ราชวงศ์จักรีก็มีการใช้นามสกุลแซ่แบบจีน แล้วใช้ แซ่ อะไร?
เรื่องแซ่ของพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น เริ่มมาแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้ทรงส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ทรงใช้พระนามในพระราชสาส์นนั้นว่า “แต้อั้ว” ซึ่งในสาส์นระบุว่า พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาของ "แต้เจียว"
ซึ่ง “แต้เจียว” คือพระนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ได้มีการบันทึกเอาไว้ว่า
"..พ.ศ. ๒๓๒๕ พระเจ้าเช็งเคี่ยนล้ง (จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง นามว่า เฉียนหลง) ครองราชย์ปีที่ ๔๗ "แต้อั้ว อนุชา แต้เจียว" ได้เถลิงถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม (เสียมก๊ก).." และนับว่าเป็นการส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรกในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กลายเป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาถึงรัชกาลที่ ๔ ว่าต้องมีการตั้งชื่อแบบจีนมาทุกๆรัชกาล แต่เมื่อถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ มีเพียงแต่กำหนดพระนามเอาไว้ก่อนว่าจะใช้ “แต้เจี่ย” ทว่ารัชกาลที่ ๕ ไม่ทันจะได้ใช้ในพระราชสาส์นที่ส่งไปยังกรุงปักกิ่งเหมือนดังรัชกาลที่แล้วมา เพราะรัชกาลที่ ๕ ไม่ทันจะได้มีพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีเหมือนดังที่ไทยเคยทำ ทางจีนก็เกิดเรียกร้องการทวง “จิ้มก้อง” และเครื่องราชบรรณาการมาก่อน ซึ่งครั้งนั้นไทยจึงได้ทราบว่าการเจริญพระราชไมตรีโดยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปพร้อมพระราชสาส์นนั้น หรือ “จิ้มก้อง” เสมือนไทยยอมเป็นเมืองขึ้นของจีน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไทยจึงงดการติดต่อกับราชสำนักจีนอย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงส่งบรรณาการไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖
ลองมาดูพระนามพระเจ้าแผ่นดินไทยห้าพระองค์อย่างจีนกัน
- รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามจีนว่า 鄭華 (จีนกลาง: เจิ้งหัว, แต้จิ๋ว: แต้ฮั้ว)
- รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระนามจีนว่า 鄭佛 (จีนกลาง: เจิ้งฝอ, แต้จิ๋ว: แต้ฮุก)
- รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระนามจีนว่า 鄭福 (จีนกลาง: เจิ้งฝู, แต้จิ๋ว: แต้ฮก)
- รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระนามจีนว่า 鄭明 (จีนกลาง: เจิ้งหมิง, แต้จิ๋ว: แต้เม้ง)
- รัชกาลที่ 5 ทางจีนออกพระนามจีนว่า 鄭隆 เจิ้งหลง (แต้ล้ง)
เข้าใจว่า หลง/ล้ง มาจาก ลง ในพระนาม จุฬาลงกรณ์
(ว่ากันว่า ในรัชกาลที่ 5 ได้เลือก "แต้เจี่ย" เป็นพระนามที่จะใช้ในพระราชสาสน์จิ้มก้อง แต่เลิกจิ้มก้องไปเสียก่อน จึงไม่ได้ใช้)
แซ่เจิ้ง (จีนกลาง) หรือ แต่/แต้ (แต้จิ๋ว) (ตัวเต็ม: 鄭, ตัวย่อ: 郑)
ยังเป็นแซ่ของ 鄭和 (จีนกลาง: เจิ้งเหอ, แต้จิ๋ว: แต้ฮั้ว) แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่ของต้าหมิง ซึ่งเคยมาถึงเมืองอโยธยา และว่ากันว่า อาจมีส่วนทำให้ เจ้านครอินทร์ ได้ขึ้นครองราชย์ด้วย เชื่อกันว่า เจิ้งเหอ คือ เจ้าพ่อซำปอกง (ซานเป่ากง) ที่นับถือกันเพราะเจิ้งเหอ มีอีกชื่อว่า ซานเป่า (ซำปอ)
ถึงแม้ว่าจะเลิก "จิ้มก้อง"แต่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีพระองค์ต่อๆมากก็มีพระนามแบบจีนนะครับ ซึ่งก็ยังใช้ แซ่เจิ้ง (หรือ แต้ ในสำเนียงแต้จิ๋ว)
- รัชกาลที่ 6 ทางจีนออกพระนามจีนว่า 鄭寶 เจิ้งเป๋า (แต้ป้อ)
- รัชกาลที่ 7 ทางจีนออกพระนามจีนว่า 鄭光 เจิ้งกวง (แต้กวง)
- รัชกาลที่ 8 ทางจีนออกพระนามจีนว่า 鄭禧 เจิ้งซี่ (แต้ฮี)
- รัชกาลที่ 9 ทางจีนออกพระนามจีนว่า 鄭固 เจิ้งกู้ (แต้กู่)
ซึ่งในปัจจุบันพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ก็มีพระนามแบบนี้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก :
- สกุลไทย ฉบับที่ 2406 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 28 พ.ย. 2543
- ภาณุเมศวร์ บุนนาค
ภาพ : ซ้าย(จักรพรรดิเฉียนหลง) , ขวา(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ)
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/History.KingdomOfSiam/?fref=nf&pnref=story