ย้อนรอย..คำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย
คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน
กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วยกัน และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน [1] ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นและร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
โดยระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ นายทหารคนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์ ได้มอบเงินรวม 3,675,000 บาท แก่นางฐัติมา ภาวะลี ผู้ประสานงานพรรคแผ่นดินไทย เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์หรือนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์และนายธีรชัยหรือต้อย จุลพัฒน์ มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ นาย ชก. โตสวัสดิ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำไปให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ไปใช้จ่ายในการนำสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง และใน วันที่ 6 และวันที่ 8 มีนาคม 2549 นายทวีได้นำเงินไปให้นาย ชก. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยรวม 1,190,000 บาท การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ขอให้ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 3
หลังทราบคำพิพากษาแล้วในส่วนของพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรค ที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะน้อมรับมติศาล ได้เดินทางกลับไปที่พรรคและประกาศพร้อมกับสมาชิกพรรคและกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนพรรคว่า ไม่ขอรับคำตัดสิน เพราะเป็นคำตัดสินจากปากกระบอกปืน
นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า คณะตุลาการมีมติไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติ 9 ต่อ 0 มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 9 ต่อ 0 และมีมติให้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 6 ต่อ 3 โดย 3 เสียงข้างน้อยมาจากตุลาการจากศาลฎีกา ซึ่งมีความเห็นว่า แม้จะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลังใช้บังคับเพื่อกำหนดโทษ ในขณะที่ 6 เสียงข้างมาก เห็นว่าเมื่อมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ควรกำหนดโทษกับผู้บริหารพรรคที่ทำผิด ในฐานะเป็นตัวแทนพรรค
ก่อนหน้าการวินิจฉัยคดีในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันประเด็นหนึ่ง คือ พรรคที่ถูกยุบจะไปจดทะเบียนใหม่ในชื่อเดิมหรือคล้ายชื่อเดิมได้หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทยมีความเห็นว่าทำได้ แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ออกมายืนยันทั้งก่อนหน้าและภายหลังการวินิจฉัยคดีว่าทำไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาในการชำระบัญชีต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ตามมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และยังมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 เกี่ยวกับการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่
แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/คดียุบพรรคการเมือง_พ.ศ._2549
https://www.youtube.com/watch?v=GTD5MorktUg