คนอ้วน กับ เสียงนอนกรนที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ
คนอ้วน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30-35 ปี มักปัญหาของการนอนกรน เนื่องจากผนังคอหนา เนื้อเยื่อในช่องคอหย่อนตัวขณะนอนหลับ พบประมาณร้อยละ 20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 5 เป็นเพศหญิง และอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
คนอ้วน กับอาการนอนกรน มักเป็นของคู่กัน เชื่อว่าบุคคลรอบข้างของหลายๆ ท่านเป็น หรืออาจจะเกิดกับตัวท่านแล้วก็เป็นได้ ลองถามคนที่นอนอยู่ข้างๆ ดูซิ…. จริงๆ แล้ว เสียงกรน มิใช่แค่เสียงที่ชวนรำคาญ แต่ยังกระทบคุณภาพการนอน เสี่ยงทางเดินหายใจอุดกั้น หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(Obstructive Sleep Apnea) ได้
สิ่งที่สังเกตได้ว่า ภาวการณ์นอนใน คืนนั้นๆ ของท่านเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับไปชั่วขณะหรือไม่คือ
- รู้สึกว่าตนเองนอนหลับไม่เพียงพอ
- ตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน สมาธิสั้น ความจำไม่ดี
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- บางรายสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืนเป็นช่วงๆ
นอนกรน หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นระหว่างหลับ จะมีอาการแทรกซ้อนและโรคที่พบร่วมได้คือ การง่วงหลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องการจดจำ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน มีความยากลำบากในการขับรถเพราะต้องการข่มไม่ให้หลับ ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจึงมักเกิดอุบัติเหตุจราจรได้บ่อยเนื่องจากเคลิ้มหลับ หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อร่างกายและคุณภาพชีวิตตามมาได้ หรือเพิ่มความเสี่ยงในอนาคตของโรค เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ ไขมันในเลือดผิดปกติ และที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ อันตรายต่อชีวิตได้
ที่มาของ “เสียงกรน” เกิดได้จาก หลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การกรนก็คือ โรคความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ โรคนอนกรน รวมถึงโรคอ้วน ทั้งนี้เสียงกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนตัวผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง โดยเฉพาะในคนที่อ้วนหรือมีโครงสร้างของใบหน้าในลักษณะคางสั้น ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนต้นบริเวณโคนลิ้นและเพดานปากหย่อนลง และตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้นเสียงกรนจึงเกิดจากการพยายามให้แรงดันอากาศผ่านช่องทางเดินหายใจที่แคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่านอนหงาย ลักษณะของโคนลิ้นจะตกไปกั้นทางเดินของอากาศที่อยู่ด้านหลังยิ่งขึ้น ส่งผลสู่ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึงการไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจได้
การรักษาที่สำคัญที่สุดคือ การควบคุมและลดน้ำหนัก
ร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ (การใช้เครื่องช่วงหายใจแรงดันบวก CPAP สามารถลดอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้เมื่อใช้ต่อเนื่อง)
ทั้งนี้ การควบคุมและลดน้ำหนักที่ปลอดภัย คือ การจัดอาหารและจำกัดพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ