แจกเงินเพราะเศรษฐกิจแย่ ยิ่งแจกก็ยิ่งแย่
รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินอีกแล้ว แถมแจกเงินให้คนไปใช้เพื่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่เสียด้วย น่าจะไปแจกหลังถังแตกปีใหม่ดีกว่าไหม การแจกเงิน ย่อมไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่สำคัญเศรษฐกิจกำลังตก จากที่ประมาณการไว้ 3.5% เหลือ 3.2% แล้ว สงสัย ดร.สมคิด อายุจะสั้นเสียแล้ว!?!
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) แจกแจงถึงนโยายแจกเงินของรัฐบาลว่า "มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมติ ครม. วันที่ 23 กันยายน 2559 และมติ ครม. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 19,290 ล้านบาท" โดยแยกเป็น
1. ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท มีจำนวน 4.6 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.5 ล้านราย คนจนในเมือง 3.1 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนวงเงิน 13,830 ล้านบาท
2. ผู้ที่มีรายได้ต่อปี ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 3.6 ล้ายราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.3 ล้ายราย คนจนในเมือง 2.3 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 1,500 บาท รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุน 5,460 ล้านบาท (http://bit.ly/2ftcDCD)
ดร.โสภณ กล่าวว่า การแจกเงินแสดงถึงการจนตรอก ที่ผ่านมาราว 1 เดือนก่อนหน้านี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังกล่าวว่า "'สมคิด' ลั่นไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว-ยันศก.เริ่มฟื้นตัวแล้ว" (http://bit.ly/2fT5lJe) แต่ก็ยังมีกระตุ้นอีก แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าดีคงไม่ต้องกระตุ้น นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นก็เชื่อว่าผิดพลาด
1. กลับมีจำนวนคนจนในเมืองมากกว่าในชนบท ซึ่งขัดความเป็นจริง การลงทะเบียนโดยไม่มีระบบตรวจสอบรายได้ที่แท้จริง ก็เท่ากับลงทะเบียนส่งเดช จึงถือเป็นการแจกแบบขาดสติหรือไม่
2. แล้วคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมือง ไม่มีบ้านเลขที่จะเป็นอย่างไร
3. คนชายขอบเช่น คนเร่ร่อน ก็ยังขาดการเหลียวแล
4. ยิ่งแจกในช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็เท่ากับส่งเสริมบริษัทอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ถ้าจะแจกจริง ควรแจกหลังเทศกาลมากกว่าหรือไม่
ดังนั้น มาตรการแจกแบบนี้จึงอาจถือได้ว่าเป็นการ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" โดยไม่มีผลตอบแทนใด ๆ กลับคืนมาเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากการบริโภคแล้วก็หมดไป ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนั่นเอง
สำหรับปรากฏการณ์ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีดังที่ ดร.สมคิด กล่าว สามารถดูได้จากข่าวต่อไปนี้:
1. ผลพวงศก.ชะลอ ขึ้นเดือน-โบนัสลดลง (24 พฤศจิกายน http://bit.ly/2gnnbCn)
2. ชาวนาสุดช้ำใจ! ข้าวราคาตกต่ำหนัก ผจก.ตลาดกลางชี้ เหตุจากตลาดส่งออกทรุด (29 ตุลาคม 2559: http://bit.ly/2ft2RAw)
3. “เอ็นพีแอล” พุ่งเกือบ 3% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส ยอด 393,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี– ธปท.แจงปีหน้ายังพุ่งต่อ ยอมรับกังวล “เอสเอ็มอี” (10 พฤศจิกายน 2559: http://bit.ly/2ghBJCe)
4. อสังหาฯ ทรุดหนักหวั่นติดลบแตะ 20% จ่อยื่นหนังสือวอนรัฐช่วยแก้ปัญหา (21 พฤศจิกายน 2559: http://bit.ly/2fHcmty)
5. ไตรมาส3กำไรบริษัทจดทะเบียนวูบแสนล้าน หุ้นพี/อีพุ่ง 23 เท่าเตือนแพง! (21 พฤศจิกายน 2559: http://bit.ly/2fT2K1C)
6. พัทยากระอักพิษล้างบางทัวร์ศูนย์เหรียญ นักท่องเที่ยวจีนลดฮวบ 90% โรงแรมดัมพ์ราคาฝ่าวิกฤต (14 พฤศจิกายน 2559 http://bit.ly/2fT6PmG)
ดร.โสภณ ให้ข้อเตือนใจว่า ที่ผ่านมามีกลอนบอกว่า "นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด นักการเมืองแจกแท็บเล็ต กษัตริย์แนะเคล็ดวิชา" แสดงว่า ดร.สมคิดกำลังยื่นแต่ปลา ไม่รู้จักยื่นเบ็ด แทนที่จะเอาเงินมหาศาลเกือบ 20,000 ล้านบาทไปพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดรายได้อื่น เช่น สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เกษตรกรหรือใช้ผลิตไฟฟ้าแทนฟอสซิล ก็กลับนำมาแจกแต่เงิน อย่างไรก็ตามการแจกแท็บเล็ตนั้นถือเป็นการแจกทุนหรือปัจจัยการผลิตเพื่อการศึกษาเรียนรู้ แต่ ดร.สมคิดกำลังนำเงินไปแจกโดยไม่ได้อะไรตอบแทนมาเลย แถมอาจแจกผิดกลุ่ม เพราะปรากฏว่าคนจนเมืองกลับมีมากกว่าคนจนในชนบทเสียอีก
ไม่รู้ว่าบ้านเมืองไทยเราจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่งด้วยมือ ดร.สมคิดกันแน่ ดร.สมคิดคงจะอายุ (ทางการเมือง) สั้น ก็คราวนี้
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1683.htm