การเปรียบเทียบมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในทุกๆสังคม หรือแม้แต่ในทุกๆครอบครัวเลยก็ว่าได้ และหากลองสังเกตดีๆ การเปรียบเทียบหลายต่อหลายครั้งเกิดจากความตั้งใจและปรารถนาดีของพ่อแม่ แต่มันกลายเป็น สิ่งที่ทำร้ายใจลูกอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยคำพูดที่ดูไม่มีอะไร เช่น “ดูซิ เด็กบ้านโน้นเค้ายังทำแบบนี้ได้เลยนะ ทำมั้ยหนูถึงทำไม่ได้” หรือ “ดูพี่คนนั้นซิ เขาเก่งนะ ทำนี่ก็ได้ ทำโน้นก็ดี หนูต้องทำให้ได้แบบเค้านะลูกนะ” ด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของแม่ยุ้ยเอง(รวมถึงตัวเจ้าของกระทู้ด้วย) ที่สงสัยอยู่เสมอกับประโยคทำนองนี้ว่า อะไรทำให้พ่อแม่ ปู่ย่า คิดแบบนั้น คิดว่า คำพูดลักษณะนี้จะช่วยให้เราอยากจะทำอะไรต่อมิอะไรที่เหมือนคนอื่นๆ หรือทำให้ได้เพื่อทัดเทียมคนอื่นๆ พอผ่านเวลามาจนถึงวันที่ได้ยืนในจุดที่เราเป็น พ่อแม่ จึงทำให้ย้อนกลับมาคิดถึง ความรู้สึกเมื่อโดนนำไปเปรียบเทียบ
คนแต่ละคน เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน บุคคลิก ลักษณะ นิสัย ความสนใจ และสภาพทางกายภาพของคนทุกคนก็ต่างกันออกไป ไม่ต้องคิดอะไรมากคะ พีน้อง คลานตามกันมาแท้ๆ ยังแตกต่างกันเลยค่ะ นับประสาอะไร กับลูกบ้านเรา กับลูกบ้านโน้น บ้านนี้
กาลครั้งหนึ่ง เคยได้ยินคำนี้ป่าวค่ะ ว่าการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจะทำให้เกิดแรงฮึด! แต่นั่นคือหนึ่งส่วนในสิบส่วนหรือเปล่าค่ะ แล้วคิดว่าแรงฮึดแบบที่ว่านี้ เด็กอนุบาล เด็กประถม สามารถเข้าใจจุดจุดนั้นได้หรือไม่ เราเองเป็นพ่อเป็นแม่ หากลองคิดในมุมกลับกันบ้างว่า ถ้าวันนึงลูกเอ่ยว่า “แม่ ทำมั้ยบ้านโน้นเขาทำกับข้าวอร่อยกว่า สอนการบ้าน ก็ไม่เสียงดัง ไม่ดุ ไม่ตี แม่ต้องทำให้ได้แบบแม่บ้านโน้นนะ” ถ้าเป็นแบบนี้บ้าง รู้สึกอย่างไรค่ะ แล้วก็ไม่แปลกที่เด็กที่เติบโตมากับการถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ช่างเปรียบ ช่างเทียบ เพราะเขาก็ถูกหล่อหลอมมาเช่นนั้น
อย่าทำให้โลกของลูกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ว่า ตัวเองด้อยค่า เพราะทำอะไรก็ไม่ดีเท่าคนอื่น
อย่าทำให้ลูกเติบโตมาแบบไม่แน่ใจว่า ตกลงฉันมีอะไรดีบ้าง เพราะฉันไม่เท่าเทียมกับคนอื่นเลย
และอย่าให้ลูกเติบโตมาด้วยไม่แน่ใจว่า พ่อแม่เห็นความดีในตัวหนูบ้างไหม? เพราะเห็นแต่ชมลูกคนอื่น บอกว่าลูกคนอื่นดีอยู่ตลอด แล้วหนูหละ?
เปลี่ยนมุมมองกันใหม่ดีกว่าค่ะ อย่ามัวแต่คิดว่า ลูกเราด้อยยังไง ทำอะไรได้น้อยกว่าลูกคนอื่นแค่ไหน หรือลูกเราเสียเปรียบลูกคนอื่นเรื่องอะไร ลองเปลี่ยนเป็นช่วยกันเสริมสร้างความรู้สึก ภาคภูมิใจในสิ่งที่ลูกเรามี ลูกเราเป็น ช่วยกันดึงข้อดีที่มีออกมาสนับสนุน และช่วยกันพัฒนาจุดอ่อนที่ยังต้องฝึกฝนไปด้วยกัน ชี้ให้ลูกเห็นว่า จุดนี้เราต้องพยายามเพิ่ม เพราะอะไร ไม่ใช่เพื่อให้เท่าเทียมกับใคร สอนให้ลูกมีจุดพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี แต่ก็เรียนรู้ที่จะสร้างแรงบันดาลใจที่จะก้าวต่อไปด้วยแรงที่มาจากข้างในตัวเอง ไม่ใช่มีคนอื่นเป็นเครื่องวัดตัวเรา ทุกชีวิตมีสิ่งที่ดีในตัวเองซ่อนอยู่เสมอคะ แค่เราหาให้เจอและชื่นชมในสิ่งที่เรามี อย่างเห็นคุณค่า เราจะมีชีวิตที่พอใจและสุขใจจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น