"เครื่องโม่หิน" หรือครกบดแป้ง สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นภูมิปัญญาแสนประณีตที่เลือนหายตามกาลเวลา
การโม่แป้งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของไทยที่มีรากฐานจากการผสมผสานวัฒนธรรมกับจีนและอินเดีย แป้งสดจากการโม่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารว่างและขนมไทยในอดีต เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ ถั่วแปบ ขนมครก และกุยช่าย อุปกรณ์หลักในการโม่คือโม่หินที่ทำจากหินแกรนิต มีลักษณะเป็นครกและฝาครก ซึ่งเมื่อนำข้าวหรือถั่วที่แช่น้ำแล้วใส่ทีละน้อย จากนั้นจึงค่อยๆ หมุนโม่ ทำให้แป้งละเอียดไหลออกจากช่องครกจนได้แป้งสดคุณภาพดี
แป้งสดที่ได้จะถูกนำไปกรองและรีดน้ำออก ก่อนนำไปตากแห้งเพื่อให้พร้อมใช้ การโม่แป้งเองช่วยให้เราควบคุมคุณภาพและเลือกวัตถุดิบได้ตามต้องการ แป้งที่ได้จากการโม่จึงให้สัมผัสที่เนียนและหอมมากกว่าแป้งสำเร็จรูป อีกทั้งยังสามารถผสมแป้งชนิดต่างๆ เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่หลากหลายตามต้องการ เช่น แป้งข้าวเจ้าที่นุ่ม แป้งข้าวเหนียวที่เหนียวหนึบ แป้งมันสำปะหลังที่ใสเหนียว หรือแป้งเท้ายายม่อมที่ให้สัมผัสเหนียวข้น
ปัจจุบันการโม่แป้งแบบดั้งเดิมลดน้อยลง เครื่องโม่หินกลายเป็นของหายาก เพราะผู้คนหันไปใช้แป้งสำเร็จรูปหรือเครื่องโม่ไฟฟ้าแทน แต่อุปกรณ์โม่แป้งยังคงเป็นเครื่องเตือนใจถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้แป้งไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนถึงความละเมียดละไมของคนรุ่นก่อนที่สร้างสรรค์อาหารไทยจากแป้งโม่สด
ขอบคุณภาพประกอบ จากคุณ ณัฐณิชา ทวีมาก