รื้อค่าใช้จ่ายข้าราชการเดินทางไปต่างประเทศได้แล้ว
AREA แถลงฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)
รัฐบาลที่พอเพียงจริง ๆ ควรปฏิวัติการใช้จ่ายข้าราชการ ไม่ใช่ใช้เงินต่างเบี้ย เห็นว่าไม่ใช่เงินของตนเอง ก็เอาไปใช้อย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไร กรณีค่าเครื่องบิน 21 ล้านบาทนั้น ควรลดได้ 18-20 ล้านบาท ใช้จริงเพียงราว 2 ล้านบาท ส่วนที่เกินไปคือความสุจริตหรือไม่
ตามที่มีข่าวว่าทางราชการใช้เงินค่าเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพมหานครไปฮาวายด้วยงบประมาณ 20.9 ล้านบาทนั้น อันที่จริงควรใช้จ่ายน้อยกว่านี้ สำหรับงบประมาณดังกล่าวแยกเป็นดังนี้:
1 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน 3,835,200
2 ค่าเชื่อเพลิงอากาศยาน 10,776,000
3 ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน 600,000
4 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการภาคพื้น 2,636,400
5 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 3,106,200
รวมทั้งหมด 20,953,800
หากตรวจสอบดูค่าบินชั้นประหยัด ซึ่งข้าราชการที่รับใช้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ก็ควรนั่งชั้นนี้ ก็ควรเป็นเงินเพียง 50,000 บาทต่อหัว โดยตรวจสอบจาก ANA (42,870-77,265 บาท) China Airline (45,050-77,265 บาท) หรือ Japan Airlines (37,105 บาท) ถ้าไปแค่ 10 คน ก็ใช้เงินเพียง 550,000 บาทเท่านั้น ต่างจาก 20.9 ล้านบาทถึง 42 เท่าตัว หรือเปลืองเงินเกินไป 20.5 ล้าน แต่หากนั่งชั้นธุรกิจ ก็เป็นเงินประมาณ 130,000 บาท หรือ ชั้นหนึ่งก็ 280,000 บาท ก็ยังต่างกันถึง 16 และ 8 เท่าตัว (เปลืองเงินเกินไป 20 ล้านบาท และ 18 ล้านบาทเลยทีเดียว)
การที่อ้างว่าต้องการบินตรงนั้น ไม่น่าจะเป็นข้ออ้างได้ เนื่องจากเราสามารถไปก่อนล่วงหน้าได้สัก 1 วันก่อนการประชุมเพื่อการปรับตัวก่อนได้ ไม่จำเป็นต้องบินตรง การบินโดยผ่านการต่อเครื่องนั้น ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง (http://bit.ly/2doCfQp) การบินตรงจากมะนิลาไปฮอนโนลูลู ก็ใช้เวลา 10:25 ชั่วโมง (http://bit.ly/2dArjzC) ถ้าบินจากไทยก็คงใช้เวลาประมาณ 12:30 ชั่วโมง ก็แทบไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย
ข้ออ้างอื่นๆ ก็ฟังไม่ขึ้น เช่น
1. ที่อ้างว่าอุดหนุนการบินไทยนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ถ้าสายการบินอื่นถูกกว่า ประหยัดงบประมาณแผ่นดินไทยมากกว่า จะไปอุดหนุนการบินไทยที่คิดค่าบริการแพงกว่าทำไม การบินไทยก็ไม่ใช่มูลนิธิที่เราต้องไปช่วยเหลือเกื้อกูลแต่อย่างไร
2. ที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย อ้างว่า "การบินไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยและการบริการที่ไม่เป็นรองใครและได้รับการยอมรับในระดับสากล" (http://bit.ly/2dN9Y7X) นั้น ไม่เป็นความจริง จากการจัดอับดับความปลอดภัยปีล่าสุด 2559 พบว่าการบินไทยมีความปลอดภัยในระดับที่ 45 (http://bit.ly/1SLp2ir) ไม่ใช่อันดับต้นๆ แต่ประการใด ส่วนบริการก็อยู่ในอันดับที่ 13 (http://bit.ly/1GhayQf)
3. หากจะมีการเช่าเหมาลำจริง ๆ ก็ควรให้มีการแข่งขันกันระหว่างการบินไทยกับสายการบินอื่นที่เชื่อว่าอาจจะมีใช้จ่ายต่ำกว่าของการบินไทย
4. ที่การบินไทยบอกว่าตัวเลขข้างต้นเป็นตัวเลขประมาณการ ไม่ใช่ตัวเลขจริงที่จะเรียกเก็บ ความไม่แน่นอนอย่างนี้เป็นความโปร่งใสหรือไม่ จะเรียกเก็บสูงกว่านี้สัก 10-15% ได้หรือไม่ สังคมจะครหาว่าทำให้เกิด "เงินทอน"หรือไม่ เป็นต้น
ในสังคมแห่งความพอเพียง ข้าราชการควรนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดเหมือนประชาชนทั่วไป ยกเว้นหากออกค่าใช้จ่ายเอง ก็สามารถปรับระดับเป็นชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่งได้ตามความสามารถในการจ่ายส่วนตัว และยิ่งในกรณีที่เป็นรัฐบาลที่อาสาเข้ามาทำงาน "เพื่อชาติ" โดยประชาชนไม่ได้เชื้อเชิญด้วยแล้ว ยิ่งควรทำงานด้วยความเสียสละ หากสามารถไม่รับเงินเดือนได้ ไม่รับสวัสดิการ ลาภยศสักการะได้ จะได้รับการสรรเสริญ
มาส่งเสริมให้ข้าราชการไม่ทำตัวเป็นเจ้าคนนายคน แต่มุ่งรับใช้ประชาชนดีกว่า (ใครทำไม่ได้ ก็ลาออกไป ยังมีคนอยากทำงานรับใช้ประชาชนโดยไม่มักมาก อีกมาก)
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1624.htm