เรื่องรัชกาลที่ 7 ที่หลายคนยังไม่รู้
หากเราจะกล่าวถึงรัชกาลที่ 7 เราก็มักจะนึกถึงเรื่องราวของการมอบรัฐธรรมนูญหรือถ้าเป็นช่วงนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของการเมืองเป็นหลัก แต่ในมุมของพระองค์ท่านทั้งทรงเป็นอีกหนึ่งพระมหากษัตริย์ที่นิยมชมชอบในเรื่องของดนตรีโดยเฉพาะดนตรีไทยจะมีสักกี่คนที่ทราบว่าท่านได้มีการประพันธ์เพลงดนตรีไทยเอาไว้ด้วยกันหลายเพลงและก็เป็นที่นิยม
ภาพรัชกาลที่ ๗ ทรงซออู้นี้ สะท้อนถึงพระราชนิยมในเรื่องดนตรีไทย โดยได้ทรงศึกษาดนตรีไทย โดยมีครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นผู้ถวายคำแนะนำ คือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) และหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) โดยทรงซอได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นซออู้ ซอด้วง และซอสามสาย แต่เครื่องดนตรีไทยที่ทรงโปรดมากคือซออู้
ข้อมูลจากห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ (นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล โดย พูนพิศ อมาตยกุล) ได้กล่าวถึง “ซออู้” ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ไว้ว่า
“ครั้งหนึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนำซออู้ขนาดเล็กขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยที่ทรงได้กระโหลกซอสวยงามมาจากอัมพวา และให้ช่างแกะเป็นตรา ปปร. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดใช้ซอคันเล็กนี้สีเล่นเวลาทรงสำราญพระราชหฤทัย พระราชทานซอคันนี้ว่า ” ซอตุ๋น ” (คำว่า ตุ๋น แปลว่า เล็ก ๆ) ด้วยซอคันนี้เองได้ทรงคิดประดิษฐ์เพลงราตรีประดับดาวขึ้น โดยมีหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถวายคำแนะนำ เพลงราตรีประดับดาวเถา จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้พระราชนิพนธ์เพลงที่ ๒ ขึ้น คือ เพลงเขมรละออองค์เถา และในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ อีกเพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้น รวมทั้งหมด ๓ เพลง จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นั้นมาก็ไม่มีใครได้เห็นซอประวัติศาสตร์คันนี้อีกเลย
... พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดดนตรีไทยมาก งานใดก็ตามที่มีดนตรีแล้ว มักจะเสด็จประทับฟังเพลงอยู่เป็นเวลานาน ๆ เสมอ เมื่อครั้งขึ้นตำหนักเปี่ยมสุข ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงจัดให้มีการแสดงแฟนซี ประกอบเพลงไทย โดยให้มีการแต่งกายเป็นปริศนาชื่อเพลงต่าง ๆ ออกมา แล้วให้นักดนตรีทายว่า หมายถึงเพลงชื่ออะไร หากบรรเลงเพลงนั้นไม่ได้ หรือบรรเลงผิด วงดนตรีก็แพ้ นับเป็นการเล่นสนุกกับเพลงไทยที่น่าสนใจยิ่ง”
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ตั้งทั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ขึ้น ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง ได้แก่ เพลงราตรีประดับดาว(เถา) เพลงเขมรลอองค์ (เถา) และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้นที่สวยงามทั้งเนื้อหาและทำนอง
นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อรวบรวมบุตรหลานนักดนตรีและข้าราชบริพารตั้งวงมโหรีหลวงขึ้น เพื่อบรรเลงในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อีกด้วย
https://youtu.be/iyzbZYUn7a4?si=fcNQvSjs_qRSmQi6
อ้างอิงจาก: กระทรวงวัฒนธรรม, วิกิพีเดีย