กระเช้าไฟฟ้า, ทางออกของเจ้าพระยาและภูกระดึง
ดร.โสภณ พาชมโครงการกระเช้าไฟฟ้าที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ทั่วโลกสร้างกันโดยไม่ "ดรามา" กลัวเรื่องสิ่งแวดล้อมใด ๆ เพราะไม่มีผลกระทบ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) แถลงถึงโครงการกระเช้าไฟฟ้าที่นครซัปโปโร ฮอกไกโด และกระเช้า the Emirates Air Line กรุงลอนดอน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยว ใช้แทนการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้สร้างขึ้นท่องเที่ยวภูกระดึงได้ด้วย
ที่นครซัปโปโร บนเกาะฮอกไกโด มีภูเขาโมอิวา ซึ่งเป็นสถานที่ทัศนาจรสำคัญโดยใช้กระเช้าไฟฟ้าขึ้นเขา ที่แม่น้ำเทมส์ ก็มีกระเช้า Emirates ที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับภูกระดึงและกระเช้าแม่น้ำเจ้าพระยาแทนการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เรามาลองศึกษาแบบอย่างโครงการแห่งนี้กันนะครับ
ภูเขาโมอิวา (Mount Moiwa) เป็นภูเขาลูกหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับนครซัปโปโร ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวจะขึ้นภูเขาแห่งนี้เพื่อชมวิวของนครซึ่งจะแลดูสวยงามยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน วิธี การขึ้นเขาก็คือการโดยสาร the Mount Moiwa Ropeway ซึ่งเป็นกระเช้าขนาดใหญ่ขึ้นบนภูเขาเป็นระยะทางราวสามในสี่ จากนั้นก็ขึ้น mini cablecar ไปจนถึงยอดเขาเพื่อชมวิวโดยบนยอดเขายังมีร้านอาหาร สวนสนุก และกิจกรรมการค้าอื่นๆรวมทั้งที่เล่นสกีอีกด้วย
กระเช้านี้ตั้งอยู่ที่ Fushimi 5-chome 3-7, Chuo-ku, นครซัปโปโร สำหรับค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 1,200 เยน หรือเป็นเงินไทยประมาณ 370 บาท สำหรับเด็กครึ่งราคา ซึ่งนับว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมักมีผู้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าการทำกระเช้าในกรณีนี้น่าจะคุ้มทุนเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นภาระแก่สังคม ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานที่ต้องแบกรับแต่อย่างใด การมีความเป็นอิสระทางการเงินจึงถือเป็นความยั่งยืนประการสำคัญหนึ่ง
สำหรับรายละเอียดของกระเช้าไฟฟ้านี้ก็คือเป็นกระเช้าที่ไปกลับ 2 ทาง โดยมีระยะทางโดยรวมประมาณ 1.2 กิโลเมตร กระเช้านี้สร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2501 และปิดปรับปรุงในปี 2553 มาเปิดใช้อีกครั้งในปี 2555 คาดว่ายังมีอายุไขทางเศรษฐกิจไปอีกหลายสิบปี ยังความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการศึกษาธรรมชาติรวมทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งผู้สูงวัย คนพิการ คนป่วย เด็กเล็ก รวมทั้งผู้ที่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเดินขึ้นเขาเอง สามารถขึ้นเขาพื่อชื่นชมธรรมชาติได้อย่างสะดวก
ท่านเชื่อหรือไม่กระเช้าไฟฟ้านี้สามารถจุคนขึ้นได้ถึง 66 คนต่อเที่ยวบางท่านบอกจุคนได้นับ 100 คน ไม่ใช่กระเช้าเล็กๆแบบงานวัดหรือกระเช้าลังกาวีที่อาจจุคนได้ราว 8-10 คน ผลการใช้กระเช้าแห่งนี้ก็เป็นที่พอใจเป็นอย่างยิ่งเพราะแทบไม่มีอุบัติเหตุใดๆ ยังความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง หากคนไทยกันเองไม่เชื่อถือคนไทยด้วยกัน ในการบริหารกระเช้า ก็น่าจะนำเข้าคนคุมกระเช้าจากญี่ปุ่นมาดำเนินการ อิอิ)
จากการสังเกตการณ์ของนักผังเมืองและผู้เชี่ยวชาญของไทยเองก็ยังประทับใจและชื่นชมในความพยายามอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติของนครแห่งนี้ ทั้งนี้เพราะการสร้างกระเช้าแบบนี้สามารถข้ามผ่านป่าเขาโดยไม่รบกวนธรรมชาติและยังช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอีกด้วย บนภูเขาแห่งนี้ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติอีกสามเส้นทางทั้งระยะใกล้และไกลให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละท่านอีกด้วย
สำหรับกระเช้า the Emirates Air Line (Cablecar) (http://bit.ly/1N77JYJ) ข้ามแม่น้ำเทมส์ เปิดตัวในวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ดำเนินการโดยทางการขนส่งลอนดอน แต่ดูเหมือนจะใช้สำหรับนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำงานท้องถิ่นใช้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเทมส์เหมือนกัน ด้วยความสูงประมาณ 100 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงลอนดอนได้หลายมุมมอง ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ระยะเวลาในการเดินทางคือ 10 นาที หรือไปกลับประมาณ 20 นาที
งบประมาณในการก่อสร้างคือ 60 ล้านปอนด์หรือ (3,000 ล้านบาท) โดยการนี้ 60% ของงบประมาณมาจากการสนับสนุนของสายการบิน Emirates ทำให้ต้นทุนลดลง โดยสายการบินนี้ได้สิทธิในการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการบินของสายการบินนี้เป็นเวลา 10 ปี สำหรับความยาวของกระเช้าไฟฟ้านี้ มีระยะทางประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีเสาสูงปักเพื่อการทำกระเช้า 3 เสา สามารถมีผู้โดยสารประมาณ 2,500 คนต่อชั่วโมง รถเข็นคนพิการและจักรยานก็สามารถขึ้นกระเช้าที่จุคนได้ 8 คนได้
สำหรับค่าโดยสารก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ประมาณ 4.4 ปอนด์ แต่หากเดินทางบ่อย ๆ ก็มีส่วนลด สำหรับนักท่องเที่ยว เช่นที่ผมลองใช้บริการดู ยังมีพ่วงกับการชมนิทรรศการ ไปกลับเป็น 9 ปอนด์ เป็นต้น ทั้งนี้มีคนเดินทางท่องเที่ยวด้วยกระเช้าไฟฟ้านี้นับล้านๆ คนแล้ว ตอนสร้างก็มีการโจมตีจากพวกเอ็นจีโอไปต่าง ๆ นานา แต่รัฐบาลอังกฤษเข้มแข็ง ไม่ได้เชื่อตามความกลัวที่พวกเอ็นจีโอ สร้างภาพไว้ จนสามารถสร้างสำเร็จได้
โครงการกระเช้าทั้งสองแห่งนี้จึงน่าจะนำมาปรับใช้ในกรณีประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ
1. กระเช้าขึ้นภูกระดึงเพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้มีโอกาสขึ้นเขาสูตรอากาศบริสุทธิ์แล้วกลับลงมาในเวลาไม่ช้าไม่นานก็ยังดี ผมเคยไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านภูกระดึงแทบทั้งหมด เห็นด้วยกับการสั้นกระเช้านี้จริงๆ เราจึงควรเชื่อมั่นในภูมิปัญญาชาวบ้าน
2. กระเช้าล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อ ทดแทนการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเชื่อว่าจะเป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปมากกว่าถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเสียอีก
ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมุ่งจะสร้างเพื่อนนักท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจแต่จากสถิติของสวนลุมพินีมีผู้ใช้บริการเพียง 8,500 คนต่อวัน การสร้างถนนมูลค่า 14,000 ล้านบาทนี้คงมีผู้มาใช้บริการไม่เกิน 3,500 คนเท่านั้น นับว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นอย่างยิ่ง และถ้าจะสร้างจริงก็ควรสร้างด้วยงบประมาณที่เก็บจากชาวกรุงเทพมหานครมากกว่าใช้งบประมาณแผ่นดินคนของทั้งประเทศเพราะถนนกึ่งสวนสาธารณะเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ
รัฐบาลพึงสร้างสิ่งดี ๆ เช่น กระเช้าไฟฟ้า เพื่อลูกหลานจะดีกว่าไปสร้างพิพิธภัณฑ์ ระลึกอดึต
ทัศนียภาพนครซัปโปโรจากภูเขาโมอิวาที่ขึ้นโดยกระเช้าไฟฟ้าขนาดใหญ่
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1551.htm