‘รู้ใช้’ อั่งเปารับตรุษจีน
ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้’ ขอให้ตรุษจีนปี นี้ ทุกๆ ท่านได้รับอั่งเปาตั่วตั่วไก๊กันถ้วนหน้านะคะ
เทศกาลตรุษจีน ถือเสมือนวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน โดยปกติจะแบ่งเทศกาลนี้ออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว สิ่งสำคัญเมื่อนึกถึงเทศกาลนี้แล้วนอกจากจะนึกถึงเมนูอาหารที่นำมาไหว้บรรพบุรุษอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผลไม้ ขนมนมเนยต่างๆ ‘อั่งเปา’ หรือ ‘แต๊ะเอีย’ ก็ยังเป็นไฮไลท์สำคัญของเทศกาลนี้
โดยส่วนมากผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก มักจะมีความสุขกับช่วงเทศกาลนี้มากที่สุด เพราะนอกจากจะได้กินอาหารอร่อยแล้วยังได้รับอั่งเปามาเป็นเงินถุงเงินถัง เด็กๆ บางคนให้ผู้ปกครองเก็บไว้ บ้างก็นำไปซื้อขนม บ้างก็นำไปเก็บเป็นเงินขวัญถุงเพื่อความเป็นสิริมงคล
ซึ่งจากการทบทวนองค์ความรู้ แนวทางการสร้างสุขทางการเงิน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ความเชื่อเรื่องความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล กับความสุขทางการเงินมีความสอดคล้องกัน แต่การมีความสุขทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย เพียงแค่กินอยู่อย่างพอดี มีเงินใช้ตามฐานะ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือการรู้จักสุขภาพทางการเงินของตนเอง ภายใต้ความรู้ 4 ประการสู่ความมั่งคั่ง นั่นคือ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้จักขยายดอกผล
เพื่อให้เทศกาลตรุษจีนปีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการ ‘รู้ใช้’ โดยใช้เงินอย่างชาญฉลาด สร้างโอกาสไปกับการมีสุขภาพดีทั้ง 4 ด้าน ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม ทีมเว็บไซต์ สสส. ได้รวบรวมวิธีการใช้เงินมาฝากดังนี้ค่ะ
1. ด้านสุขภาพร่างกาย
การเริ่มต้นมีชีวิตที่ดี ย่อมมาจากการมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ห่างไกลโรค การแบ่งเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายลงทุนด้านสุขภาพในยามที่ยังแข็งแรงอยู่ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อย อย่างเช่น การซื้อรองเท้าออกกำลังกาย ซื้อจักรยานปั่นออกกำลังกาย ซื้อเสื่อโยคะเอาไว้เล่นก่อนนอน หรือการลงทุนเพื่อสุขภาพต่างๆ รวมถึงการเลือกซื้ออาหารที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วนด้วย
2. ด้านจิตใจ
หากคนเรามีจิตใจที่ห่อเหี่ยว ปราศจากซึ่งความสุข ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ดังนั้นการยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับการมีความสุขที่เพิ่มขึ้นก็มีความคุ้มค่าไม่น้อย เช่น การซื้อหนังสือดีๆ ที่ให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต การออกไปดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือการนำเงินไปใช้ในการทำบุญก็ส่งผลด้านบวกต่อจิตใจได้ อย่างเช่น การเข้าร่วมทำภารกิจจิตอาสา กับเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสา (jitarsabank.com) ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการทำความดีหลากหลาย ทั้งการบริจาคสิ่งของ งานอาสาดูแลจิตใจ งานช่วยเหลือผู้ป่วย งานอาสาทำความสะอาดบ้านให้น้องๆ ที่สถานสงเคราะห์ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลจิตใจของตัวเราเองแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เข้าไปช่วยเติมเต็มความสุขในจิตใจของผู้อื่นได้ดีอีกด้วย
3. ด้านการเพิ่มทักษะปัญญา
การมีความรู้ติดตัวถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นควรหมั่นเพิ่มทักษะความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับตัวเอง เช่น เลือกเรียนภาษาเพิ่มเติม ลงเรียนทำอาหาร เพิ่มทักษะด้านงานฝีมือ การเย็บปักถักร้อย เลือกเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า หรือเพิ่มทักษะด้านงานศิลปะให้ตัวเอง เป็นต้น
4. ด้านสังคม
การได้ออกไปใช้ชีวิตถือเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้เรียนรู้รสนิยมและความชอบของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการผ่อนคลายความเครียด ทำให้ได้เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนอื่นมากขึ้น เช่น การออกทริปในช่วงวันหยุด ออกไปกินข้าวนอกบ้านกับเพื่อน เป็นต้น
การนำเงินอั่งเปามาใช้บางส่วนเพื่อเป็นการมอบของขวัญให้ตัวเอง โดยอยู่บนพื้นฐานของความพอดี มีสติในการใช้จ่าย ก็สามารถสร้างความสุขให้ตัวเองได้ทั้ง 4 ด้าน ทั้งนี้ แม้จะยังเป็นเด็กหรือวัยทำงานก็ไม่ควรละเลยการสร้างพฤติกรรมการออมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือ เมื่อในอนาคตประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะได้เป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ
ทิ้งท้ายแนวคิดจากหนังสือ ‘มโนทัศน์ใหม่ นิยามผู้สูงอายุ และอายุการทำงานที่เหมาะสม’ โดย สสส.และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เขียนเอาไว้ว่า ‘ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ขาดการวางแผนการออมเงินจากรายได้ในแต่ละเดือน หรือไม่ก็อาจมีเงินออมแต่จำนวนไม่เพียงพอที่จะเก็บไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ’ ขอให้มีความสุขกับการออมและการใช้เงินอั่งเปาในตรุษจีนนี้นะคะ
เรื่องโดย : คุณดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
http://www.thaihealth.or.th/Content/35135-‘รู้ใช้’ อั่งเปารับตรุษจีน.html