ทำไมต้องสร้าง โรงไฟฟ้า ถ่านหินด้วยนะ ไม่เข้าใจจริงๆ
เพราะอะไรน่ะหรอ ไฟฟ้าหลักในประเทศไทย ก็เพราะเหลือน้อยเต็มที่ ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมันลดลงเรื่อยๆ เขาจึงพยายามหาเชื้อเพลิงอื่นแทน ทางเลือกที่เป็นไปได้คือนิวเคลียร์กับถ่านหินครับ
สำหรับหลายๆคนที่กำลังนึกมีคำถามอีก “แล้วตัวเลือกอื่นๆล่ะ ไม่มีหรือไง ” งั้นเรามาอธิบายตัวเลือกอื่นๆกันนะครับ
-แสงอาทิตย์ ค่าติดตั้งแพง ผลิตไฟฟ้าต่อพื้นที่ได้น้อยทำให้ต้องใช้พื้นที่มาก ไม่มีความแน่นอนจากสภาพอากาศทำให้ไม่สามารถควบคุมกำลังการผลิตได้ ถ้าจะให้ควบคุมได้ ต้องติดอุปกรณ์เพิ่มซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงขึ้นอีก ปัจจุบันรัฐบาลรับซื้อในราคาที่หน่วยละ 5-6 บาทเพื่อจูงใจนักลงทุนทั้งๆที่เราจ่ายค่าไฟเพียง 3-4 บาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโรงไฟฟ้าพวกนี้มีมากเท่าไหร่ค่าไฟก็ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น เพราะส่วนต่างนี้จะนำไปคิดเป็นค่า FT และก็ขึ้นค่าไฟกับคนทั้งประเทศอยู่ดี
-ลม ประเทศเราความเร็วลมเฉลี่ยเพียง 3-4 เมตรต่อวินาที ชายฝั่งทะเลประมาณ 4-5 เมตรต่อวินาที การผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพต้องมีลมอย่างน้อย 6-8 เมตรต่อวินาที (ถ้าจะให้ดีจริงๆควรอยู่ที่ 8-10 เมตรต่อวินาที) ซึ่งก็มีในบางพื้นที่ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่คือต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก ทำให้บริษัทที่มาลงทุนส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างชาติ
-ชีวมวล ทุกวันนี้ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลประมาณ 2000 เมกะวัตต์ ปัญหาที่สำคัญคือส่วนใหญ่โรงไฟฟ้าพวกนี้เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำให้มีทุนน้อย จึงมีการกำจัดมลพิษที่ไม่ดีเท่าทีควรเพราะมันไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องใช้วัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากทำให้มีแต่โรงไฟฟ้าเล็กๆเท่านั้น มีการวิจัยว่าโรงไฟฟ้าชีวมาล ปลดปล่อยมลพิษมากกว่าเทคโนโลยีถ่านหินปัจจุบันเสียอีก
-พลังงานน้ำ เป็นตัวเลือกที่ กฟผ มองอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ไม่สามารถสร้างในประเทศได้เพราะเราไม่เหลือพื้นที่ให้สร้างเขื่อนที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงๆได้ เขื่อนในประเทศไทยเน้นไปที่การกักเก็บน้ำเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ กฟผ ไปลงทุนสร้างเขื่อนพวกนี้ในลาวและพม่าแทน ในแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง แต่อย่างไรก็ตามนั่นจะทำให้เราซื้อไฟจากต่างชาติมากขึ้น จึงต้องหาแหล่งพลังงานอื่นด้วย
-ก๊าซธรรมชาติ เป็นตัวเลือกที่ดีในสมัยก่อน แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเพราะปริมาณสำรองก๊าธรรมชาติเราเหลืออีกเพียง 5-6 ปีเท่านั้นหากไม่สำรวจเพิ่ม ซึ่งหากมันหมดเราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงกว่าที่เราขุดเองประมาณ 2 เท่า ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
-นิวเคลียร์ IAEA ประมาณไว้ว่าไทยยังไม่มีความพร้อมในการสร้างเพราะ "ประชาชนไม่ยอมรับ" ทั้งๆที่อย่างอื่นเราพร้อมหมดแล้ว ยังไงก็ตามการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัยกว่าสมัยก่อนมาก แต่สิ่งที่เพิ่มตามคือต้นทุนในการก่อสร้างทีสูงมาก จึงเป็นตัวเลือกอันดับสองรองจากถ่านหิน
-ถ่านหิน มีปริมาณสำรองสูงมาก ว่ากันว่าสามารถใช้ได้อีกถึง 220 ปีเลยทีเดียว ต้นทุนในการผลิตต่ำ (ประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย) และเทคโนโลยีปัจจุบันสามรถจัดการกับมลพิษที่เกิดขึ้นเช่นพวกก๊าซ SOx NOx รวมทั้งฝุ่นละอองต่างๆ ได้มากกว่า 95% (โรงไฟฟ้ากระบี่เค้าว่า 99% ด้วยซ้ำ) แต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังถูกกว่านิวเคลียร์ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับไทยในตอนนี้ครับ
สำหรับเหตุผลอีกอย่างนึงที่ภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าก็คือ ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีทั้งโรงแรม , ห้างร้าน เยอะแยะไปหมด การใช้ไฟฟ้าก็เยอะขึ้นตามไปด้วยจากสถิติมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 5 – 6 ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักที่เพียงพอ ต้องพึ่งพาสายส่งเชื่อมโยงจากภาคกลาง ซึ่งถ้ามีระบบไฟฟ้าของตัวเองก็ดีกว่ามั่นคงกว่าครับ
ถ้ามาดูค่าควบคุมมลภาวะ ของโรงไฟฟ้า ถ่านหินจะ เห็นชัดเลยว่าทุกค่า ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นละออง , ซัลเฟอร์ และ ออกไซด์ของในโตรเจน ต่ำกว่า ค่า มาตรฐานซะอีก
นี่ก็เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะกับปัจจุบันและอนาคตครับ ใครสงสัยหรืออยากพูดคุยสามารถแชร์คอมเม้นกันได้เลยครับ :)