Information Act เพื่อให้ FDA เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทผู้ผลิตยาส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติ พบว่า ข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญแสดงว่ายาทั้งหลายที่มีประสิทธิผลจริงต่างจากยาหลอก มีเพียงร้อยละ 43 เท่านั่น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 57 ล้วนเป็นผลการทดลองที่ให้ผลเชิงลบหรือเป็นงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ายาทั้งหลายนั้นใช้ไม่ได้ผลจริง อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา จึงอาจจะน้อยเกินไปที่จะใช้กล่าวอ้างว่ายาต้านเศร้านั้นใช้ได้ผลจริง
ทำไมยาต้านเศร้าจึงใช้ได้ผล?
คำถามสำคัญที่ว่า ถ้าเหล่านักวิชาการพากันวิจารณ์ว่านวัตกรรมยาต้านเศร้าทำงานได้ดีแค่ในเชิงจิตวิทยา ไม่ต่างอะไรกับการทานยาหลอก แล้วเหตุใดผู้ใช้ยาจึงต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาไม่รู้จบสิ้น เราอาจต้องย้อนกลับไปที่กระบวนการทดลองใช้ยาก่อนขออนุมัติผลิต กระบวน การเหล่านี้ออกแบบด้วยการวางเงื่อนไขให้แม้กลุ่มอาสาสมัครจะไม่รู้ว่าตนเองได้รับยาต้านเศร้าจริงหรือได้รับยาหลอก แต่พวกเขาจะได้รับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาต้านเศร้าว่ามีอาการใดๆได้บ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประสิทธิภาพของยาต้านเศร้าอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะออกผล
ทว่าผลข้างเคียงของการใช้ยาอาจแสดงให้เห็นได้เร็วกว่านั้น เมื่อความใคร่รู้และสัญชาตญาณทำงานหนัก กลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ยาแล้วได้รับผลข้างเคียงจึงมักสงสัยว่า ยาที่ตนรับอยู่นั้นอาจจะเป็นยาต้านเศร้าที่ได้ผลจริง ๆ ก็ได้ ในอีกทางหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่อาสาสมัครหลายคนสรุปว่าพวกเขาได้รับยาต้านเศร้าจริงนั้น ก็เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับผลข้างเคียงของยาที่ไม่อาจตอบได้ว่ามาจากยาต้านเศร้าจริง หรือยาหลอก
Bret Rutherford กับคณะวิจัยแห่งมหาวิทยาโคลัมเบีย ได้ศึกษาการตอบสนองต่อยาต้านเศร้าด้วยการเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับยาหลอก กับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาหลอก ความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญที่พวกเขาพบก็คือ ในกลุ่มตัวอย่างแรกนั้นเชื่ออย่างสนิทใจว่าพวกเขาได้รับยาต้านเศร้าจริง และยานั้นก็ได้ผลจริงต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขา
ขณะที่กลุ่มที่รู้ตัวดีว่าตนจะได้รับยาหลอกในการทดลอง ก็รีบด่วนตัดสินใจภายในวันแรก ๆ ว่ายานั้นไม่ได้ผล สิ่งที่เราพอจะสรุปได้ก็คือ กระบวนการทางจิตวิทยาทำงานกับเราได้ไวและสูงมากเกินกว่าเราจะตระหนัก การแน่ใจว่าตนเองจะได้รับยาจริงนั้น ช่วยกระตุ้นการรับรู้และประสิทธิภาพของยาได้อย่างไม่น่าเชื่อ และการออกแบบการทดลองที่คาดหวังผลไว้ล่วงหน้าแล้วนั้น อย่างไรเสียก็ได้ผลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้จัดการทดลอง
โดยในการออกแบบการทดลองทั้งหลายนั้น นอกจากจะต้องตั้งสมมติฐานเพื่อทำการพิสูจน์แล้ว ยังต้องออกแบบกระบวนการวิจัยให้รัดกุมและควบคุมได้ แต่ไม่ใช่กับการวิจัยที่บริษัทยาล้วนเป็นผู้สนับสนุนการทดลอง เพราะคณะผู้วิจัยพร้อมทุกเมื่อที่จะเปลี่ยนกระบวนการทดลองเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตรงกับสมมติฐานหรือสิ่งที่นายทุนทั้งหลายคาดหวังไว้ และหากสิทธิบัตรยาชนิดใดใกล้หมดอายุ บริษัทยาก็เพียงแค่เปลี่ยนส่วนผสมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สูตรยาไม่เหมือนเก่า และเอาไปขออนุมัติการผลิตได้เหมือนเดิม
ชัยชนะเหนือคลังยา
ยาต้านเศร้าที่ใช้ในประเทศไทยตอนนี้ ล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์ดังหลักอย่างตัวยา sertraline ที่มีชื่อเรียกทางการค้าว่า Zoloft และตัวยา fluoxetine ซึ่งคุ้นหูกันดีในชื่อ Prozac และ Sarafem หากเปรียบห้องจ่ายยาเป็นสมรภูมิสงคราม ผู้แทนยาจากทั้ง Zoloft และ Prozac (และอาจรวมถึงแบรนด์อื่น ๆ) ต่างก็ห้ำหั่นเพื่อชนะใจแพทย์ให้เซ็นอนุมัติสั่งยาของพวกเขาไปใช้
สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารฉันใด ข้อมูลมากมายที่เปิดโปงอุตสาหกรรมยาก็ทำลายธุรกิจที่สัมพันธ์กับชีวิตคนไม่ได้ฉันนั้น เพราะนอกจากบริษัทยาจะทุ่มงบประมาณสำหรับทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า มากกว่างบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาตัวยาแล้ว สารพัดแคมเปญที่ค่อย ๆ หยดน้ำลงหินเพื่อซื้อพื้นที่ในใจผู้บริโภคก็ยังทำงานได้ผลเสมอมา
ในตลาดยาต้านเศร้ามีแคมเปญโฆษณาที่ดูจะครอบคลุมแทบทุกอารมณ์ป่วงของมนุษย์ โดยบริษัทขายยาต้านเศร้าได้หันมาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภค แทนที่จะใช้ผู้แทนยาวิ่งเข้าหาแพทย์เพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน เช่น บริษัท Eli Lilly ที่ปล่อยแคมเปญ ‘You’re Having One Of Those Prozac Days” ด้วยการแทนที่ “ความไม่ปกติทางอารมณ์และจิตใจ” ว่า Prozac ที่เป็นชื่อทางการค้าของยาต้านเศร้าของลิลลี่เอง เป็นต้น
กลยุทธิ์ทางการค้าเหล่านี้นี่เองที่ค่อย ๆ กล่อมผู้บริโภคในสังคมให้เห็นถึงความวิเศษของยาดังกล่าว ราวกับว่า ยาเหล่านี้ช่วยดูแลเราได้ครอบจักรวาล ซึ่งนั่นทำให้ความต้องการใช้ยาจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวนั่นเอง
เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน
ไม่ว่างานวิจัยจะออกมาชี้ให้เห็นถึงอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเศร้า เช่น วัยรุ่นที่ใช้ยาต้านเศร้านั้นมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายสูง อีกทั้งยาต้านเศร้ายังเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และแม่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงการที่ยังไม่มีหลักฐานใดจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า โรคซึมเศร้านั้นมีสาเหตุมาจากการลดลงของสารสื่อประสาทอย่างเซโรโทนินจริง ๆ และในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีใครยืนยันได้เลยด้วยซ้ำว่า โรคซึมเศร้านั้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่
ยาต้านเศร้าที่ดูจะเข้ากันได้ดีในทุกวาระอารมณ์ตามที่โฆษณากล่าวอ้างนั้น แท้จริงแล้วใช่ว่าร่างกายของทุกคนจะปรับสภาพให้รับยาดังกล่าวได้เหมือนกัน การรับยาในครั้งแรกจึงเสมือนเป็นการ “ลองเชิง”ของยาต่อร่างกาย หากไม่มีปัญหาอะไร หมอก็อาจปรับขนาดยาเพิ่มให้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเปลี่ยนชนิดยา ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้รับบริการจะต้องเริ่มต้นกระบวนการ ‘ลองยา’ ใหม่อีกครั้ง รวมถึงต้องผจญผลข้างเคียงใด ๆ ที่อาจขึ้นกับร่างกายอีกไม่รู้จบ
ตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่ใช้ยาโซลอฟต์รายหนึ่ง พบว่า นอกจากแพทย์จะให้เธอทดลองทานยาต้านเศร้าเพื่อหายาที่เข้ากันได้กับร่างกายเธอจำนวน 3 ชนิดแล้ว อาการหนึ่งที่เธอได้รับพ่วงมาด้วยจากการทานยาต้านซึมเศร้าก็คือ การนอนไม่หลับ
ซึ่งแพทย์ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการสั่งจ่ายยานอนหลับเพิ่มให้เธอ เรื่องที่ควรรู้ก็คือ องค์การอาหารและยาของไทย กำหนดให้ยานอนหลับเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง และแน่นอน เธอติดยานอนหลับชนิดว่าหากวันไหนไม่ได้ใช้ เธอก็จะไม่สามารถนอนหลับได้เลย เธอยังเล่าอีกว่า แพทย์ให้เธอทานยาต้านเศร้าตอนเย็นหลังอาหาร เมื่อยาทำให้เธอร่าเริง ตอนกลางคืนเธอจึงต้องใช้ยานอนหลับเพื่อกล่อมให้เธอพักผ่อนตามเวลา ผลที่ตามมาคือเธอเปรียบตัวเองเป็นเหมือน‘ซอมบี้’ ที่ตื่นเช้ามามีชีวิตแข็งทื่อและซึมเพราะฤทธิ์ยานอนหลับ
ข้ออ้างที่ได้ผลเสมอสำหรับการที่ผู้รับบริการต้องใช้ยาต้านเศร้าอย่างน้อย 6-9 เดือน คือคำกล่าวอ้างจากจิตแพทย์ว่าสารเคมีในสมองของเรานั้นต้องใช้เวลาในการปรับเพื่อความสมดุล และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้รับบริการคนใดหายจากโรคซึมเศร้าแล้ว ก็จะยังไม่สามารถหยุดยาได้ทันที เนื่องจากยาต้านเศร้าจะต้องใช้ระยะเวลาในการ ‘ถอนยา’ จากผู้ใช้ด้วยการค่อย ๆ ลดปริมาณการบริโภคลง ช่วงระยะเวลาอันยาวนานของการใช้ยา กระแสความซึมเศร้าเพราะสารเคมีในสมอง และการสั่งจ่ายหลายยาควบคู่กับยาต้านเศร้าจนผู้ใช้ขาดยาไม่ได้ จึงอาจเอื้อผลประโยชน์วนเวียนกันอยู่แค่ภายในอุตสาหกรรมยา
ขณะที่มายาคติเรื่องความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองกระตุ้นให้ผู้คนหันเข้าหาจิตแพทย์และยาต้านเศร้า ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเวลาเดียวกับที่เม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าสู่กระเป๋าบริษัทยาอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด
http://www.tcijthai.com/news/2017/19/scoop/6761
ที่มาภาพประกอบ: Unsplash (CC0)
ข้อมูลอ้างอิง:
Barry Ritholtz. (2015, February 12). 9 Out Of 10 Big Pharma Companies Spent More on Marketing Than On R&D. Retrieved from The Big Picture: http://ritholtz.com/2015/02/9-out-of-10-big-pharma-companies-spent-more-on-marketing-than-on-rd/
Irving Kirsch. (2014). Antidepressants and the Placebo Effect. ZeitschriftfürPsychologie, page: 128-134.
John Kelly. (2010, March 2). Antidepressants: Do They "Work" or Don't They? Retrieved from Scientific American: https://www.scientificamerican.com/article/antidepressants-do-they-work-or-dont-they/
Rutherford, B. R., Sneed, J. R., &Roose, S. P., (2009). Does study design influence outcome? Psychotherapy and Psychosomatics, vol. 78, page 172-181.