5 Step พิชิต"เงินล้าน"ก้อนแรก
อ่านเต็มๆที่นี่นะ : http://bit.ly/2cxmcMY
หลายๆคนเคยพูดหรือเขียนบทความไว้ว่าการได้มาซึ่งเงินล้านก้อนแรกนั้นยากเสมอ บางคนถึงกับบอกว่าเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับพวกเขา และดูเหมือนว่ามีเหตุผลต่างๆนานาที่ทำให้การเก็บเงินล้านก้อนแรกนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราเข้าใจในกลไกของมันเราจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆให้ได้มาซึ่งเงินก้อนที่ใฝ่ฝัน และเมื่อเงินล้านก้อนแรกมาแล้วการทำล้านก้อนต่อๆไปอาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับคุณก็ได้ เพียงแต่คุณต้องเข้าใจในปัจจัยสำคัญ (key factors) เพื่อทำล้านแรกให้เป็นจริงซึ่งเรามีข้อเสนอแนะมาในบทความฉบับนี้ รวมถึงหากล้านแรกมันมาแล้วจะทำอย่างไรให้กลายเป็นล้านที่สอง
ทำความเข้าใจความหมายของเศรษฐีเงินล้านเสียใหม่
มือใหม่หัดเก็บต้องแยกให้ออกว่าการมีทรัพย์สินรวม 1 ล้านบาทกับการทำเงิน 1 ล้านบาทภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดนั้นแตกต่างกัน บางคนเงินเดือนสูงๆยอดรายรับรวมแต่ละปีเกือบล้านแต่ทำไมพวกเขายังมีเงินเก็บไม่ถึงล้าน ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนคือ นักกีฬา, ดารา หรือแม้แต่คนถูกหวย เหล่านี้อาจจะได้รับเงินก้อนมาเป็นหลักล้านก็จริงอยู่แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ได้มันก็หมดจริงไหมครับ คำว่าเศรษฐีเงินล้านผมขอลดคำจำกัดความลงมาอีกนิดนึงนั่นคือไม่เหมารวมเจ้าของธุรกิจที่มีรายได้รวมต่อปีเป็นหลักล้านแต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด (SG&A = Sales, General and Administration Costs) อาจจะเหลือเพียงไม่เท่าไรหรืออาจขาดทุนก็เป็นได้ แบบนี้เราไม่เรียกว่าเศรษฐีเงินล้าน หรือบางคนซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคาหลายล้านแต่เป็นหนี้แบงก์เกือบเท่าตัวจากราคาบ้าน แบบนี้ก็ไม่นับเช่นกัน
จะออมจนกว่าจะได้ล้าน … นานไปไหม?
ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินผนวกกับเงินต้นในบัญชีออมที่ไม่สูงมากนักชีวิตนี้อาจจะไม่ได้แตะเงินล้าน หรือคุณบอกว่าฉันจะเก็บออมไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ได้เองแหละ สมมติว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคุณอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท (เฉลี่ยเผื่อฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้นในแต่ละปี) เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคุณเก็บออมได้ที่ 5,000 บาทต่อเดือน (กรณีที่คุณไม่ได้นำเงินไปลงทุนต่อยอดใดๆทั้งสิ้น) นั่นเท่ากับว่าคุณต้องใช้เวลาเกือบ 17 ปีเพื่อสัมผัสกับล้านแรก อย่างไรก็ตามคุณคิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะต้องนำเงินก้อนมาใช้เลยหรือไม่? และหากคุณเป็นหนี้ต่างๆเช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อรถยนต์หรือสินเชื่อบ้าน การออมให้ได้ 5,000 บาทต่อเดือนอาจจะเป็นเรื่องที่ยากอีกเช่นกัน
กฎคณิตศาสตร์ง่ายๆทางการคูณ
ระดับความยากง่ายในการได้มาซึ่งล้านแรกอาจจะขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน บางคนเริ่มจากศูนย์ หรือบางคนมีทุนอยู่แล้ว 500,000 บาท เป้าให้ได้ถึงล้านจึงเหลือเพียงอีกครึ่งทาง (50%) การไปล้านต่อไปอาจเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกันเพราะนั่นคุณต้องใช้การเติบโต (growth) อีก 100% เพื่อให้ได้ล้านที่สอง แต่การไปล้านที่สามจะเริ่มง่ายลงมาเหลือเพียง 50% (1,000,000 x 100) ÷ จำนวนเงินต้นที่มี) ยกตัวอย่างเช่นคุณมีเงินต้นที่ 3 ล้านบาท คุณจะไปให้ถึง 4 ล้านบาท target growth ที่คุณต้องการต่อไปจะเหลือเพียง 33.3% (1,000,000 x 100) ÷ 3,000,000) และการได้มาซึ่งล้านต่อๆไปอีกอาจจะไม่ยากเหมือนล้านแรก
บางคนเลือกที่จะลงทุนผ่าน หุ้นกู้ จากบริษัทที่มีเครดิตในระดับดีมาก (AAA) เช่น หุ้นกู้ที่ออกโดย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยต่องวดอยู่ที่ประมาณ 5% และจะจ่ายเป็นแบบปีละสองครั้ง (semiannual) นั่นหมายความว่าคุณจะได้ผลตอบแทนต่อปีที่ประมาณ 10% ระยะเวลาหมดอายุของหุ้นกู้จะมีตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี ไปจนถึง 10 ปี ซึ่งถ้าหุ้นกู้ยิ่งมีระยะยาว (longer maturity) จะยิ่งให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ถ้าเงินเก็บทั้งชีวิตของคุณอยู่ที่ 300,000 บาท และเลือกหุ้นกู้ประเภท 5 ปี คุณจะได้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท (300,000 x 10%) × 5 และหากคุณมีเงินต้น 1 ล้านบาทจากหน่วยลงทุนเดียวกันภายใน 5 ปีคุณจะได้กลับมาอีก 500,000 บาท และจะทวีคูณต่อไปเรื่อยๆหากคุณมีเงินต้นที่สูงขึ้น หรือจะเลือกมาลงทุนกับ กอง REIT ก็น่าสนใจเช่นกันโดยกลไกการจ่ายผลตอบแทนจะคล้ายๆกับหุ้นกู้นั่นเอง
ยิ่งรวยยิ่งมีตัวเลือกการลงทุนมาก
คนรวยมักจะมีช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าคนทั่วไปซึ่งก็เป็นวิธีที่ยังทำให้พวกเขาสามารถคงความมั่งคั่งไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่นกองทุนบางประเภทที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ที่ออกโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จำกัด (บลจ.) ต่างๆ อย่างไรก็ตามทาง บลจ. ที่ออกผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทนี้มักจะวางเงื่อนไขจำนวนเงินการลงทุนขั้นต่ำไว้สูง ซึ่งถ้าเงินออมคุณไม่ถึงก็จะไม่ผ่านคุณสมบัติโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (อันเฮดจ์) ที่กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกไว้ที่ 510,000 บาท และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 5.5/8
นอกจากนี้คุณยังสามารถลงทุนในบริษัท startups ต่างๆที่เกิดขึ้นในไทยซึ่งจะมีกองทุนสำหรับบริษัทเหล่านี้หรือที่เราเรียกว่า Crowdfunding นั่นเอง ซึ่งคุณต้องทำการศึกษาตัวแผนธุรกิจ (Business Model) ของบริษัทเหล่านี้ให้ละเอียดว่าจะสามารถเติบโตได้หรือไม่ในอนาคต รู้ตัวอีกทีคุณอาจจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนกับหนึ่งในบริษัทสตารท์อัพที่ใหญ่ที่สุดของไทยก็ได้ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น Grab Taxi ของไทย หรือ Facebook ของอเมริกา ที่เริ่มระดมทุนผ่านขั้นตอนนี้ในช่วงบ่มเพาะธุรกิจนั่นเอง (Incubation)
หรือคิดจะเลือกลงทุนด้านอสังหาฯหรือจะเป็นการอยู่อาศัยเอง เรามี รีวิวโครงการใหม่ มาช่วยประกอบการตัดสินใจของคุณ
เมื่อมีมากย่อมต้องรู้จักเสี่ยงให้เป็น
ตามทฎษฎี Barbell Strategy ที่เขียนไว้ในหนังสือ Antifragile โดย Nassim Nicholas Taleb ระบุไว้ว่าหากมีเงินก้อนแล้วต้องการนำมาลงทุนให้แบ่งสัดส่วนดังนี้ 80% ให้ลงทุนประเภทสินทรัพย์อ้างอิงปลอดภัย อาทิเช่น หุ้นกู้ที่มีเครดิตระดับ AAA หรือกองทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ อีก 20% ให้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Derivative Warrant (DW) ซึ่งถ้าคุณติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่หมุนเวียนไปยังตลาดของโลกในแต่ละวันคุณจะสามารถเก็งกำไรในกรอบระยะสั้นได้ซึ่งผลตอบแทนจะสูงมาก DW บางตัวที่มีสภาพคล่องสูงสามารถทำกำไรให้คุณได้ถึง 20% – 100% ภายในวันเดียว แน่นอนมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน (High Risks High Returns) ดังนั้นควรจะตั้งจุด cut loss ในระดับที่คุณสามารถยอมรับได้เช่นกัน ย้ำอีกครั้งว่าไม่ควรนำจำนวนเงินในพอร์ตมาลงทุนกันสินทรัพย์ประเภทนี้เกิน 15 – 20% !!
ปัจจุบันการทำเงินล้านก้อนแรกให้ได้ยังถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าง่ายเกินไปประเทศไทยคงจะเต็มไปด้วยคนรวย การเก็บออมรวมถึงพัฒนากลยุทธ์ด้านการลงทุนให้ได้ล้านแรกนั้นถือเป็นความท้าทายแต่ก็อาจจะคุ้มค่าแก่การลองพยายามศึกษา และแยกให้ออกว่าจุดไหนคือ “ความเสี่ยง” จุดไหนคือ “โอกาส” ในโลกของการลงทุน อย่าให้การลงทุนของคุณเป็นการลงทุนที่ปราศจากการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นการลงทุนของคุณอาจจะไม่ต่างอะไรกับคำว่า “การพนัน” เชื่อเหลือเกินว่าหากคุณพยายามจนมาถึงล้านแรกล้านต่อๆไปอาจจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับคุณ