ใจเจ๊ก บทที่ 3
ลิงค์บทที่ 2 https://board.postjung.com/988881.html
นวนิยาย “ใจเจ๊ก”
โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
บทที่ 3
“คุยอะไรกันพ่อลูก”
บัวทอง มารดาของภูมิชัยผู้มีร่างบางดุจตองปลิว ผิวสีเข้มเช่นเดียวกับสามี แต่ผมดำสนิท ดูกระฉับกระเฉงและแข็งแรงกว่าวัย เธอกล่าวเพื่อขัดจังหวะมากกว่าอยากรู้ ด้วยตระหนักดีว่าสามีและลูกชายชอบพูดคุยเรื่องที่เธอเห็นว่าผิดศีลข้อมุสาฯ แม้ไม่โกหกแต่ก็นินทาว่าร้ายคนโน้นคนนี้ โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ตัวเธอเอง แม้ได้รับอิทธิพลเรื่องนี้จากสามีราวกับคลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้าชายฝั่งที่เต็มไปด้วยโรงแรมขนาดใหญ่น้อย แต่น่าแปลกที่เธอกลับเหมือนอาคารริมหาดบางหลังที่อยู่รอด คงสภาพเดิมราวกับคลื่นนั้นเป็นแค่สายลมบางเบา เธอไม่เคยรู้สึกเกลียดชังคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนสามี ตรงกันข้าม หลายครั้งที่เธอชื่นชมการดำเนินชีวิตของพวกเขา แม้จริงจังเคร่งเครียดแต่ก็รับประกันได้ว่าทางชีวิตจะราบรื่นและรุ่งเรือง โดยเฉพาะการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเลือดเนื้อเชื้อไข
ด้วยถ้อยคำที่สามีกรอกหูอยู่บ่อยๆ หรือด้วยความเป็นคนช่างสังเกตเธอก็ไม่อาจบอกได้ ขณะจ่ายตลาด บัวทองชอบแอบดูว่าในตะกร้าของแม่บ้านคนไทยเชื้อสายจีนมีอะไรบ้าง เธอเห็นว่ามักมีเนื้อหมูหรือไก่อย่างน้อยครึ่งกิโลกรัม บางคนที่เธอรู้ว่าฐานะไม่ค่อยดีก็ยังพยายามซื้อเนื้อหมูหรือไก่อีกประเภทที่ถูกคัดออกและมีราคาถูกกว่า กล่าวได้ว่าใช้เงินอย่างคุ้มค่า ขณะที่แม่บ้านคนไทยแท้มักซื้อเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการ เช่น ปลาร้า เนื้อแดดเดียว เนื้อทอด ปลาทอด ซึ่งบวกค่าประกอบค่าปรุงไปแล้วส่วนหนึ่ง
ที่สำคัญ ตั้งแต่เริ่มสังเกตการดำเนินชีวิตของคนจีน บัวทองเห็นลูกคนจีนที่เธอรู้จักส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีสุขภาพดี เรียนเก่ง และขยันทำมาหากิน ที่เกเรก็มีแต่ไม่ถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล ตรงกันข้ามกับลูกคนไทยแท้ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจ โตขึ้นมามักกลายเป็นคนไม่เอาถ่าน หนำซ้ำบางรายเป็นนักเลงหรือไม่ก็เข้าคุกเข้าตะรางด้วยข้อหาสารพัด
ในขณะที่ลูกคนจีนที่เธอเห็นตั้งแต่เด็กจนโตมีเพียงสองแบบ ถ้าไม่สามารถสืบสานกิจการของพ่อแม่ ก็สามารถเรียนจนจบ ปวช. ปวส. หรือไม่ก็ปริญญาตรี และนี่คือความตั้งใจที่เธอมีต่อลูกชายคนเดียว โดยที่เธอไม่รู้ตัวว่าเป็นการตั้งเป้าหมายโดยเห็นตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างของผู้มีเชื้อสายที่สามีเธอเกลียดชังยิ่งนัก
บัวทองจบการศึกษาแค่ประถมสี่ฯ แต่เธอเป็นคน “รู้คิด” ได้ด้วยการเป็นเพื่อนแม่เข้าวัดฟังพระเทศน์ตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว โชคดีที่เจ้าอาวาสไม่ได้สอนญาติโยมให้เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ แต่เทศน์บนพื้นฐานว่ากรรมคืออะไร
บัวทองจับใจความได้เพียงว่ากรรมคือการกระทำ ทำอะไรก็จะได้สิ่งนั้น หากเธอโกหก เมื่อความจริงเปิดเผยเธอก็จะเดือดร้อน หากเธอนินทาเพื่อน เมื่อเรื่องถึงหูเพื่อนเธอก็จะเดือดร้อน หากเธอรู้สึกไม่ดีกับใคร คนที่ไม่สบายใจก็คือตัวเธอเอง และหากเธอลงมือทำเรื่องไม่ดี ท้ายที่สุดเรื่องไม่ดีนั้นก็จะกลับมาส่งผลไม่ดีต่อตัวเธอ
บัวทองจึงดำเนินชีวิตบนหลักการนี้ แม้เป็นไปอย่างไม่รู้ตัว แต่ก็ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น ทำให้บัวทองเป็นแม่ค้าข้าวแกงที่คนรู้จักรู้สึกราวกับเธอเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนในอำเภอผู้น่าเคารพและยกย่อง ตัวเธอเองก็มีชีวิตไม่ต่างจากผู้มีการศึกษาสูงเท่าไรนัก ราบเรียบปราศจากเรื่องร้อนหูร้อนใจ เพราะเธอไม่เคยว่าใครทั้งต่อหน้าและลับหลัง ที่สำคัญคือไม่เคยทำอะไรโดยไม่คิดก่อนว่าผลจากการกระทำจะเป็นเช่นไร
มีเพียงเรื่องเดียวที่บัวทองไม่อาจทำได้ตามหลักการที่เธอยึดมั่น เธอก็เหมือนภรรยาส่วนใหญ่ นั่นคือปราศจากอำนาจอย่างเด็ดขาดในการอบรมสั่งสอนเลือดเนื้อเชื้อไข แต่บัวทองแย่กว่าภรรยาจำนวนนั้น อำนาจเพียงครึ่งเดียวก็ไม่ได้ เธอทำได้เพียงเรื่องที่สามีเห็นด้วย นั่นคือบังคับและเคี่ยวเข็ญลูกชายผู้ไม่ชอบเรียนหนังสือ จนเขาเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ส่วนเรื่องการปลูกฝังนิสัยใจคอ สามีเป็นผู้ครอบงำลูกชายเกือบหมดสิ้น
เธอหวังว่าเพียงแค่เกือบหมดสิ้น
แน่นอนว่าเธอไม่อาจหยุดยั้งสามีที่ป้อนความเกลียดชังคนไทยเชื้อสายจีนให้แก่เลือดเนื้อเชื้อไข ทุกครั้งที่เธอได้ยินพ่อลูกร่วมกันด่าว่าคนไทยเชื้อสายจีน เจ๊กอย่างโน้น เจ๊กอย่างนี้ เธอได้แต่ขอให้เป็นลมปากที่วนเวียนอยู่ในบ้าน ไม่ไหลออกไปเข้าหูคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ไม่ว่าจะร้านแก๊สที่อยู่ใกล้ ร้านทองรูปพรรณฝั่งตรงข้าม หรือแม้แต่รถเข็นขายขนมจีบซาลาเปาที่ผ่านหน้าบ้านบ่อยๆ
บัวทองเห็นว่าเมื่ออยู่ด้วยกันก็ควรคิดต่อกันดีๆ พูดคุยกันดีๆ จึงจะอยู่อย่างสงบสุข
ทุกวันนี้เธอจึงหลับไม่เต็มตา กังวลว่าผลจากการกระทำของสามีจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเลวร้ายเพียงใด
เธอรู้สึกได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อขายข้าวแกงได้พักหนึ่งแล้วมีเงินเก็บพอซื้อทองหนึ่งบาท เธอก้าวเข้าไปในร้านขายทองรูปพรรณฝั่งตรงข้ามบ้านซึ่งเป็นร้านเดียวในอำเภอ แม้เจ้าของร้านต้อนรับเธออย่างมืออาชีพ กล่าวด้วยน้ำเสียงสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่บัวทองรู้สึกว่าเขาทำอย่างไม่เต็มใจ
“อ้าวแม่บัว วันนี้มาซื้อทองหรือ” เจ้าของร้านอายุมากกว่าเธอไม่กี่ปี แต่ดูแก่กว่าเป็นสิบปีเพราะพุงหลาม หัวล้านเกือบครึ่ง แถมใส่แว่นหนาเตอะ เขากล่าวแล้วยิ้มอย่างที่ใครๆก็รู้สึกว่าทำอย่างเสียไม่ได้
“ใช่จ๊ะ”
“เอาข้อมือหรือสร้อยคอดีล่ะ”
“สร้อยคอจ๊ะ”
“หนักเท่าไร”
“ขอดูแบบก่อนนะเฮีย แต่อยากได้สักหนึ่งบาท”
“งั้นมาดูตรงนี้เลย”
บัวทองเดินตามเจ้าของร้านไปหยุดยืนหน้าตู้ที่อยู่ตรงกลาง เธอเงยหน้ามองสร้อยคอที่แขวนอยู่เพียงปราดเดียวก็เห็นเส้นที่ถูกใจจึงชี้ เฮียเจ้าของร้านหยิบออกมาแล้วยื่นให้
“เส้นนี้เหรอ ค่ากำเหน็จแพงกว่าเส้นอื่นนะ”
“อ้าว ทำไมล่ะ”
“แบบนี้ทำยาก ลื้อดูสิ ทองบาทเดียวแต่ตีโปร่งได้เส้นใหญ่ขนาดนี้”
“ก็จริงแหละ” บัวทองพยักหน้าก่อนกล่าวต่อ “แต่ฉันชอบที่มันดูเรียบๆ ไม่ได้ชอบเพราะดูใหญ่”
เจ้าของร้านหัวเราะเบาๆ บัวทองรู้สึกแปร่งหู ฟังเหมือนหัวเราะเยาะ
“ใช่ ความยากมันอยู่ตรงนี้แหละ ทำให้ดูเรียบๆ”
“เฮียคิดค่ากำเหน็จเท่าไรล่ะ”
เจ้าของร้านบอกทันที บัวทองถึงกับตาโต “ตายละ ทำไมแพงอย่างนี้ละเฮีย”
“ก็บอกแล้วว่าแบบนี้ทำยาก”
“ลดให้หน่อยนะเฮีย ไหนๆก็คนตลาดเดียวกัน” บัวทองกล่าวไปตามความรู้สึก ร้านข้าวราดแกงของเธอกับร้านทองของอาเฮียแม้อยู่ตรงข้ามกัน มีถนนใหญ่กั้น แต่ก็จัดว่าอยู่ในละแวกเดียวกันคือตลาดประจำอำเภอ
ราวกับเสือโคร่งที่หิวโหยซุ่มรอเหยื่อ เมื่อเห็นกวางน้อยเดินผ่านเข้ามาจึงกระโดดออกไปขย้ำก้านคอเต็มแรง เฮียเจ้าของร้านทองเปลี่ยนน้ำเสียงที่นุ่มนวลอ่อนหวานเป็นแข็งกร้าว
“แล้วมันไปเกี่ยวกับค่ากำเหน็จตรงไหนล่ะ อั๊วไปกินข้าวแกงร้านลื้อแล้วจ่ายเงินครึ่งเดียวลื้อยอมไหมล่ะ”
บัวทองจับน้ำเสียงได้ว่ามันเต็มไปด้วยความไม่พอใจ หงุดหงิด และเกลียดชัง แน่นอนว่าถึงตอนนี้บัวทองรู้แล้วว่าร้านนี้ไม่ต้อนรับเธอ ต่อให้เธอมีเงินซื้อทองหมดร้านเขาก็ไม่ยอมลดราคาให้แม้แต่บาทเดียว อีกทั้งไม่ใช่นิสัยเธอที่จะต่อปากต่อคำแบบคนไม่ยอมคน
เธอจึงยื่นสร้อยทองคืนพร้อมกล่าว “งั้นฉันดูไว้ก่อนแล้วกัน”
คืนนั้น หลังตอบคำถามสามีเรื่องซื้อทองว่าไม่มีแบบที่ถูกใจ บัวทองเข้านอนด้วยคำถามว่าเฮียเจ้าของร้านทองไม่เป็นมิตรกับเธอด้วยเหตุใด น้ำเสียงของเขาราวกับเธอเคยทำให้เขาเจ็บแค้นใจ บัวทองนึกไปมาอยู่ไม่นานก็หาคำตอบได้
สามีของเธอนั่นเอง
ในเมื่อเธอไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าของร้านทอง เรื่องเดียวที่เป็นไปได้คือความเกลียดชังคนไทยเชื้อสายจีนของสามี ซึ่งเป็นความเกลียดชังที่ไม่เคยเก็บงำ พร้อมแสดงออกทุกที่ ทุกเวลา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
นึกได้แค่นี้เธอก็นึกต่อได้อีกว่าเธอเคยถูกเจ้าของร้านคนไทยเชื้อสายจีนปฏิบัติกับเธอเช่นนี้ ไม่ว่าจะหมอตี๋ที่ร้านขายยา เถ้าแก่โรงรับจำนำ อาเฮียที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล พวกเขาเหล่านั้นมีท่าทางแบบเดียวกับเจ้าของร้านทองคือไม่เป็นมิตร เพียงแต่ตอนนั้นเธอไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ เพราะไม่ชัดเจนเหมือนที่เจ้าของร้านทองแสดงออก
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บัวทองจึงเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับพวกเขา คนไทยเชื้อสายจีนผู้เป็นเพื่อนร่วมอำเภอ ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เธอจึงชวนลูกชายไปซื้อทองที่อำเภออื่น ต่อจากนั้น ไม่ว่าจะซื้อยาหรือซื้ออะไรก็ตาม เธอพยายามเลือกร้านที่เจ้าของเป็นคนไทยแท้ เธอทำเช่นนี้โดยปราศจากความจงเกลียดจงชังคนไทยเชื้อสายจีน แต่เป็นพฤติกรรมของคนที่รักสงบเป็นอย่างยิ่ง เรื่องไหนไม่สบายใจเลี่ยงได้ก็เลี่ยงอย่างสุดความสามารถ
ซึ่งตรงกันข้ามกับสามี
“ไม่มีอะไรหรอกเธอ กำลังด่าเจ๊กกันอยู่”
ไกรสมตอบห้วนๆอย่างขอไปที แม้มีอายุมากกว่าภรรยาไม่กี่ปี แต่เขาทำตัวราวกับเป็นบิดาของคู่ชีวิต หากเขาวิเคราะห์ได้ก็จะรู้ว่าเกิดจากความหงุดหงิดที่รู้สึกว่ามีเมียเป็นคนธรรมะธัมโม ระวังโน่นกลัวนี่ไปสารพัด ไม่โผงผางกล้าได้กล้าเสียเหมือนเขา หนำซ้ำยังทำท่าจะสอนลูกชายให้เป็นแบบตน ซึ่งไกรสมยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด มีลูกชายท่าทางจืดๆขี้กลัวคนแบบไอ้ตี๋อีหมวยทั้งหลายน่ะหรือ เขายอมไม่ได้ เขาจึงเริ่มเผด็จการเรื่องอบรมสั่งสอนบุตรตั้งแต่ภูมิชัยมีอายุเพียงแปดขวบ
“เธออย่าเลี้ยงลูกแบบไอ้พวกเจ๊กได้ไหม เด็กมันอยากวิ่งเล่นก็ปล่อยมันไป”
เวลานั้น ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ไกรสมกล่าวเสียงเข้มกับบัวทองเมื่อเห็นลูกชายนั่งหน้าบูดอยู่ที่โต๊ะ มีสมุดหนังสือกางอยู่ตรงหน้า เมื่อรู้ว่าภรรยาบังคับลูกชายให้ทำการบ้านเสร็จก่อนออกไปวิ่งเล่น ไกรสมก็ไม่พอใจ ด้วยเห็นว่าเป็นวิธีเลี้ยงลูกแบบคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งตรงกันข้ามกับนิสัยทำตามใจคือไทยแท้ ที่มีอยู่ในเลือดของเขาอย่างเข้มข้นกว่าคนไทยทั่วไป
บัวทองทำได้เพียงเม้มปาก ไกรสมเองรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องเท่าไรนัก จึงกล่าวต่อ “ตะวันยังไม่ตกดินเลย ให้มันไปวิ่งเล่นก่อน การบ้านทำตอนค่ำก็ได้ ไม่งั้นเขาจะมีไฟฟ้าไว้ทำไม”
กล่าวแล้วไกรสมพยักหน้าให้ลูกชาย เด็กชายภูมิชัยก็กระโดดลงจากเก้าอี้แล้ววิ่งออกจากบ้านไปหาเพื่อนๆอย่างรวดเร็ว
ฟังคำตอบเดิมๆของสามีที่ฟังมาหลายสิบปีแล้วบัวทองได้เก็บความไม่สบายใจไว้ภายใน ลากเก้าอี้ออกมานั่งลงแล้วกล่าวกับลูกชาย “ไปซื้อของให้แม่หน่อย”
เธอกล่าวพลางมองลูกชายที่กำลังล้วงหยิบ “สมาร์ทโฟน” ออกมาเพื่อบันทึกรายการของที่สั่งซื้อ
“เพิ่มหรือลดอะไรบ้างละแม่” ภูมิชัยลากนิ้วบนหน้าจอโทรศัพท์สองครั้งก็ถามมารดาเสียงใส
“เมื่อวานมีอะไรบ้างอ่านให้แม่ฟังหน่อยสิ”
ภูมิชัยอ่านทันที “เนื้อวัว เนื้อหมู หมูสามชั้น เนื้อไก่ พริกแกงเขียวหวาน พริกแกงไก่ พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว กะเพรา คะน้า หน่อไม้ มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือพวง ...”
ภูมิชัยอ่านไม่ทันจบบัวทองก็กล่าว
“วันนี้ไม่เอาหน่อไม้ดีกว่า แกงไก่เหลือเกือบครึ่งหม้อ ซื้อเนื้อวัวเพิ่มหนึ่งโลดีกว่า เมื่อเช้าลูกค้าประจำบอกอยากกินพะแนง”
ภูมิชัยพยักหน้าก่อนลากนิ้วไปมาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อเปลี่ยนตามที่มารดาบอก
“ซื้อไข่เป็ดมายี่สิบฟองด้วยนะลูก แม่จะทำไข่ลูกเขย” บัวทองกล่าวต่อ
“ครับ” ภูมิชัยกล่าวแล้วทำเช่นเดิม
“พ่ออยากกินอะไรล่ะ” บัวทองหันไปถามสามี เป็นวิธีง่ายที่สุดที่เธอใช้เมื่อคิดไม่ออกว่าจะทำกับข้าวอะไรขายให้ลูกค้า
“ลาบหรือน้ำตกก็ได้” ไกรสมตอบไปกลืนน้ำลายไปเมื่อนึกถึงรสชาติอาหารฝีมือภรรยา
“งั้นซื้อเนื้อติดมันเพิ่มอีกโล แล้วก็หอมแดง ข้าวคั่ว”
“ข้าวคั่วไม่ต้องซื้อ ทำเองหอมกว่า” ไกรสมกล่าวห้วนๆ
ภูมิชัยมองหน้ามารดา แววตาเขาแสดงความรู้ใจก่อนกล่าว “ข้าวคั่วผมทำเองแม่ ทั้งคั่วทั้งตำ รับรองละเอียดเป็นแป้ง”
บัวทองพยักหน้า “แล้วลูกล่ะ อยากกินอะไร”
“เต้าหู้ทรงเครื่องครับ” ภูมิชัยตอบทันที
ไกรสมถอนใจดังเฮือกก่อนกล่าว “กับข้าวเจ๊ก”
บัวทองทำหูทวนลม กล่าวกับลูกชายด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน “อยากกินก็เอาสิ ซื้อเต้าหู้ร้านเดิมนะ เอามาสักสิบสองลูก”
“ครับ” ภูมิชัยกล่าวอย่างยินดีที่จะได้กินของโปรดฝีมือแม่ เต้าหู้สีเหลืองเนื้อหนานุ่มราดด้วยหมูสับผัดกับหอมใหญ่และถั่วลันเตารสชาติกลมกล่อมถนอมลิ้น ช่วยทำให้แกงที่เผ็ดแสนเผ็ดของมารดาอร่อยขึ้นเยอะ
ไกรสมส่ายหน้าก่อนหยิบหนังสือพิมพ์แล้วลุกเดินออกไปนั่งอ่านที่โต๊ะตัวหน้าสุดของร้าน ไม่พอใจที่ภรรยาทำ “กับข้าวเจ๊ก” ขาย แต่ก็ไม่อยากห้ามเพราะลูกชายชอบ