เจียงซือ "ผีกัดอย่ากัดตอบ" ผีดิบกองกอยแห่งราชวงศ์ชิง
หลายคนชอบชมภาพยนตร์แนวผีสางของจีนเพราะความสนุกสนาน แต่น้อยคนนักจะทราบว่า "ผีเจียงซือ" หรือผีดิบจีน คือผีตนใด วันนี้ เราจะพาไปดูกันว่า ผีเจียงซือคืออะไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนอย่างไร
ถ้าพูดถึง "ผีเจียงซือ" หลายคนคงสงสัยว่าคือผีตนไหน แต่ถ้าบอกว่ามันคือ "ผีก่อยกระโดด" ทุกคนอาจเข้าใจได้มากขึ้น ด้วยลักษณะพิเศษของมัน คือ การกระโดดไปมา หรือโดนผ้ายันต์ติดไว้ที่หน้าผาก เหมือนที่เห็นกันในสื่อต่างๆ เช่น วีดีโอเกมส์ หรือภาพยนตร์จีนทั่วไป ที่สร้างความตลกขบขันให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก
ผีเจียงซือ หรือ ผีก่อย เป็นเพียงความเชื่อทางไสยศาสตร์ของลัทธิเต๋า สำนักเหมาซาน ที่เชื่อว่าผู้ที่ตายนั้น จะต้องนำศพมาฝังยังบ้านเกิด แต่ด้วยการเดินทางที่ยากลำบากทำให้นักพรตสำนักเหมาซาน ต้องปลุกดวงวิญญาณผู้ตายให้ลุกขึ้นมากระโดดตามเป็นขบวนแทนการขนศพ โดยสั่นกระดิ่งให้เป็นจังหวะ แต่พิธีปลุกวิญญาณเจียงซือ กลับเป็นความลับห้ามผู้ใดเห็นเป็นอันขาด และเป็นที่นิยมอย่างมากในมณฑลหูหนาน
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องโกหก เพื่อกลบเกลื่อนการลักลอบขโมยศพเพื่อจุดประสงค์ทางไสยศาสตร์ ด้วยการห่อศพด้วยไม้ไผ่มัดรวมกันแล้วแบกใส่หลังจึงเห็นเป็นขบวน
เจียงซือ มีลักษณะผิวแห้งซีด ขนยาว มีเชื้อรารอบตัว มักอาศัยอยู่ในถํ้าหรือโลงศพ ออกหากินในเวลากลางคืน ด้วยการดูดเลือดมนุษย์ วิธีป้องกันคือการโรยข้าวสารตามพื้นเพื่อถ่วงเวลา เพราะเจียงซือจะหยุดนับข้าวสารโดยละเอียด หรือการหยุดหายใจชั่วขณะ เพื่อให้มันกระโดดผ่านไป
น่าสนใจว่า ผีเจียงซือ มักถูกพูดถึงเพียงแค่สมัยราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจักรวรรดิจีนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นกลียุค เกิดความวุ่นวาย ฉ้อราษฐ์บังหลวง ประชาชนเเร้นแค้น บางคนกลับคิดว่า การปลุกวิญญาณเจียงซือนั้น แสดงให้เห็นถึงความยากจนของประชาชน เมื่อเสียชีวิตแล้วไม่มีแม้กระทั่งโลงศพของตนเพื่อขนศพกลับบ้านเกิด แม้แต่การแต่งกายของเจียงซือ มักเป็นชุดข้าราชสำนักชิงเสียเป็นส่วนใหญ่
ความสนุกของภาพยนตร์แนวผีเจียงซือของฮ่องกงอย่าง "ผีกัดอย่ากัดตอบ" ที่ออกฉาย และทำรายได้อย่างถล่มทลายในปี 2528 ก็ยังคงไม่ทิ้งประเด็นทางการเมืองไปเสียหมด เพราะฉากหลังคือการต่อสู้กับผีแห่งราชวงศ์ชิง ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติซินไห่ เพื่อล้มราชวงศ์ชิง ในปี 2454 จนนำไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ภายใต้การนำของดร.ซุนยัตเซ็น ที่ชูลัทธิไตรราษฎร์ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เสมือนการบอกนัยยะทางการเมืองบางอย่างแก่ผู้ชมไปด้วย
แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=Ei_unu_SAjM&t=25s