พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทย(สยาม)
การพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตทางแพทย์ (เวชชบัณฑิตชั้นตรี หรือแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. ๒๔๗๑ และ ๒๔๗๒ และได้เป็นต้นแบบประเพณีสืบทอดมาจนทุกวันนี้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาถึงระดับที่จะได้รับปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ คือผู้ได้รับปริญญาเวชศาสตรบัณฑิต (หรือปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน) จำนวน ๑๘ คน ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน โดยได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา เป็นปฐมกิจอันเพิ่งมีขึ้นในมหาวิทยาลัยในสยามประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ และมหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานสงวนธรรมเนียมข้อนี้ไว้คือ ถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง หรือมิฉะนั้นก็ถวายปฏิญญาต่อพระบรมรูปและมีผู้แทนพระองค์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯว่า "ดีแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาต"
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่เป็นของภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆที่ได้สถาปนาขึ้นภายหลัง ได้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของตนเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์เสด็จมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ แทนพระองค์ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/History.KingdomOfSiam/