ปี 60 จะเกิดวิกฤตจริงหรือ
ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2559 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) นำเสนอผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย พ.ศ.2559 และแนวโน้มปี 2560 จึงขอสรุปไว้ดังนี้:
ว่าด้วยการสำรวจ
การสำรวจนี้ได้ไปเยี่ยมเยียนโครงการต่าง ๆ ที่กำลังขายกันอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 1,837 โครงการ และในจำนวนนี้มี 1,246 โครงการที่ยังมีหน่วยขายเหลืออยู่ถึง 20 หน่วยขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครคึกคักที่สุดในนครหลวงต่าง ๆ ทั่วอาเซียน ทั้งนี้อันดับสองคือกรุงจาการ์ตามีโครงการที่กำลังขายอยู่เพียง 411 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้ในการสำรวจนี้ยังรวมถึงโครงการที่เปิดใหม่ในปี 2560 อีก 459 โครงการอีกด้วย โดยในแต่ละโครงการศูนย์ข้อมูลฯ ได้เข้าไปสำรวจถึงที่ตั้งในทุกโครงการที่เปิดใหม่ และไปสำรวจการเปลี่ยนแปลงในการขายและการตลาดทุกรอบไตรมาสอีกด้วย การสำรวจของศูนย์ข้อมูลฯ นี้จึงถือเป็นการสำรวจที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด และการนำเสนอข้อมูลในวันนี้จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่เป็น First Hand Information ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
การสำรวจของศูนย์จข้อมูลฯ นี้ สำรวจข้อมูลในฐานะผู้ที่จะซื้อบ้านหรือทรัพย์สิน ไม่ได้ไปในฐานะเจ้าหน้าที่ และศูนย์ข้อมูลฯ ก็ไม่ได้เป็นนายหน้าหรือไม่ได้พัฒนาที่ดินเอง จึงตั้งใจนำเสนอข้อมูลที่เที่ยงตรงเป็นกลางที่สุด โดยไม่เข้าข้างหรือให้ร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการสำรวจนี้ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงครอบคลุมโครงการ (แทบ) ทั้งหมด ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด และเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้มากที่สุดในประเทศไทย
การเปิดตัวโครงการใหม่
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โครงการเปิดใหม่ในปี 2559 นั้นเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 เล็กน้อย แม้จะเรียกได้ว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4% ทั้งนี้ข้อมูลรายเดือนจากการสำรวจโครงการใหม่อาจน้อยกว่านี้ เพราะในแต่ละไตรมาส ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ไปสำรวจแบบ "ปูพรม" จึงพบโครงการที่ตกหล่นบ้าง และสุดท้ายจึงได้จำนวนโครงการเปิดใหม่ 459 หน่วย จากปี 2538 ที่มี 431 หน่วย จำนวนหน่วยขายเพิ่มขึ้น 2.4% จากที่เกิดขึ้น 107,990 หน่วยในปี 2558 เพิ่มเป็น 110,557 หน่วย
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากมูลค่าการพัฒนาจะพบว่ามูลค่าลดลงถึง 12.2% คือลดลงจาก 435,056 ล้านบาทในปี 2558 เหลือเพียง 382,110 ล้านบาทเท่านั้น การลดลงของมูลค่านี้เป็นเพราะในปี 2558 มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาแพงเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ แต่ในปี 2559 สินค้าราคาแพงกลับเกิดขึ้นน้อยลง ทำให้มูลค่าลดต่ำลง จะเห็นได้ว่าราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในปี 2559 คือ 3.456 ล้านบาทต่อหน่วย ในขณะที่เป็นราคาสูงถึง 4.029 ล้านบาทในปี 2558 ราคาบ้านในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังถูกก
ว่าในกรุงฮานอยที่ขายสูงถึงเฉลี่ยหน่วยละสูงถึง 5.648 ล้านบาท
เจาะลึกสินค้าเปิดใหม่
ในจำนวนสินค้าเปิดใหม่ 110,577 หน่วยนั้น มีจำนวนถึง 58,350 หน่วย หรือ 53% เป็นห้องชุดพักอาศัย รองลงมาคือทาวน์เฮาส์ 29,932 หน่วย (27%) และบ้านเดี่ยว 12,146 หน่วยหรือ 11% อาจกล่าวได้ว่าสินค้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาททั้งหมดที่เปิดตัวมี 36% ของทั้งหมด และหากนับรวมสินค้าที่มีราคาปานกลางทั้งหลาย (คือ ณ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย) จะพบว่ามีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 61% ของทั้งหมด ส่วนสินค้าที่มีราคาแพงคือตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น มีเพียง 3,295 หน่วย หรือเพียง 3% ของทั้งตลาด แต่มีมูลค่ารวมกันถึง 18% ของทั้งตลาด
หากเจาะลึกเป็นรายประเภท จะพบว่าห้องชุดราคา 1-2 ล้านบาทมีการเปิดขายมากที่สุดคือ 19,356 หน่วย หรือ 18% ของทั้งหมดที่เปิดขายในปี 2559 รองลงมาเป็นห้องชุดราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 12,607 หน่วย ถัดมาก็คือสินค้าประเภททาวน์เฮาส์ ณ ราคา 1-2 ล้านบาท โดยเปิดขาย 12,574 หน่วย ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์กลุ่มใหญ่ที่สุดที่เปิดขาย ส่วนในกลุ่มบ้านเดี่ยวนั้น เปิดขายกันในราคา 3-5 ล้านบาท เป็นสำคัญ โดยมีจำนวน 5,928 หน่วย จากบ้านเดี่ยวทั้งหมด 12,146 หน่วย (49%) ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดบ้านแฝดมากขึ้นถึง 7,287 หน่วย และส่วนมากก็ขายในราคา 3-5 ล้านบาท (4,052 หน่วย หรือ 56% ของบ้านแฝด) เหตุผลที่บ้านแฝดเกิดมาก เพราะมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่สร้างบ้านแฝดให้ดูเหมือนบ้านเดี่ยว ทำให้ประหยัดที่ดินลงกว่าบ้านเดี่ยว
เจาะลึกสินค้าที่เปิดตัวสูงสุด
ศูนย์ข้อมูลฯ เป็นแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวที่สามารถเจาะลึกข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด โดยจะพบว่า
1. สินค้าที่เปิดตัวสูงสุดก็คือห้องชุดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แถวทำเล G3 อ่อนนุช-ศรีนครินทร์ โดยเปิดขึ้นถึง 2,209 หน่วย และภายในห้วงเวลาเดียวกันก็สามารถขายได้สูงถึง 2,262 หน่วย เหลือเพียง 47 หน่วย นับเป็นการเปิดตัวถึง 5.1% ของทั้งหมด (110,577 หน่วย)
2. อันดับสองเป็นห้องชุด ราคา 1-2 ล้านบาท แถวทำเล C1 รัตนาธิเบศร์-จัสโก้ โดยเปิดขายถึง 2,032 หน่วย ขายได้เร็วมากถึง 1,962 หน่วย เหลือเพียง 70 หน่วย นับว่าเปิดขายถึง 4.7% ของอุปทานทั้งปี 2559
3. อันดับ 3 ก็คือห้องชุดราคา 2-3 ล้านบาท แถว F5 รัชดาภิเษก-ลาดพร้าว โดยเปิดถึง 1,911 หน่วย ขายได้แล้ว 1,203 หน่วย เหลือ 708 หน่วย นับว่าเปิดตัวรวมกันถึง 4.4%
4. อันดับ 4 คือ ห้องชุดแถว G3 อ่อนนุฃ-ศรีนครินทร์ ทำเลเดิม แต่เป็น ณ ราคา 3-5 ล้านบาท เปิดขายถึง 1,880 หน่วย ขายได้แล้ว 1,294 หน่วย นับว่าเปิดถึง 4.3% ของทั้งหมด
5. อันดับ 5 เป็นทำเล L3 บางพลัด เปิดขายห้องชุดราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 1,833 หน่วย ขายได้ดีมากถึง 1,448 หน่วย และกลุ่มนี้มีสัดส่วนในตลาดถึง 4.2%
จะสังเกตได้ว่าใน 20 กลุ่มแรกของสินค้าแยกตามทำเล ประเภทและระดับราคาที่เปิดขายมากที่สุดนั้น เกือบทั้งหมดเป็นห้องชุดพักอาศัย มีเพียง ทาวน์เฮาส์ราคา 1-2 ล้านบาท แถว G5 ลาดกระบัง และแถว H8 บางนา-ตราด กม.10-30 ที่เปิดขายมากถึง 1,314 และ 1,308 หน่วย แต่การขายยังค่อนข้างช้าอยู่
ภาพรวมของการขายสินค้า
ศูนย์ข้อมูลฯ พบว่า อุปทานที่เปิดขายใหม่ ทั้งปี 59 จำนวนโครงการ จำนวนหน่วยขาย เพิ่มขึ้น แต่มูลค่า และราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 58
1. จำนวนโครงการเปิดใหม่ปี 59 จำนวน 453 โครงการ เพิ่ม 28 โครงการ (7%) จากปี 58
2. จำนวนหน่วยขายเปิดใหม่ปี 59 จำนวน 110,577 หน่วย เพิ่ม 2,587 หน่วย (4%) จากปี 58
3. มูลค่าโครงการปี 59 จำนวน 382,110 ล้านบาท ลดลง 52,946 ล้านบาท (-12%) จากปี 58
4. ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วย 3.456 ล้านบาท ลดลง (-14%) จากราคา 4.029 ล้านบาท ณ สิ้นปี 58
ยอดซื้อ ปี 2559 จำนวน 98,408 หน่วย ลดลงจากปี 58 จำนวน 5,489 หน่วย หรือ (-5%) ทั้งนี้สามารถแยกแยะได้ดังนี้:
บ้านเดี่ยว: หน่วยขายเปิดใหม่ทั้งปี 59 จำนวน 12,146 หน่วย ลด 418 หน่วย (-3%) จากปี 58
อุปทานเหลือขาย 39,527 หน่วย ลดลง 299 หน่วย (-0.8%) จากสิ้นปี 58
ขายได้ปี 59 จำนวน 12,445 หน่วย เพิ่ม 327 หน่วย (3%) จากปี 58
ทาวน์เฮ้าส์: หน่วยขายเปิดใหม่ทั้งปี 29,932 หน่วย เพิ่ม 4,932 หน่วย (20%) จากปี 58
อุปทานเหลือขาย 54,654 หน่วย เพิ่ม 5,655 หน่วย (12%) จากสิ้นปี 58
ขายได้ปี 59 จำนวน 24,277 หน่วย ลดลง 2,868 หน่วย (-11%) จากปี 58
ห้องชุดพักอาศัย: หน่วยขายเปิดใหม่ 58,350 หน่วย ลด 4,483 หน่วย (-7%) จากปี 58
อุปทานเหลือขาย 69,798 หน่วย เพิ่ม 2,449 หน่วย (4%) จากสื้นปี 58
ขายได้ปี 59 จำนวน 55,901 หน่วย ลด 3,119 หน่วย (-5%) จากปี 58
อาจกล่าวได้ว่าอุปสงค์ ทั้งปีโดยรวมลดลง 5,489 หน่วย หรือ -5.3% จากปี 2558 ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ อุปทานคงเหลือสะสม รวม ณ สิ้นปี 2559 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 58 ประมาณ 7.2% จาก 171,905 หน่วย ณ สิ้นปี 58 เพิ่มเป็น 184,329 หน่วย (เพิ่ม 12,424 หน่วย)
สัญญาณอันตราย สินค้าหยุดการขาย
สินค้าที่หยุดการขาย คือสินค้าที่แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ย่ำแย่ ไม่สามารถขายออกได้ เป็นดัชนีสำคัญอันหนึ่งของตลาดที่อยู่อาศัย จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลฯ พบว่า
1. ณ สิ้นปี 2559 มีสินค้าที่หยุดการขายไปจำนวนรวม 165 โครงการ 47,256 หน่วย มูลค่า 118,155 ล้านบาท
2. ณ กลางปี 259 มีจำนวน 150 โครงการ 38,647 หน่วย มูลค่า 105,973 ล้านบาท
การนี้แสดงว่าจำนวนโครงการที่หยุดการขายเพิ่ม 15 โครงการ (8%) หน่วยขายเพิ่ม 8,609 หน่วย (22%) มูลค่าเพิ่ม 12,182 ล้านบาท (11%) ยิ่งหากเทียบทั้งปีคือเมื่อเดือนธันวาคม 2558 จะพบว่า สินค้าที่หยุดการขายมีเพียง 37,723 หน่วย ขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 25% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 99,499 ล้านบาท เป็น 118,155 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19%
สำหรับเหตุผลที่โครงการเจ๊งไปเพราะสถานบันการเงินไม่อำนวยสินเชื่อ 26% ไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 24% และขายไม่ออก 16% อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับอุปทานโดยรวมทั้งหมดแล้ว จะพบว่ายังไม่เป็นสัญญาณที่ถึงขีดอันตราย แต่หากในอนาคตยังพุ่งไม่หยุด ก็อาจเป็นปัญหาได้
อันดับบริษัทพัฒนาที่ดิน
อันดับของบริษัทพัฒนาที่ดิน 3 อันดับแรก เรียงเหมือนกันทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ดังนี้:
1. บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดโดยเปิดตัวโครงการจำนวนมากที่สุดถึง 42 โครงการ รวม 15,402 หน่วย รวมมูลค่า 37,673 ล้านบาท มีสัดส่วนในตลาด 14.3% ในแง่จำนวนหน่วย และ 8.7% ในแง่มูลค่าการพัฒนา
2. อันดับสองคือ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดขาย 19 โครงการในปี 2559 รวมมูลค่า 25,098 ล้านบาท รวม 6,821 หน่วย มีสัดส่วนในตลาด 6.3% ในแง่จำนวนหน่วย และ 5.8% ในแง่มูลค่าการพัฒนา
3. อันดับที่สามก็คือ บมจ.ศุภาลัย โดยเปิดพัฒนาถึง 14 โครงการ รวม 5,514 หน่วย รวมมูลค่า 20,824 ล้านบาท โดยอาจกล่าวได้ว่าบริษัทนี้มีสัดส่วนในตลาด 5.1% ในแง่จำนวนหน่วย และ 4.8% ในแง่ของมูลค่า
อาจกล่าวได้ว่าบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนกว่า 50 แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 2/3 ของทั้งตลาดที่เหลืออีก 200 บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 1/3 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่มีบริษัทใดที่จะสามารถเป็นผู้ชี้นำตลาดได้โดยตรง เพราะสัดส่วนทางการตลาดยังไม่สูงมากนัก
บทสรุป
อาจสรุปได้ว่า จำนวนอุปทานเปิดตัวใหม่ปี 2559 จำนวนหน่วย 110,577 หน่วย เพิ่ม (2.4%) จากปี 2558 มูลค่าการเปิดตัว จำนวน 382,110 ล้านบาท ลด (-12.2%) จากปี 2558 ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยลดเป็น 3.456 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2558 ที่ราคา 4.029 ล้านบาท (ลด 14.2%) อุปทานคงเหลือทั้งตลาดเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 ประมาณ 7.2% จาก 171,905 หน่วย ณ สิ้นปี 2558 เป็น 184,329 หน่วย (เพิ่ม 12,424)
1. บ้านเดี่ยว อุปทานคงเหลือ 39,527 หน่วย ลดลง -0.8% จากสิ้นปี 2558 มียอดขายได้ปี 2559 จำนวน 12,455 หน่วย เพิ่ม 2.7% จากปี 55 มีอุปทานเปิดใหม่ 12,146 หน่วย หากเทียบยอดขายแล้วอาจต้องใช้เวลาประมาณ 56 เดือน ซึ่งลดลงจากกลางปี 2559 เล็กน้อย
2. ทาวน์เฮ้าส์ อุปทานคงเหลือ 54,654 หน่วย เพิ่ม 11.5% จากสิ้นปี 2558 มียอดขายปี 2559 จำนวน 24,277 หน่วย ลดลงจากปี 2558 จำนวน 2,868 หน่วย (-10.6%) มีอุปทานเปิดใหม่ 29,932 หน่วย หากเทียบยอดขายอาจต้องใช้เวลา 34 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลางปี 2559 เล็กน้อย
3. ห้องชุดพักอาศัย อุปทานคงเหลือมากที่สุด 69,798 หน่วย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 (3.6%) มียอดขายปี 2559 จำนวน 55,901 หน่วย ลดลง -5.3% จากปี 2558 มีอุปทานเปิดใหม่ 58,350 หน่วย หากพิจารณายอดขายต่อปี ต้องใช้เวลาขายอีกประมาณ 18 เดือน (ซึ่งใกล้เคียงกับกลางปี 2559)
ด้านอุปทานใหม่ปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 จำนวนโครงการ และจำนวนหน่วยขายเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าโครงการ และราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง (เนื่องจากสินค้าราคาแพงเข้าสู่ตลาดน้อยลง) อุปทานคงเหลือทั้งตลาดเพิ่มขึ้น 12,424 หน่วย (7.2%) เนื่องจากมีจำนวนอุปทานเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่มียอดซื้อลดลง จึงทำให้อุปทานเหลือสะสมเพิ่มขึ้น
ด้านอุปสงค์/ยอดซื้อทั้งปี 2559 มีจำนวน 98,153 หน่วย ลดลงจากปี 2559 จำนวน 5,489 หน่วย หรือลด (-5.3%) โดยยอดที่ขายได้ส่วนใหญ่ 57% ยังเป็นคอนโด รองลงมาคือทาวน์เฮ้าส์ 24.7% และอันดับ 3 คือบ้านเดี่ยว 12.7% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5.6% จะเป็นที่อยู่อาศัยอื่นๆ (บ้านแฝด อาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรร)
ราคาขายเฉลี่ยปี 2559 ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 เนื่องมาจากมีการพัฒนาสินค้าราคาแพงลดลง โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นราคาค่อนข้างถูกถึงปานกลางเป็นสำคัญ จึงมีราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิตที่ลดลง คือ ราคา 3.456 ล้านบาท จากเดิม ราคา 4.029 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558
แนวโน้มสำคัญ
ผู้ประกอบการรายใหญ่จะครองส่วนแบ่งการตลาดสินค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น (ปี 2559 มีสัดส่วนของยูนิตมากถึง 84%) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รายใหญ่เป็นพันธมิตรกับรายใหญ่) การพัฒนาโครงการเน้นซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนที่ดิน และแบ่งเฟสพัฒนาออกเป็นหลายโครงการ (Mixed Product) ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลาง จะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และส่วนหนึ่งยังมี Stock รอการขายเหลืออยู่
กลุ่มผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไร-ลงทุน จะลดลง เพราะต้นทุนในการซื้อสูงขึ้น และโอกาสในการขายดาวน์ได้ยากขึ้น หรืออาจจะปล่อยเช่าได้ยากขึ้น เนื่องจากมีอุปทานออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ในปี 2560 การพัฒนาห้องชุดพักอาศัยยังคงมีการพัฒนามากเป็น อันดับ 1 แต่ในลักษณะที่ชะลอตัว (ลดจำนวนลง) ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งปรับแผนพัฒนาแนวราบมากขึ้น เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง
การตลาดมีการแข่งขันสูง เนื่องจากอุปทานรอการขายเพิ่มขึ้น (ลด แลก แจก แถม มากขึ้น) ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินค้าราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง 30-50% ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป
ดังนั้นศูนย์ข้อมูลฯ จึงเชื่อว่าปี 2560 สถานการณ์จะยังเป็นเช่นเดียวกับปี 2559 คือคล้ายปีก่อนหน้าและอาจเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วนในปี 2561 สถานการณ์น่าจะกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ตามหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผลให้กำลังซื้อลดลง การพัฒนาที่อยู่อาศัยก็อาจลดลงได้เช่นกัน